สังคมและวัฒนธรรมแบบเดิมมักให้คุณค่ากับคนที่มีความสามารถในการพูด เน้นผู้พูด เน้นที่พูดเก่งมีความสามารถในการอภิปรายโน้มน้าวใจผู้ฟัง ส่งผลทำให้โลกของเรามีคำสอนคำโน้มน้าวใจมาก จนบางครั้งคนเราจะคิดถึงแต่สิ่งที่ตนเองกำลังจะพูด มากกว่าการฟังสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ดังนั้น การฟังอย่างลึกซึ้งจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากในการสื่อสาร ที่มีแต่การพูดการสั่งการบอกว่าอยากได้อะไร แต่ไม่เคยฟังสิ่งที่คนตรงหน้าของเราบอกว่าอยากได้ ดังนั้นความสำคัญของการฟังจึงมีผลต่อการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน ภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่งการฟังคือคุณสมบัติของผู้นำที่ดี ต้องอาศัยการฟังที่สามารถรับรู้ เข้าใจ จับประเด็นและแปลความหมาย ใช้ในการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคัมภีร์ที่จะช่วยให้ผู้อ่านรู้ระดับความสามารถของการฟังตนเองว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งแบ่งระดับการฟังเป็น 6 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 ไม่สนใจฟัง เป็นการฟังที่ไม่มีความสนใจในเนื้อหาใดๆ
ระดับที่ 2 แกล้งฟัง คือทำกิริยาท่าทางเหมือนฟังมีการตอบรับ แต่ไม่สามารถจับประเด็นลึกซึ้งได้ทั้งหมด
ระดับที่ 3 เลือกฟัง คือการฟังเฉพาะในสิ่งที่สนใจเรื่องที่ตนเองคิดว่ามีประโยชน์สามารถนำไปใช้งานได้
ระดับที่ 4 ตั้งใจฟัง คือการฟังที่ดีขึ้นมาอย่างมากรับรู้รับฟังเรื่องราวเนื้อหาของผู้พูด มีการตอบสนองด้วยคำพูด
แต่ไม่เข้าใจจุดความต้องการที่อยู่ข้างในลึกๆ ของผู้พูด เพราะไม่ได้ใช้ใจฟัง
ระดับที่ 5 ฟังแบบเข้าอกเข้าใจและใส่ใจ คือการฟังที่เป็นการฟังแบบเข้าใจองค์รวมทั้งเนื้อหาอารมณ์ความรู้สึกความคิด เป็นการฟังด้วยหัวใจฟังอย่างเข้าใจในตัวตนของผู้พูดจริงๆ สามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน
ระดับที่ 6 การฟังด้วยใจสู่ใจ ด้วยใจที่สุข เป็นการฟังแบบเข้าใจเข้าถึงองค์รวมทั้งเนื้อหาอารมณ์ความคิดและผู้ฟังมีสติอยู่กับผู้พูดตลอดเวลา
เมื่อรู้ระดับการฟังของตนเองแล้ว ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ว่าการฟังที่ดี มีต้นกำเนิดคือใจ การฝึกการฟังด้วยใจเพื่อดักจับเสียงที่ไม่เคยได้ยิน การฟังอย่างตั้งใจ เปิดใจรับรู้ ฟังด้วยใจที่ไม่ตัดสิน รู้เท่าทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะไม่มีใครที่จะสามารถเรียนรู้ทุกอย่างด้วยการฟังแต่เสียงพูดของตัวเอง ดังคำกล่าวของ Richard Branson ที่ว่า “จงฟังให้มากกว่าพูด”
หากสนใจหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3Ih4Ogv