มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่จัดเรียนการสอนในระบบการศึกษาไกล โดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งนักศึกษาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ให้ ซึ่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง ถือเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญมากในโลกในศตวรรษที่ 21 สำหรับ STOU Storian Podcast ในตอนที่ 5 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วและอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด เพราะมนุษย์ทุกคนต้องมีการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อขยายสังคมของการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น ทำให้เมื่อ พ.ศ. 2512 มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของโลก คือ “The Open University” ณ ประเทศอังกฤษ เป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิดที่จัดการเรียนการสอนแบบทางไกล ผ่านสื่อการสอนและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นในขณะนั้น สำหรับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2521 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกและแห่งเดียว ที่จัดการเรียนการสอนระบบการศึกษาทางไกล
ความหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นิยามของคำว่า เรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่ง ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน และ ศ.ดร.สุมาลี สังข์ศรี ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ว่ามีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า การศึกษาตลอดชีวิต หรือ Lifelong education ซึ่งจากคำนิยามและแนวคิดพบว่ามีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการให้บุคคลได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเหมาะสม เพื่อจะได้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้ และถ้าดูในพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2555 ได้ให้ความหมายของคำว่า “การศึกษาตลอดชีวิต หมายถึง การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นการศึกษาที่เอื้ออำนวยให้บุคคลสามารถเรียนรู้ได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อการพัฒนาตน สังคม อาชีพและวิชาชีพ” จากความหมายเห็นได้ว่า การศึกษาตลอดชีวิตหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งการสร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีเทคนิคที่สำคัญ ดังนี้
รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
พระผู้เป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ว่า
“…การศึกษาเจริญขึ้นมากแล้ว ควรจะมุ่งในทางใช้ความคิด ให้เป็นผลดียิ่งขึ้นอีก ไม่ใช่แต่จะเรียนจำตามที่สอนเท่านั้น ต้องฝึกหัดใช้ความคิด ไม่ใช่เชื่ออย่างงมงาย ไม่ใช่เรียนมา สำหรับทำตามไป อย่างลิงมันล้อคน หรือนกแก้วเลียนคนพูด เรียนมาสำหรับคิด ไม่ใช่เรียนมาสำหรับจำไว้เฉยๆ เท่านั้น ต้องคิดอีกทีหนึ่งว่า จะทำอย่างไรจึงจะดีขึ้นได้อีก ต้องพยายามเรียนตลอดชีวิต…”
พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไม่ใช่แค่พระราชดำรัส แต่ด้วยพระราชจริยาวัตรที่โปรดการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ อาทิ โปรดการอ่านหนังสือ ดูได้จากหนังสือส่วนพระองค์ที่จัดเก็บในห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มีจำนวนถึง 1,700 เล่ม มีหลายศาสตร์สาขาและหลายภาษา ทรงโปรดดนตรี ก็ทรงฝึกฝนจนสามารถทรงดนตรีได้ ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล เช่น ไวโอลิน ซอด้วง ซออู้ และยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยได้ถึง 3 เพลง คือ เพลงราตรีประดับดาว เพลงเขมรละออองค์ และเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง ทรงโปรดภาพยนตร์ ซึ่งพระองค์ทรงเรียนรู้และทดลอง จนมีภาพยนตร์ทรงถ่ายเกิดขึ้นมากมายหลายเรื่อง เรื่องที่โดดเด่นที่สุด คือ เรื่องแหวนวิเศษ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของแบบอย่างการเรียนรู้ตลอดชีวิตในแบบพระองค์ท่าน
เทคนิคการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบัณฑิต มสธ.
ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตในแบบของบัณฑิต มสธ. ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในระบบการศึกษาทางไกลที่ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง มี “เทคนิคการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้แนวคิด ใครๆ ก็เรียนได้” ที่เป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่สนใจใฝ่เรียนรู้ ดังนี้
วัยไหน ใครๆ ก็เรียนได้
แนวคิด “วัยไหน ใคร ๆ ก็เรียนได้” คือ คุณธานี มีชัย บัณฑิตจากสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์
คุณธานี เล่าให้เราฟังว่า “หลังจากที่เกษียณอายุแล้ว ก็ตั้งใจมาเรียน มสธ. เลย เพื่อที่ได้นำความรู้มาประกอบอาชีพที่ตั้งใจไว้คืออาชีพเกษตรกร ดังนั้นจึงเลือกเรียนสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์”
และเมื่อถามถึงเทคนิคการเรียนรู้ในวัยเกษียณอายุ คุณธานีบอกว่า ก่อนอื่นต้องมีเป้าหมายก่อนว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนแล้วเราจะมุ่งมั่นในการอ่านหนังสือ เช่น คุณธานีจะอ่านทุกบรรทัดอย่างละเอียด และจะเลือกอ่านในช่วงเช้า ตั้งนาฬิกาปลุกไว้เลยเพื่ออ่านหนังสือโดยเฉพาะ เมื่ออ่านจบก็จะทบทวนอยู่เสมอ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากสื่อต่าง ๆ ที่มสธ. มีให้ ที่สำคัญ หมั่นทำแบบฝึกหัดเพื่อทดสอบความเข้าใจของตัวเอง นับว่าเป็นการใช้เวลาว่างหลังเกษียณอายุสำหรับการเรียนรู้ที่มีประโยชน์มาก
ที่ไหน ใครๆ ก็เรียนได้
แนวคิด “ที่ไหน ใคร ๆ ก็เรียนได้” คือ คุณภาคภูมิ สุวรรณนุรักษ์ บัณฑิตจากสาขาวิชาศิลปศาสตร์
คุณภาคภูมิ ปัจจุบันประกอบอาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทไปรษณีย์ไทย คุณภาคภูมิ เล่าให้เราฟังว่า “เดิมทีทำหน้าที่เป็นพนักงานรับฝากที่เคาน์เตอร์ก็จะมีนักศึกษา มสธ. ไปฝากชำระค่าธรรมเนียมอยู่เสมอ เลยสนใจว่า มสธ.เขาเรียนกันอย่างไรนะ จึงมาสมัครเป็นนักศึกษา”
และเมื่อถามถึงเทคนิคการเรียนรู้ในแบบของคนที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย คุณภาคภูมิบอกว่า เนื่องจากตัวเองต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จึงอาศัยการจัดตารางเวลาเรียนให้เหมาะกับตัวเอง โดยเลือกที่จะอ่านหนังสือในช่วงกลางคืน สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง และจดโน้ตสรุปย่อเนื้อหาตามวัตถุประสงค์ในแต่ละบท ส่วนชุดวิชาไหนที่มี CD หรือ mp3 จะอาศัยฟังระหว่างเดินทาง และหมั่นทบทวนอยู่เสมอจนเรียนจบ การจัดตารางเวลาเรียนให้เหมาะกับตัวเองจึงนับว่าเป็นบริหารเวลาแบบเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยได้อย่างลงสมดุล
เวลาไหน ใครๆ ก็เรียนได้
แนวคิด “เวลาไหน ใคร ๆ ก็เรียนได้” คือ ผศ.ว่าที่ร้อยตรี ดร.กิตติคุณ รุ่งเรือง รองอธิการบดีฝ่ายองครักษ์และพัฒนากายภาพ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดุษฎีบัณฑิตจากสาขาวิชาศึกษาศาสตร์
อาจารย์กิตติคุณ เล่าให้เราฟังว่า “ด้วยภาระหน้าที่ทางการบริหารหลายตำแหน่งในขณะนั้น ทั้งรองอธิการบดี รักษาการผู้อำนวยการและโรงเรียนสาธิต ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเรียนในหลักสูตรทั่วไปแม้จะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ ดังนั้นอาจารย์จึงตัดสินมาเรียนที่ มสธ. เพราะคิดว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เหมาะที่สุดแล้วสำหรับผู้ที่มีภาระหน้าที่ค่อนข้างมากได้มีโอกาสที่จะเรียน”
และเมื่อถามถึงเทคนิคการเรียนรู้สำหรับคนที่ไม่มีเวลาด้วยภาระหน้าที่ต่าง ๆ อาจารย์บอกว่า ประการแรก ต้องมีความรับผิดชอบและวินัยอย่างแรงกล้ามาก สำหรับอาจารย์เมื่อเคลียร์งานทุกอย่างเรียบร้อยในเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม เมื่อกลับถึงบ้านก็จะมีเวลาประมาณเที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง จะใช้เวลาช่วงนี้แหละในการเรียน ที่สำคัญจะมีเพื่อนที่เรียนด้วยกันคอยเตือนว่าถึงเวลาส่งงาน ถึงเวลาตอบกระทู้แล้วนะอะไรต่าง ๆ ซึ่งถึงแม้จะเป็นการเรียนทางไกลแต่เราก็มีเพื่อนไม่ได้เรียนคนเดียว จึงอยากเชิญชวนให้มาเรียนในสิ่งที่อยากรู้ เช่น อาจารย์อยากเรียน HR ก็ลง HR อยากเรียนกฏหมายก็ลงกฎหมาย เพราะมีความรู้แล้วเราก็สามารถนำไปแนะนำคนอื่นได้ มสธ.จึงถือเป็นมหาวิทยาลัยที่เหมาะกับคนในอนาคตที่ต้องการจะ Re-Skill, Up-Skill เพื่อต่อยอดการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ขอเชิญบัณฑิต มสธ. และผู้สนใจทุกท่านเข้าเยี่ยมชมและถ่ายภาพมุมสวยงามต่าง ๆ ภายในห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ ห้องสมุด มสธ. อาคารบรรณสาร ชั้น 2 ในวันฝึกซ้อมใหญ่พิธีพระราชทานปริญญาบัตร และสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ในเวลาราชการ