STOU Storian Podcast EP.4 น้อมรำลึกวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งระบอบประชาธิปไตย หลังจากที่พระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้กับสยามประเทศแล้ว ทรงเสด็จประพาสยุโรป และมิได้เสด็จฯ กลับมาประเทศไทยอีกเลย จวบจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2484

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณอุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในวันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณอุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษกของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับพระราชทานชื่อ ซึ่งนำมาจากพระนามเดิมของพระองค์ เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”

.

บั้นปลายพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ กบฏบวรเดช ขึ้นเมื่อวันที่ 11 เดือนตุลาคม พ.ศ.2476 เป็นวันที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์นองเลือด เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา กับฝ่ายกองกำลังทหาร นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช บ้านเมืองในตอนนั้นเกิดความวุ่นวายเป็นอย่างมาก ซึ่งการสู้รบกันของทั้งสองฝ่ายทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตกอยู่ในภาวะที่คับขัน เพราะต้องทรงเป็น “คนกลาง” ในการเจรจาสงบศึก แต่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมตกลงที่จะเจรจาด้วยดี สุดท้ายเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ถึงจุดสิ้นสุดลง เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้ทำการปราบปรามกบฏสำเร็จ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2476

เหตุการณ์บ้านเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกิดความเคร่งเครียด อีกทั้งพระพลานามัยที่มิค่อยแข็งแรง ทรงประชวรด้วยพระโรคต้อกระจกในพระเนตรซ้าย หากไม่รีบรักษาก็อาจจะทำให้พระเนตรบอดลงได้ ดังนั้นในวันที่ 12 เดือนมกราคม พ.ศ.2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงได้เสด็จฯ ทวีปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด เพื่อทรงรับการรักษาพระเนตร และยังได้เสด็จฯ เพื่อทรงเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศอีกด้วย จึงเป็นการเสด็จฯ แบบเป็นทางการ และการเสด็จฯ ส่วนพระองค์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงได้เสด็จฯ ทวีปยุโรป
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงได้เสด็จฯ ทวีปยุโรป

แต่หลังจากนั้นก็มิได้เสด็จกลับมาประเทศไทยอีกเลย ด้วยเหตุจากข้อขัดแย้งกันทางการเมืองการปกครองจนไม่อาจที่จะประนีประนอมกันได้ระหว่างพระองค์กับบุคคลในคณะรัฐบาล ทั้งที่พระองค์ได้ทรงติดต่อเจรจามาหลายครั้งแล้วแต่ก็ไร้ผล ทำให้ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ขณะประทับ ณ พระตำหนักโนล ประเทศอังกฤษ 

หลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ยังคงประทับที่พระตำหนักโนล ส่วนข้าราชบริพารในพระองค์ที่ตามเสด็จฯ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้กลับประเทศไทย เพราะหมดหน้าที่แล้ว บรรยากาศของการกราบถวายบังคมลา มีทั้งความตื้นตันใจและเศร้าสลด น้ำตาของข้าราชบริพารทุกคนไหลอาบหน้า เพราะนั่นคือการลาจากกันเป็นครั้งสุดท้าย ที่จะได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์ท่าน เหลือเพียงพระประยูรญาติ และข้าราชบริพารดั้งเดิมในพระองค์จำนวนไม่มากที่อยู่ถวายงานต่อ 

แต่ด้วยพระตำหนักโนล มีลักษณะทึบ ไม่เหมาะกับพระพลานามัยของพระองค์ จึงทรงย้ายไปประทับที่ ตำหนักแห่งใหม่ที่พระองค์ตั้งชื่อว่า เกล็นเพ็มเมินต์ (Glen Pammant) ตั้งอยู่บนเนินเขา ในช่วงเวลานี้พระองค์ทรงใช้เวลาว่างด้วยการอ่านหนังสือ และทรงศึกษาภาษาเยอรมัน ภาษาอิตาเลี่ยน บางครั้งก็ทรงขับเครื่องบินแบบ “ออร์โตไจโร” ซึ่งเป็นเครื่องบินต้นกำเนิดของเฮลิคอปเตอร์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2480 ทรงย้ายไปประทับที่ พระตำหนักเวนคอร์ท อยู่ที่มณฑลเคนท์ ซึ่งเป็นชนบทเล็กๆ ที่ใกล้ทะเล เพราะสภาพอากาศที่ดี

พ.ศ.2482 สถานการณ์สงครามในยุโรปเริ่มตึงเครียด เมือง KENT ซึ่งอยู่ใกล้ทะเล มีเครื่องบินเยอรมันบินผ่านบ่อยเพื่อไปทิ้งระเบิดที่ลอนดอน ในช่วงเวลานี้พระพลานามัยของพระองค์ก็กำเริบขึ้น ทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยพิการอยู่แล้ว ทรงรู้สึกว่าถูกรบกวน จึงทรงแปรพระราชฐานไปยังเมืองอื่น ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากลอนดอนมากนัก หลังจากนั้นก็เสด็จฯ ไปประทับที่ พระตำหนักคอมพ์ตัน ซึ่งอยู่ทางเหนือของมณฑลเซอร์เรย์ เพื่อจะได้อยู่ใกล้หมอ การดำรงพระชนม์ชีพในภาวะที่เกิดสงครามมีความยากลำบาก อาหารการกินเริ่มฝืดเคือง ทรงประชวรหนักขึ้น และเสวยพระกระยาหารไม่ได้เท่าที่ควร ถึงแม้จะทรงประชวรแต่ก็ยังโปรดหนังสืออยู่ตลอดเวลา ทรงอ่านหนังสือวันละหลายๆ ชั่วโมง   

พระตำหนักคอมพ์ตัน

เช้าตรู่ของวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตื่นบรรทม และทรงรู้สึกพระสำราญขึ้นกว่าวันก่อนๆ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงขอเสด็จไปพระตำหนักเวนคอร์ท ซึ่งพระองค์ก็ทรงอนุญาต ในระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จทอดพระเนตรดอกไม้ ทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถพอสมควรแล้วก็เสด็จกลับไปยังพระแท่นบรรทม และโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าพระอาการประชวรนั้นได้เริ่มปรากฎออกมาอย่างฉับพลันและรวดเร็ว ทำให้พระองค์เสด็จสวรรคตลงอย่างสงบ ด้วยโรคพระหทัยโดยที่ไม่มีผู้ใดได้เห็นพระราชหฤทัยเป็นครั้งสุดท้ายเลย  

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดพิธีอย่างเรียบง่าย พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในชุดฉลองพระองค์ด้วยพระภูษาโจงกระเบนสีแดง ทรงเสื้อชั้นนอกคอปิดสีขาว ถูกอัญเชิญลงสู่หีบไม้ตามแบบของยุโรป การถวายพระเพลิงพระบรมศพมีขึ้น ณ สุสาน Golders green ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอนในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2484 ในพระราชพิธีได้มีการกล่าวคำถวายพระราชสดุดีและการบรรเลงไวโอลินคอนแชร์โตของเมนเดิลโซน ซึ่งเป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรด 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จนิวัติสู่สยามประเทศ

ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จนิวัติสู่สยามประเทศตามคำกราบบังคมทูลของคณะรัฐบาล โดยให้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกจากท่าเรือเมืองเซาแธมตัน โดยรัฐบาลอังกฤษตั้งกองเกียรติยศส่งเสด็จ และเมื่อถึงประเทศไทย ได้มีการอัญเชิญพระบรมอัฐิโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ จากท่าราชวรดิฐ เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานร่วมกับพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคาร ประดิษฐาน ณ พระราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ที่โปรดการอ่าน ทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ภายหลังที่สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้จัดตั้งห้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อปี พ.ศ.2538 คุณหญิงมณี สิริวรสาร ซึ่งเป็นผู้ได้รับมรดกส่วนหนึ่ง จึงได้มอบหนังสือส่วนพระองค์ จำนวน 1,700 กว่าเล่ม ซึ่งหนังสือส่วนพระองค์เหล่านี้ได้มีการจัดเก็บอนุรักษ์และเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์ที่ คลังสารสนเทศดิจิทัล พระปกเกล้าศึกษา เว็บไซต์ห้องสมุด มสธ.

เอกสารอ้างอิง

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์. (2544). พระปกเกล้าฯ กษัตริย์นักประชาธิปไตย. ม.ป.ท.

นายหนหวย. (2530). เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). ป. สัมพันธ์พาณิชย์.

ศิริน โรจนสโรช. (2557). พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ใน วรนุช สุนทรวินิต,
ศิริน โรจนสโรช, จุฑารัตน์ นกแก้ว, ยวิญฐากรณ์ ทองแขก, วราภรณ์ ยงบรรทม และ กวิสรา เรือนทองใบ (บ.ก.), 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. (พิมพ์ครั้งที่ 2, น. 3-41). อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์. (2558). สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2: ปราบกบฏ พ.ศ. 2476. บริษัทพิมพ์ดี จำกัด.

สำนักราชเลขาธิการ. (2528). ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7.
โรงพิมพ์กรุงเทพ(1984).