ห้องสมุด มสธ. ตระหนักถึงความสำคัญและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคมที่ส่งผลต่ออิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในยุคสังคมข่าวสาร จึงได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนางานบริการ ครั้งแรกใน พ.ศ. 2526 โดยนำเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาจัดทำดรรชนีเอกสารการสอนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ต่อมาเมื่อย้ายเข้าที่ทำการถาวร ณ อาคารบรรณสาร และได้รับยกฐานะจาก “ศูนย์บรรณสารสนเทศ” เป็น “สำนักบรรณสารสนเทศ” ในช่วงปี พ.ศ. 2529 ห้องสมุด มสธ. ได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาให้บริการ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากในขณะนั้น คือ การให้บริการสืบค้นข้อสนเทศด้วยระบบออนไลน์ “DIALOG” เป็นบริการที่ทำให้ผู้ใช้บริการได้เปิดประสบการณ์การใช้ระบบสืบค้นแบบออนไลน์ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถค้นข้อมูลที่ทันสมัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นบริการที่ช่วยส่งเสริมวิชาการด้านการเรียน การสอน การค้นคว้าและวิจัยให้แก่คณาจารย์ และผู้ที่สนใจได้เป็นอย่างมาก โดยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ห้องสมุด มสธ. ได้รับพระกรุณามหาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงทำพิธีเปิดการใช้บริการสืบค้นข้อสนเทศด้วยคอมพิวเตอร์ในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย
DIALOG เป็นระบบโปรแกรมที่ใช้ในด้านการค้นข้อสนเทศจากฐานข้อมูลต่าง ๆ ใช้ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ผ่านทางสายโทรศัพท์ (ขณะนั้นยังไม่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) จัดสร้างโดย DIALOG information Services, Inc. (เดิมมีชื่อว่า Lockheed Information Systems) ซึ่งเป็นบริษัทด้านบรรณานุกรมในสหรัฐอเมริกา เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) โดยมีฐานข้อมูลให้บริการมากกว่า 220 ฐาน แต่ละฐานข้อมูลของ DIALOG จะประกอบไปด้วยสาระสังเขป และรายการอ้างอิงของบทความวิชาการ รายงานการประชุม สิ่งพิมพ์รัฐบาล และแหล่งอ้างอิงในรูปแบบอื่น ๆ ที่เชื่อถือได้มากกว่า 110 ล้านรายการ รวมทั้งครอบคลุมหลายสาขาวิชาสำคัญ ๆ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ มนุษศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปะศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เป็นต้น
ร้อยเรื่องเล่า… 100 ความทรงจำ
เป็นการเล่าเรื่องจากภาพถ่ายในรูปแบบโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ (Postcard) จำนวน 100 ใบ ร้อยเรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่อดีตปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตจาก “โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศ: ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติ พัฒนาการ โครงการ/กิจกรรม และความทรงจำเกี่ยวกับห้องสมุด รวมถึงเป็นการอำลาอาคารบรรณสาร (เดิม) ก่อนย้ายเข้าสู่ที่ทำการแห่งใหม่ ณ “อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ.”
ติดตาม โครงการ “ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” ได้ที่
- Facebook ห้องสมุด มสธ.: POSTCARD ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ
- YouTube: รายการ “ร้อยเรื่องเล่า..จากชาวบรรณสารฯ”