บรรณสารฯ ติดเล่า SS2 EP.3 Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย มาแล้วค่ะ ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย บางวันร้อน บางวันร้อนมาก และบางวันฝนตก ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย ห้องสมุด มสธ. ขอแนะนำวิธีรับมือกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ดังนี้ 1) โรคที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน 2) จุดกำเนิดของเชื้อโรคต่าง ๆ
3) ฝุ่น PM2.5 และ 4) ต้นไม้ที่ช่วยลดฝุ่น
เพื่อป้องกันโรคและภัยสุขภาพ จากหนังสือที่มีให้บริการที่ห้องสมุด มสธ. ดังนี้
เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้ความเป็นมาเป็นไปของโรค โดยกล่าวถึงระบบนิเวศในร่างกายที่ประกอบไปด้วยแบคทีเรียที่หลากหลายสายพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเรา ประกอบไปด้วย 5 ตอน
ตอนที่ 1 ระบบนิเวศ
ตอนที่ 2 เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ
ตอนที่ 3 แบคทีเรียในลำไส้กับความอ้วน
ตอนที่ 4 เมื่อสมองคุยกับลำไส้
ตอนที่ 5 รักษาโรคด้วยอุจจาระ
ประเด็นสำคัญที่พลาดไม่ได้เลย คือ การกำเนิดขึ้นของโรคภูมิแพ้ เนื่องจากข้อสงสัยที่ว่า ทำไมโรคภูมิแพ้ที่พึ่งถูกค้นพบ เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน ส่วนมากจะเกิดกับคนรวยเท่านั้น อีกทั้งยังมีปริมาณผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน คำตอบที่น่าตกใจ คือ อาจเป็นเพราะว่า “เราสะอาดกันเกินไป” จนทำให้ช่วงแรกที่ทารกเกิดขึ้นมา ในขณะที่ระบบนิเวศในร่างกายกำลังสร้างตัวอยู่ ไม่ได้มีแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรคเข้าไปอาศัยอยู่หรือมีน้อยเกินไป อีกทั้งระบบเหล่านั้นไม่รู้จักกับแบคทีเรียต่าง ๆ ที่ไม่ก่อโรคในสิ่งแวดล้อม เมื่อโตขึ้นจนระบบนิเวศในร่างกายทำงานเต็มที่แต่กลับเกิดปัญหาคือ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานตอบสนองผิดปกติ ไม่ใช่แบบที่ควรจะเป็น เด็กที่ไปเล่นสกปรกนอกบ้าน หรือเด็กที่อยู่ในบ้านที่เลี้ยงหมากลับกลายเป็นมีโอกาสเป็นภูมิแพ้น้อยกว่าเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด โรคภูมิแพ้จึงเป็นหนึ่งในโรคยอดนิยมที่เป็นมากกันทั่วโลก ดังนั้นในฤดูร้อนนี้ไม่ว่าจะเผชิญกับโรคภัยอะไร สิ่งที่ควรทำ คือ 1) การเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม ใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ และดื่มน้ำที่สะอาด 2) การออกกำลังกาย เป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง 3) พักผ่อนให้เพียงพอ และ 4) การรักษาความสะอาด
ต้นไม้ลดฝุ่น PM2.5
นอกจากโรคจากอาหารการกินแล้ว ปัญหามลภาวะทางอากาศก็เป็นภัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราเช่นกัน เช่น เขม่าควัน ไอเสียจากรถยนต์และรถบรรทุก โรงงานอุตสาหกรรม หรือ ฝุ่น PM2.5 ล้วนเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ โดยผลกระทบระยะสั้นคือ อาจเกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา จมูก คอ ทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการแสบตา ไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย และผลระยะยาว อาจทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สมรรถภาพปอดลดลง และโรคมะเร็งปอด และจากปัญหาต่าง ๆ นี้เอง จึงทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป การปลูกต้นไม้เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถลดปัญหาการเกิดฝุ่นละอองและมลพิษที่เหมาะสมเพื่อช่วยกรองอากาศ โดยการปลูกแบบผสมผสานกันด้วยพรรณไม้ที่หลากหลาย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองได้ดียิ่งขึ้น ภายในเล่ม ประกอบด้วย 4 บท ดังนี้
บทที่ 1 ฝุ่น PM2.5
บทที่ 2 ต้นไม้ลดฝุ่น PM2.5 ได้อย่างไร
บทที่ 3 พื้นที่และรูปแบบการปลูก
บทที่ 4 ต้นไม้ลดฝุ่น ฝุ่น PM2.5 คืออะไร ?
PM ที่มักจะเรียกกันจนติดปาก ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกของอนุภาคขนาดเล็กที่แขวนลอยอยู่ในอาคารรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฝุ่น แบ่งตามขนาดเป็น 2 ส่วน คือ ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฝุ่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรานั้นเกิดจากท่อไอเสียรถยนต์ การเผาป่า เผาหญ้า ซึ่งคือแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ นอกจากยังมีในเรื่อง ขยะมูลฝอย มูลสัตว์ ถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม และ เกิดจากการก่อสร้างต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมประจำวันของมนุษย์ เช่น สูบบุหรี่ ปรุงอาหาร และจุดไฟในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย เมื่อฝุ่น PM2.5 มีอนุภาคขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าไปในร่างกายทั้งทาง ตา จมูก คอ และสู่ปอด บางส่วนสามารถเล็ดลอดผ่านเข้าเส้นเลือดฝอยและอยู่ในกระแสเลือด กระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ รบกวนสมดุลต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับคนที่มีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด
พลูด่าง เติบโตได้ดีในที่มีแสงแดดรำไร และความชื้นสูง ทนต่อมลพิษได้ดี
ทองหลางลาย ทนแล้งและมลพิษได้ดี แต่ไม่ทนน้ำท่วม
อ้างอิง
ชัชพล เกียรติขจรธาดา. (2563). เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ: สุขภาพดีด้วยการดูแลระบบนิเวศในร่างกาย. กรุงเทพฯ : CHATCHAPOL BOOK.
ราชันย์ ภู่มา, ปิยชาติ ไตรสารศรี, จิรพรรณ โสภี, นัยนา เทศนา, มานพ ผู้พัฒน์, และโสมนัสสา ธนิกกูล. (2563). ต้นไม้ลดฝุ่น PM2.5. กรุงเทพฯ : สำนักวิจัยอนุรักษ์ป่าไม้และพันธ์ุพืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช.
ผู้เขียนบทความ ภัทรศยา สนองผัน
บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช