สายสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์-ประชาธิปก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งหมด 97 พระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กสุดลำดับที่ 96 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระโสทรเชษฐาและพระโสทรเชษฐภคินีร่วมพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวม 7 พระองค์

พระราชวังสวนดุสิต พระตำหนักสวนสี่ฤดู

เมื่อ พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ซึ่งถือว่าเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินอันเป็นสวนและท้องนาที่ทุ่งซางอี้เพื่อสร้างที่ประทับซึ่งเหมาะแก่พระพลานามัย ให้มีลักษณะคล้ายวัง “ฤดูร้อน” ของพระเจ้าแผ่นดินในยุโรป โดยพระราชทานนามอุทยานสถานแห่งนี้ว่า “สวนดุสิต” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาใหญ่หลังหนึ่งขึ้นเป็นที่ประทับแรมรวมกันของทั้งพระองค์เองพระมเหสีเทวี พระราชโอรสธิดา และข้าราชบริพารฝ่ายใน

ระหว่างการก่อสร้างนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ไปทรงตรวจการก่อสร้างอยู่เสมอ จะทรงพาพระราชโอรสและพระราชธิดาเล็ก ๆ ตามเสด็จฯ ไปด้วย ในช่วงเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ มีพระชันษา 6-7 ปี คงจะได้ทรงพระสําราญในการทรงเล่นมุดเข้ามุดออกในกองฟางกองใหญ่ พร้อมทั้งทรงท่องหนังสือดัง ๆ ไปพลาง เฉกเช่นเจ้าพี่ เจ้าน้อง โดยอ้างอิงจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจ้าอยู่หัวทรงเล่าว่า

“โดยมากทราบว่าจะได้ตามเสด็จอย่างกระชั้นชิดมาก เจ้าพี่เจ้าน้องต้องทรงวิ่งไปพลาง ทรงช่วยติดกระดุมฉลองพระองค์พลาง บางครั้งทรงถุงพระบาทได้ข้างเดียวก็ต้องทรงหิ้วถุงอีกข้างและรองพระบาทไปด้วย เมื่อถึงวังดุสิตนั้น มีสิ่งที่น่าเล่นมากคือ กองฟางกองใหญ่ พระเจ้าอยู่หัวทรงปล่อยให้พระราชโอรสธิดาเล็ก ๆ เล่นในกองฟางนี้ โดยมิห้ามปรามประการใด จะทรงมุดเข้ามุดออกกันจนกองฟางกระจุยกระจาย พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับหันพระขนองกับไม่สนพระทัย เจ้านายเล็ก ๆ ก็ทรงเล่นไปและท่องหนังสือดัง ๆ ไป แต่เมื่อพระองค์ใดทรงท่องผิดไปจะมีพระสุรเสียงของพระชนกแก้ออกมา”

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังดุสิตแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตำหนักพระราชทานพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ สำหรับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกฯ นั้น ประทับที่ “ตำหนักเล่งหนึ่ง” ร่วมกับ พระอนุชาคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ เวลาบ่ายจะเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงสนับเพลาจีนและฉลองพระองค์ผ้าลินินสีขาว ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “เรือนเตี้ย” ให้เป็นที่ประทับตั้งอยู่ตรงด้านอ่างหยก ใกล้พระตำหนักเรือนต้น

พระราชนิยมด้านการถ่ายภาพ…จากพระบิดาสู่พระราชโอรส

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นกษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในความรู้และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการจากต่างประเทศอย่างจริงจัง เป็นพระองค์แรกที่ได้ฉายพระรูป และทรงใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์พระองค์และสยามประเทศ ด้วยการส่งพระบรมฉายาลักษณ์ไปให้ประมุขประเทศต่าง เช่น ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกจึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ โดยในยุคแรกเป็นที่นิยมแค่ในหมู่ชนชั้นสูง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยพระองค์ทรงซื้อกล้องถ่ายภาพพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอองค์ละ 1 กล้อง

ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ทรงหัดการถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และเมื่อพระชันษา 12 ปี ได้ทรงส่งภาพฝีพระหัตถ์ ชื่อว่า “ตื่น” เข้าประกวดในงานออกร้าน วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5

ความเอาพระทัยใส่ในการศึกษาของพระราชโอรส

สำหรับเรื่องการศึกษาของพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้น พระองค์ทรงเห็นความสำคัญและเอาพระทัยใส่การศึกษาของพระราชโอรสเป็นอย่างมาก โดยมีแบบแผนการศึกษาอย่างชัดเจนจึงมีพระบรมราโชบายให้พระโอรสได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดในแขนงวิชาการต่าง ๆ เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเท่าที่จะทรงกระทำได้ เมื่อบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอเมื่อเจริญพระชันษาและโสกันต์แล้ว โดยทรงเริ่มส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการ ณ ทวีปยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. 2428 เป็นต้นไป และมีคำสอนในจดหมายที่พระราชทานถึงพระโอรสก่อนไปศึกษาที่ยุโรป พ.ศ. 2428 โดยมีใจความเกี่ยวกับพระบรมราโชวาทถึงการวางตัว การใช้ชีวิต การใช้จ่าย ความขยันหมั่นเพียร และไม่ลืมรากเหง้าความเป็นไทย

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ได้เข้าพระราชพิธีโสกันต์แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ด้วยความทรงห่วงใยเพราะเป็นพระราชโอรสองค์เล็กสุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร อุปทูตสยามประจำกรุงปารีสเป็นผู้ดูแลการศึกษาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ดังข้อความในพระบรมราราโชวาทถึงหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ วันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ. 125 ความตอนหนึ่งว่า

“ครั้งนี้ลูกข้าที่จะไปเรียนก็ยังมีคนเดียวแต่เอียดน้อยเท่านั้น เจ้าก็เป็นหลาน ที่เคยไว้เนื้อเชื่อใจกันมา หยากจะขอมอบให้เจ้าจัดการเล่าเรียน เปนส่วนฝากฝังกันฉเพาะตัว เช่นกับฝากน้องไปเรียนคนหนึ่ง เจ้าจะรับจัดการได้ฤาไม่ การที่จะเรียนนั้นคงจะต้องเรียนเมืองอังกฤษ เจ้าก็เป็นนักเรียนเมืองนั้น คงจะรู้เบาะแสจัดการได้ตลอด”

ภายหลังเมื่อหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ทรงย้ายไปปฏิบัติหน้าที่รองเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทูตสยามประจำกรุงปารีสแทนคือ หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฝากให้เป็นพระอภิบาลดูแลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ พระอภิบาลนอกจากหน้าที่ดูแลจัดการศึกษาแล้ว ยังต้องคอยดูแลความประพฤติต่างพระเนตรพระกรรณอีกด้วย ดังข้อความตอนหนึ่งในพระบรมราชโองการถึงหม่อมเจ้าบวรเดช ว่า

“…ให้ถือเป็นน่าที่ซึ่งจะคอยตรวจตราระวังความประพฤติของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขไทยธรรมราชา เพื่อจะไม่ให้จดไปในความประพฤติชั่ว อันจะไม่เปนที่ตั้งแก่งความสำราญในพระองค์ก็ดี เปนที่เสียชื่อเสียงก็ดี เปนเหตุให้เพลิดเพลินไม่เอาการก็ดี ให้มีอำนาจที่ตักเตือน แลป้องกันผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งจะชักชวน ด้วยคำห้ามปราม ทำด้วยพระบรมราชโปงการนี้เปนที่ตั้ง ให้ถือเปนน่าที่ว่าเมื่อป้องกันห้ามปรามไม่ได้ ให้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท อย่าให้มีความหวั่นเกรงกลัวผู้หนึ่งผู้ใดเป็นอันขาด…”

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2450

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2450 ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2540 เสด็จพระราชดำเนินถึงสถานีรถไฟเมืองซานเรโม โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พร้อมด้วยข้าราชการไทยและต่างประเทศเฝ้ารอรับเสด็จ โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ทรงติดตามการเสด็จประพาสด้วยในบางเมือง โดยอ้างอิงจากภาพถ่าย และทรงเข้าร่วมงานฉลองวันพระบรมราชสมภพของพระบรมราชชนก ที่สวนสาธารณะคัวร์เฮ้าส์ เมืองบาดฮอมบวร์ก ประเทศเยอรมนี ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2450

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้ของรัชกาลที่ 5 จึงเป็นครั้งสุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบรมราชชนก ด้วยพระบรมราชชนกสวรรคตก่อนที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ นิวัตสู่ประเทศสยาม

ห้วงความคิดถึงของผู้เป็นพ่อ

ในช่วงเวลาหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ขณะทรงเรียนอยู่ที่อังกฤษ โดยเป็นโปสการ์ดรูปรถพระที่นั่งในงานเปิดสะพานเฉลิมโลก 55 ถนนราชดำริ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ตราปั๊มอังกฤษลงเดือนมกราคม พ.ศ. 2452 โดยมีข้อความว่า                                         

“คิดถึงมาก ที่รถพ่อ เมื่อไปเปิดสะพาน จปร”

ผู้เรียบเรียง

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน