การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ไม่ใช่แค่ดีไซน์.. แต่คือการใส่ใจสิ่งแวดล้อม

STOU Read it Now! Ep.5 สำหรับหนังสือที่จะมาแนะนำในวันนี้มีชื่อเรื่องว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล : แนวทางสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์หมุนเวียนที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ซึ่งแปลจาก Packaging Design for Recycling : a global recommendation for circular packaging design ผลงานของ ECR Austria Circular Packaging Initiative โดยทางสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยได้เชิญคณาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มาช่วยแปลและเรียบเรียงเนื้อหาฉบับภาษาไทย

การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในหลายปีที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แต่ยังคงต้องมีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานและความสวยงามอยู่เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค สำหรับการออกแบบเพื่อการรีไซเคิลนั้น ผู้ออกแบบจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการคัดแยกและรีไซเคิลเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าสู่กระบวนการ

เนื้อหาในหนังสือจะเป็นข้อมูลให้ผู้ออกแบบสามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่ต้นทาง โดยมีคำแนะนำทั่วไปสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภท มีการนำสีของไฟจราจร เขียว เหลือง แดง มาประยุกต์สำหรับการออกแบบ

  • สีเขียว หมายถึง การออกแบบที่รีไซเคิลได้โดยสมบูรณ์ จะเป็นกรณีที่ดีที่สุด
  • สีเหลือง หมายถึง เกณฑ์กำหนดอนุโลมให้รีไซเคิลได้ ถ้าจำเป็น
  • สีแดง หมายถึง ควรจะต้องไม่นำมาใช้ เนื่องจากอาจเป็นการปิดกั้นการคัดแยกอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง

รวมถึงการนำระบบรหัสสีมาใช้เพื่อให้เข้าใจง่าย ได้แก่ สีเหลืองคือบรรจุภัณฑ์ประเภทขวด สีเขียวคือถาดและถ้วย สีส้มคือบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว สีชมพูคือหลอดบีบ สีฟ้าคือกระป๋อง สีม่วงคือกล่องพับได้ และสีแดงคือกล่องเครื่องดื่มแบบคอมโพสิต

ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่มีการออกแบบที่รีไซเคิลได้โดยสมบูรณ์

  • พลาสติก ซึ่งมีทั้งประเภท PET PE PP ควรใช้วัสดุชนิดเดียวกันในบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากในขั้นตอนการรีไซเคิล พลาสติกจะถูกแยกตามองค์ประกอบทางเคมี และหากมีการใช้ฉลากแบบปลอกหุ้มควรทำจากวัสดุเดียวกันกับตัวขวด ฝาปิดก็เช่นเดียวกัน
  • แก้ว ควรใช้สีมาตรฐาน คือ เขียว น้ำตาล ขาวใส เนื่องจากต้องมีการแยกสีเพื่อให้ได้ความบริสุทธิ์ของสีแก้วที่ต้องการก่อน การตกแต่งควรทำโดยเจาะร่องที่ผิว และฝาปิดควรทำจากโลหะผสมแม่เหล็กเพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกด้วยแม่เหล็ก
  • โลหะและอะลูมิเนียม ไม่ควรใช้หมึกพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด เนื่องจากสามารถลดคุณภาพของวัสดุที่นำไปใช้ซ้ำได้
  • กระดาษ ไม่ควรใช้การเคลือบพลาสติกหรือแว็กซ์ และควรใช้การพิมพ์ให้น้อยที่สุด เป็นต้น

การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกสำหรับการนำมารีไซเคิลเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรบนโลกส่วนหนึ่ง แต่หากเราจะลดการใช้ลง (Reduce) และเพิ่มการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ก็จะช่วยเพิ่มความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

หากต้องการอ่านตัวเล่ม เลขเรียกหนังสือ TS195.4 G8 2563 ตรวจสอบสถานะ หรืออ่านออนไลน์ได้ที่นี่