การเผยแพร่ผลงานวิจัย ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการนำความรู้เผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ช่วยในการแก้ไขปัญหาและเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน ซึ่งมีการนำเสนอในหลากหลายมีรูปแบบ ได้แก่ การนำเสนอในงานประชุมวิชาการ การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ การเผยแพร่ในรูปแบบของหนังสือหรือตำราทางวิชาการ การจัดนิทรรศการ การจัดสัมมนาวิชาการ และการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
การเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านสื่อออนไลน์และเพิ่มการมองเห็นด้วยกลยุทธ์ SEO
การเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารหรือการประชุมวิชาการ อาจยังทำให้สร้างการรับรู้ในผลงานวิจัยได้เฉพาะกลุ่ม ซึ่งนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาและส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Line OA เป็นต้น เพื่อให้สามารถเผยแพร่ผลงานวิจัย บทความวิจัยที่มีคุณค่าและมีประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น รวมถึงผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าถึงงานวิจัยได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทุกที่และทุกเวลาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้วิจัย หน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาให้ได้รับการยอมรับในทางวิชาการ
กลยุทธ์ SEO (Search Engine Optimization)
กระบวนการที่ทำให้เว็บไซต์สามารถถูกค้นพบได้ในอันดับต้น ๆ ในการค้นหาผ่านระบบ Search Engine เช่น Google, Yahoo, Bing เป็นต้น ซึ่งมีหลากหลายวิธี ได้แก่ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงเนื้อหา และเพิ่มลิงค์ที่มีประสิทธิภาพมายังเว็บไซต์ ซึ่งกระบวนการ SEO แบ่งออกเป็น 2 กระบวนการ คือ 1) กระบวนการ Off-Page SEO เป็นการทำให้อันดับเว็บไซต์อยู่ในลำดับที่ดีขึ้น ด้วยการนำปัจจัยภายนอกมาปรับใช้ เช่น การทำ Backlinks เชื่อมกลับมายังเว็บไซต์, การโปรโมทเว็บไซต์ และการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นต้น 2) กระบวนการ On-Page SEO เป็นการปรับแต่งโครงสร้างต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์ และการพัฒนาเนื้อหาของเว็บไซต์ เพื่อให้ Google สามารถเข้าใจได้ง่ายว่าเป็นเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับเรื่องใด ช่วยเพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ถูกค้นพบและถูกจัดอันดับที่หน้าแรก Google มากขึ้น เช่น การปรับแต่ง Meta Tag, การเขียนเนื้อหาภายในเว็บไซต์และปรับแต่งโครงสร้างของเว็บไซต์ เป็นต้น
ข้อดีของการทำ SEO คือ
- เพิ่มจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้มากขึ้น
- ไม่มีค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์
- เข้าถึงผู้ใช้บริการได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
- สร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร
- เว็บไซต์เป็นที่รู้จักมากขึ้น
สำหรับการเขียนบทความวิจัยเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ สามารถนำกลยุทธ์ SEO มาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งถือเป็นกระบวนการ On-Page SEO ด้านการพัฒนาเนื้อหาให้มีคุณภาพ และให้สอดคล้องกับระบบอัลกอริทึมหรือระบบการจัดอันดับเว็บไซต์ของ Google โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดคำสำคัญของบทความ การตั้งชื่อเรื่อง การวางโครงสร้างบทความ การลำดับเนื้อหา เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้บทความวิจัยได้รับการมองเห็นมากขึ้นและติดอันดับหน้าแรก Google รวมถึงเพื่อให้สามารถเข้าถึงงานวิจัยได้สะดวกรวดเร็ว ทุกที่และทุกเวลาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยมีกลยุทธ์ดังนี้
- ชื่อเรื่อง
องค์ประกอบสำคัญอันดับแรกที่จะดึงดูดใจผู้อ่าน ควรตั้งชื่อเรื่องให้สั้น ใช้คำเฉพาะเจาะจง สื่อความหมายเฉพาะเรื่อง หรือตั้งชื่อเรื่องให้ตรงกับประเด็นของปัญหา ชื่อเรื่องต้องมีคำสำคัญ (Keywords) เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้นของผู้ใช้ผลงานวิจัย โดยนำกลยุทธ์ SEO (Search Engine Optimization) มาประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้บทความวิจัยถูกค้นพบและติดอันดับหน้าแรก Google หรือ Search Engine อื่นๆ
การกำหนดคำสำคัญในชื่อเรื่อง เพื่อวิเคราะห์คำที่คนนิยมใช้ค้นหาใน Google ซึ่งคำสำคัญที่ได้รับความนิยมและมีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บทความวิจัยถูกค้นพบและติดอันดับหน้าแรกได้ง่ายขึ้น การวิเคราะห์คำสำคัญสามารถใช้เครื่องมือ Google Trends (https://trends.google.com/trends/) เป็นเครื่องมือฟรีที่สามารถค้นหาคำสำคัญหรือเรื่องที่คนนิยมค้นหาใน Google ได้อย่าละเอียดแยกเป็นประเทศ ระยะเวลา และหมวดหมู่ได้ เพื่อเป็นตัวช่วยในการเลือกคำสำคัญที่คนนิยมใช้ค้นหามาเป็นแนวทางในการตั้งชื่อเรื่องให้มีความน่าสนใจและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
สำหรับการเขียนชื่อภาษาอังกฤษ ควรให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับชื่อภาษาไทย และต้องระวังการใช้คำศัพท์เฉพาะให้ถูกต้องตามบริบทของการนำมาใช้ในเชิงวิชาการด้วย
- ชื่อผู้วิจัย
ระบุชื่อเต็ม นามสกุลเต็ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งระบุหลักสูตร สาขาวิชา หน่วยงานหรือสถาบันที่สังกัด หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร และอีเมลที่สามารถติดต่อได้
- บทคัดย่อ
เป็นเนื้อหาสาระส่วนที่นำเสนอที่มาและวัตถุประสงค์การวิจัย วิธีการวิจัย และผลการวิจัยโดยสรุป เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวมงานวิจัยทั้งฉบับ โดยมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควรเขียนให้สั้น กะทัดรัด ถูกต้อง และสมบูรณ์ในตัวเองให้ผู้อ่านเข้าใจได้ โดยไม่ต้องอ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ ควรมีความยาวประมาณ 150-300 คำ และในบทคัดย่อควรกำหนดให้มีคำสำคัญ (Keywords) เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้นของผู้ใช้ผลงานวิจัย และเพื่อทำให้บทความวิจัยถูกค้นพบในติดอันดับหน้าแรก Google
- คำสำคัญ
ให้ระบุคำสำคัญ ซึ่งมักจะมาจากชื่อเรื่องและวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อนำไปใช้เป็นคำค้น โดยระบุทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษใส่ท้ายบทคัดย่อ ประมาณ 3-5 คำ
- บทนำ/ส่วนนำ
อธิบายถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย ที่นำไปสู่การศึกษาวิจัย มีการร้อยเรียงเนื้อหาอย่างเชื่อมโยง การเขียนควรให้ได้ข้อความที่สะท้อนถึงการลื่นไหลของความคิด แนวทางที่น่าสนใจ คือ เน้นการเขียน จาก สภาพปัญหาหรือสภาพปัจจุบัน เชื่อมโยงสู่อุดมการณ์ ทฤษฎี หรือหลักการนั้นๆ ส่งทอดสู่ประเด็นที่ต้องการศึกษา หรือคำถามวิจัย สิ่งสำคัญในการศึกษาจะต้องระบุแหล่งอ้างอิงหรือแหล่งที่มาของความรู้ที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้
- วัตถุประสงค์การวิจัย
เป็นการบอกจุดมุ่งหมายที่นักวิจัยต้องการค้นคว้าหาคำตอบตามปัญหาการวิจัย โดยเขียนในรูปประโยคบอกเล่า และอาจเขียนแยกเป็นข้อๆ ตามลำดับความสำคัญ
- สมมุติฐานการวิจัย (ถ้ามี)
เป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาการวิจัย ซึ่งได้จากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องหรือจากการสำรวจเบื้องต้น
- วิธีดำเนินการวิจัย
อธิบายขั้นตอนการวิจัยด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย โดยกล่าวถึงวิธีการวิจัยใน 3 ประเด็น 1) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา การกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างและวิธีการสุ่มตัวอย่าง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล 3) การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ เป็นการบอกแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนเทคนิคทางสถิติที่เลือกใช้ควรสอดคล้อง กับวัตถุประสงค์การวิจัย
- ผลการวิจัย
อธิบายถึงสิ่งที่ได้จากศึกษาหรือวิจัย ผลที่ได้จากวิเคราะห์ข้อมูล และการแสดงผลการทดสอบสมมติฐาน ซึ่งควรยึดวัตถุประสงค์ และสมมุติฐานของการวิจัยเป็นหลัก พร้อมกับนำเสนอหลักฐานข้อมูลอย่างเป็นระเบียบและเข้าใจง่าย เช่น ตาราง และแผนภูมิ
- สรุปผลและอภิปรายผล
เป็นการสรุปเนื้อหาในงานวิจัยทั้งหมด โดยไม่ควรซ้ำซ้อนกับผลการวิจัย และถอดความหมายจากผลการทดลองหรือข้อมูลที่ได้มาจากการวิเคราะห์ พร้อมกับอธิบายขยายความผลการวิจัยที่ได้ว่าสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับกรอบแนวคิดและสมมุติฐานการวิจัยหรือไม่อย่างไร
- ข้อเสนอแนะ
เป็นการเขียนข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย ประกอบด้วยข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้ในทางปฏิบัติหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะในการวิจัยต่อไป
- เอกสารอ้างอิง/ภาคผนวก
ส่วนอ้างอิง ประกอบด้วยบรรณานุกรมและเชิงอรรถ ด้านภาคผนวก ส่วนที่ผู้วิจัยนำเสนอสาระที่ผู้อ่านควรได้รับรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่นำเสนอในบทความ เช่น ตัวอย่างเครื่องมือวิจัย เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
รัชกร คงเจริญ. (2566). กลยุทธ์การพัฒนาบทความออนไลน์ให้สอดคล้องกับกระบวนการ SEO เพื่อให้ติดอันดับหน้าแรก Google: กรณีศึกษาการส่งเสริมการรับรู้สารสนเทศอัตลักษณ์ มสธ. PULINET Journal, ปีที่ 10 (1), หน้า 28-44. https://pulinet.oas.psu.ac.th/index.php/journal/article/view/549/420
พรชนก ทองลาด. (2561). การเขียนบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่ผลงาน…ทำได้อย่างไร?. วารสารปัญญาภิวัฒน์, ปีที่ 10 ฉบับพิเศษ, หน้า 279-291.