STOU Storian Podcast EP.7 ก้าวแรกก่อนจะเป็นมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เรื่องราวเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศไทยในขณะนั้นที่ทำให้ถึงเกิดแนวคิดจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดรูปแบบการเรียนการสอนแบบทางไกล และความเป็นมาของการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยที่ได้นามพระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช”
มหาวิทยาลัยเปิด คืออะไร ?
“มหาวิทยาลัยเปิด” แนวคิดการจัดการศึกษาที่รับนักเรียนไม่จำกัดจำนวนไม่มีชั้นเรียน และไม่มีการสอบคัดเลือก เป็นการที่จะขยายโอกาสการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนให้มากที่สุด และเป็นระบบที่ทำให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษา ปัจจุบันในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเปิดแบบระบบทางไกลของรัฐเพียงแห่งเดียว คือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ประวัติศาสตร์ “การศึกษาระบบเปิด” ในประเทศไทย
การศึกษาระบบเปิดในประเทศไทยนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่ได้มีการจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เมื่อ พ.ศ. 2477 เป็นการศึกษาระบบเปิดแบบตลาดวิชา แต่ก็ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องสถานที่เรียนมีไม่เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการศึกษาใหม่
หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2514 ก็ได้มีการจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยรามคำแหง” ให้เป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชา รับนักศึกษาแบบไม่จำกัดและไม่มีการสอบคัดเลือก ภายหลังการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็ต้องประสบปัญหาสถานที่เรียนมีไม่เพียงพอ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหาวิธีแก้ไขปัญหา เช่น กำหนดคุณสมบัติของนักเรียนที่จะเข้าศึกษาในชั้นปีที่ 1 จะต้องได้เกรดเฉลี่ย 2.53 ขึ้นไป และประกาศปิดชั้นเรียนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะเห็นได้ว่าการจำกัดจำนวนและกำหนดเงื่อนไขการรับนักศึกษานี้ส่งผลให้นักเรียนที่จบชั้นมศ. 5 ในสมัยนั้น หาที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาไม่ได้ ทำให้ขาดโอกาสและเกิดความไม่เสมอภาคทางการศึกษา
ต้นแบบแนวคิด “Open University” จากประเทศอังกฤษ
ในปี พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ไปศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยเปิด (Open University) ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยเปิดในระบบทางไกล ที่ขยายโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกชนชั้นได้ศึกษาต่อเพื่อเพิ่มพูนความรู้และควบคู่ไปกับการทำงาน โดยนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบผสมผสานมาเป็นสื่อการเรียนการสอนที่สามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง เช่น สื่อทางไปรษณีย์ สื่อรายการวิทยุและโทรทัศน์ โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ และเปิดรับนักศึกษาแบบไม่จำกัดจำนวนเพศและวัย โดยมีการกระจายศูนย์การศึกษาไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศ
จุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยเปิดในความคิด
พ.ศ. 2517 กระทรวงศึกษาธิการได้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา” ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุด ท่านได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาระบบเปิดตามที่ท่านเคยได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ก็เห็นชอบที่จะทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาให้กลายมาเป็นมหาวิทยาลัยระบบเปิด ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการเสนอให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดแห่งใหม่
ต่อมาปี พ.ศ. 2518 ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ดำรงตำแหน่งรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ท่านได้เสนอแนวทางพัฒนามหาวิทยาลัยเปิดในรูปแบบจัดการเรียนการสอนทางไกลคล้ายกันกับมหาวิทยาลัยเปิดประเทศอังกฤษอีกครั้ง ในขณะนั้นมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังไม่มีความพร้อมที่เป็นมหาวิทยาลัยระบบเปิดแบบทางไกล และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็จำกัดการรับนักศึกษา
ฉะนั้นบทสรุปคือ รัฐบาลตัดสินใจเลือกที่จะจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยเปิดแห่งใหม่” ให้เป็นเอกเทศตามที่ ศาสตราจารย์ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เคยนำเสนอ ซึ่งจุดนี้ถือเป็น จุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยในความคิด
จากมหาวิทยาลัยในความคิด สู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกระดาษ
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2519 จากมหาวิทยาลัยในความคิดก็เข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกระดาษ โดยการนำของ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งได้มีการยกร่างโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดและเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ จำนวน 20 คน มาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ รวมทั้งได้มีการ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการมหาวิทยาลัยเปิด โดยมีท่านเป็นประธานคณะอนุกรรมการ
พ.ศ. 2520 รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติด้านอุดมศึกษา ระยะที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งนโยบายสำคัญ คือ ส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาระบบเปิดในมหาวิทยาลัยให้มากยิ่งขึ้น โดยเน้นการใช้สื่อการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนศึกษาได้ด้วยตนเองผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุและโทรทัศน์ โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นก้าวแรกก่อนที่จะมาเป็นมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ต่อมาเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2520 คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการมหาวิทยาลัยเปิด ก็ได้ยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยได้แล้วเสร็จ และได้เสนอคณะรัฐมนตรีรับในหลักการ เพื่อส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการชุดนี้เป็นไปอย่างราบรื่นแทบจะไม่มีปัญหาอุปสรรคใด ๆ แต่มีอยู่ปัญหาเดียว คือ การตั้งชื่อมหาวิทยาลัยที่จะเปิดใหม่
เนื่องจากว่าจำเป็นจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งแนวคิดในการตั้งชื่อจะใช้หลักการเดียวกันกับการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งมีอยู่ 3 แบบ ได้แก่ ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญ, ตั้งชื่อตามศาสตร์หรือกลุ่มวิชาที่เปิดสอน และ ตั้งชื่อตามจังหวัดหรือเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย แต่ในเบื้องต้นได้ตั้งชื่อมหาวิทยาลัยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาซึ่งมีอยู่ 2 ชื่อคือ “มหาวิทยาลัยปวงชน” และ “มหาวิทยาลัยปวงประชา” และก็ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีชื่อให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาไปก่อน
นามพระราชทาน “สุโขทัยธรรมาธิราช”
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2520 ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยก็ได้ผ่านการตรวจรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2521 คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการมหาวิทยาลัยเปิด ก็ได้จัดทำรายงานสรุปฯ เรื่อง “มหาวิทยาลัยเปิด” แล้วเสร็จพอดี
และทบวงมหาวิทยาลัยก็ได้ตั้งชื่อมหาวิทยาลัยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ 3 ชื่อ ชื่อแรกคือ “มหาวิทยาลัยประชาธิปก” ซึ่งเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อที่ 2 มีอยู่ 2 ชื่อนะคะ ชื่อแรกคือ “มหาวิทยาลัยเปิด” และ “มหาวิทยาลัยโทรศึกษา” ส่วนชื่อที่ 3. คือ “มหาวิทยาลัยวิชญากร” ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเลือกชื่อแรกคือ “มหาวิทยาลัยประชาธิปก” และได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้พระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นชื่อมหาวิทยาลัย
ในที่สุดก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า “สุโขทัยธรรมาธิราช” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2521ซึ่งเป็นชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2521 เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2521 เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงถือเป็นวันมิ่งมงคลยิ่ง และทางมหาวิทยาลัย กำหนดให้วันที่ 5 กันยายน เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่นั้นมา
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
เอกสารอ้างอิง
(“กำหนดคุณสมบัติเข้ารามคำแหงจบ มศ. 5 ต้องได้คะแนนไม่ต่ำ 55%”, 2520). เดลินิวส์, 1,3.
คณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อปฏิรูปการศึกษา. (2518). การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม รายงานฉบับสมบูรณ์ของคณะกรรมการวางพื้นฐาน เพื่อปฏิรูปการศึกษา เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำเสนอ คณะรัฐมนตรี. สมาคมผู้บริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย.
คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการมหาวิทยาลัยเปิด. (2521). มหาวิทยาลัยเปิด : รายงานสรุปของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษา และจัดทำโครงการมหาวิทยาลัยเปิด เสนอทบวงมหาวิทยาลัย. คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำโครงการมหาวิทยาลัยเปิด.
ทบวงมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัย. [252-]. แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2520 – 2524). สำนักงานปลัดทบวง ทบวงมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2531). 10 ปี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2521-2531. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
วิจิตร ศรีสอ้าน. (2529). การศึกษาทางไกล = Distance Education. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เรียบเรียงโดย
วราภรณ์ ยงบรรทม สำนักบรรณสารสนเทศ
รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่
SoundCloud: https://on.soundcloud.com/KRL3S
Facebook: https://fb.watch/msvkXLKyet
YouTube: https://youtu.be/r4aOE-DCz7w