๑๓
นักเรียนวิชาทหารบก โรงเรียนเสนาธิการทหาร École Supérieure de Guerre

หลังจากอภิเษกสมรสได้ราว 2 ปี ในปี พ.ศ. 2464 แพทย์ชาวต่างประเทศประจำพระองค์ได้ถวายคำแนะนำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ เสด็จไปทรงรักษาพระองค์ที่ยุโรป ด้วยพระองค์ทรงมีพลานามัยไม่สมบูรณ์และประชวรเรื้อรังมาอย่างต่อเนื่อง เพราะระบบย่อยอาหารของพระองค์ทรงอ่อนแอ จึงเสด็จไปทรงรักษาพระองค์ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อทรงรับการรักษาอยู่ราว 5-6 สัปดาห์พระอาการประชวรก็หายเป็นปกติ

เข้าศึกษาวิชาการทหารชั้นสูงตามแผนเดิม

หลังจากนั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ทรงต้องการศึกษาต่อในวิชาการทหารชั้นสูงตามที่เคยวางแผนการศึกษาไว้ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าศึกษาวิชาทหารบกฯ โรงเรียนเสนาธิการทหารเอกอล เดอ แกร์ École supérieure de guerre ดังความในพระราชหัตเลขา ฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 มีใจความว่า..

“…ข้าพระพุทธเจ้าได้มาตริตรองดูรู้สึกว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าได้เข้าเรียนจะเปนประโยชน์แก่ตนเปนอันมาก เพราะเวลานี้ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกว่าตนเองไม่มีความรู้พอที่จะรับราชการทหารบกให้เป็นประโยชน์ได้จริงและเป็น Credit แก่ตน และได้คิดอยู่เนือง ๆ ว่า อยากจะออกเสียจากทหารบก เพราะทำงานไม่ได้ดีสมกับความมุ่งหมาย แต่ถ้าข้าพระพุทธเจ้าได้เล่าเรียนเพิ่มเติมคงจะทำงานได้ดีขึ้นเป็นอันมาก นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อย่างอื่น เช่น ภรรยาข้าพระพุทธเจ้าจะได้เล่าเรียนภาษาฝรั่งได้ดีจริง ๆ เป็นต้น…”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบและเห็นสมควรที่สมเด็จฯ เจ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหาร และทรงสมัครเรียนด้วยเงินส่วนพระองค์ ทรงใช้เวลาเตรียมพระองค์และศึกษารวมทั้ง 3 ปี ระหว่างทรงศึกษามีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร เป็นผู้ดูแลการศึกษาในพระองค์ตลอดจนจบการศึกษา และในระหว่างการศึกษาที่ฝรั่งเศสนั้นได้ทรงเช่าที่ประทับ ณ Villa Mirador เลขที่ 31 Rue du Mont Valerien เมือง St. Cloud ชานกรุงปารีส

โรงเรียนเสนาธิการทหาร École Supérieure de Guerre กรุงปารีส

โรงเรียนเสนาธิการฝรั่งเศส École supérieure de guerre หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า เอกอล เดอ แกร์ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ภายในโรงเรียนทหารเอกอล มิลิแตร์ Ecole Militaire ซึ่งถือเป็นสถาบันทางการทหารที่เก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส ก่อตั้งในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เอกอล มินิแตร์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั้งในฐานะสถาบันที่ผลิตนายทหารที่มีชื่อเสียง เช่น นโปเลียน โบนาปาร์ต หรือพระเจ้านโปเลียนที่ 1 และเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมสมัยคลาสสิกที่งดงามแห่งหนึ่งของกรุงปารีส

นายทหาร Prajatipok de Siam

หลักสูตรนายทหารเสนาธิการตามคำกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชหัตถเลขา สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์จะทรงใช้เวลาศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส 3 ปี ใจความว่า

“…เมื่อเปนเช่นนี้ข้าพระพุทธเจ้าจึงตกลงใจขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเล่าเรียนต่อไป ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี คือ เตรียมตัว 1 ปี เล่าเรียน 2 ปี ถ้าจะเรียนวิชาอย่างใหม่เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในมหาสงครามนี้ด้วยแล้วต้องการเวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี…”

แฟ้มประวัติการศึกษาส่วนพระองค์ที่หน้าแฟ้มประวัติมีข้อความเขียนด้วยลายมือภาษาฝรั่งเศสระบุพระนามว่า ประชาธิปก ลิยูเตอนอง โคโลเนล เซียม (Prajatipok Lieutenant Colonel Siam) แฟ้มประวัติการศึกษาส่วนพระองค์นี้ คือ เอกสารชั้นต้นที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นเอกสารในช่วงที่ศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการที่จัดเก็บในหอจดหมายเหตุกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส มีความยาว 24 หน้า ประกอบด้วย รายงานผลการศึกษา คะแนนในแต่ละวิชา บันทึกความเห็นของอาจารย์ผู้สอนชาวฝรั่งเศส รวมทั้งแบบประวัตินายทหารที่สมัครเข้าเรียน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกรอกเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 ด้วยลายพระหัตถ์ชัดเจน ระบุพระนามว่า ประชาธิปก เดอ เซียม (Prajatipok de Siam)

แบบประวัตินายทหารที่รัชกาลที่ 7 ทรงกรอกด้วยลายพระหัตถ์

ในช่วงระหว่างทรงศึกษานั้นพระองค์ทรงได้รับการอบรมวิชาการทหารในประเทศฝรั่งเศสก่อนที่จะทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการ อาทิ

  • การเข้าประจำการในกองทัพน้อย 20 ณ เมืองนองซี่ (Nancy) เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1921 และเสด็จกลับถึงกรุงปารีสวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1922
  • การเข้าอบรมหลักสูตรนายทหารเลื่อนระดับเป็นพันตรี (ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ค.ศ. 1922)
  • การเข้าค่ายฝึกอบรมที่เมืองมายยี (Mailly) (ระหว่าง 1-10 มิถุนายน ค.ศ. 19221)
  • การเข้าอบรมหลักสูตรนายทหารระดับสูงเพื่อนเลื่อนระดับเป็นพันเอก (ระหว่าง มิถุนายน-กรกฎาคม ค.ศ. 1922)
  • การซ้อมรบที่เมืองมายยี (ระหว่าง 1-30 กันยายน ค.ศ. 1922)
  • การเข้าประจำการที่เมืองบิทซ์ (Bitche)

ผลการเรียนเป็นเลิศ

ผลการศึกษาทั้ง 2 ปีใน École de Guerre ของพระองค์จัดอยู่ในระดับดี-ดีมาก โดยในชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 ทรงได้คะแนนในวิชาการวางแผนกลยุทธ์ทั่วไป ซึ่งเป็นวิชาที่ทรงได้รับคำชมมากที่สุด และวิชาปืนใหญ่ซึ่งทำคะแนนได้ดีมากทั้งในชั้นปีที่ 1 และ 2 ส่วนวิชาที่ทรงทำได้น้อยที่สุด คือ ขี่ม้า โดยพระอาจารย์ระบุว่าทรงมีข้อจำกัดด้านพระวรกาย จึง “ฝึกได้เฉพาะม้าที่มีขนาดเล็กและขี่ได้ง่ายเท่านั้น” แต่ก็ยังเชยชมว่า “ทรงมีหลักในการขี่ม้าที่ถูกต้อง ทรงนิ่ง วางพระหัตถ์ได้มั่นคง และไม่แสดงความกลัวใด ๆ”

เสนาธิการทหาร รุ่นที่ 44 กลุ่มที่ 1

ทรงเป็นนักศึกษารุ่นที่ 44 กลุ่มที่ 1 โดยมีเอกสารประวัติโรงเรียนเสนาธิการฝรั่งเศส (A travers l’histoire de l’École Superieure de Guerre et de l’École de perfectionnement) ระบุว่ามีนายทหารเข้าศึกษาในหลักสูตรรุ่นที่ 44 รุ่นปี ค.ศ. 1922-1924 (พ.ศ. 2465-2467) ทั้งหมด 128 นาย เป็นนายทหารฝรั่งเศสจากเหล่าต่าง ๆ อีก 96 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีพระสหายร่วมรุ่น คือ นายพลชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (Charles de Gaulle)  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการทหารและการเมืองของฝรั่งเศสและต่อมาเป็นประธานาธิบดีคนสำคัญของฝรั่งเศส และนายทหารที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ 32 ราย ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นนายทหารสัญชาติอเมริกันและยุโรป โดยมีนายทหารจากเอเชียเพียง 2 ราย คือ นายนาคาชิมะ (Nakashima) จากญี่ปุ่น และ เอส.อา.แอร์ ประชาธิปก (S.A.R. Prajadhipok) จากสยาม

หลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารฝรั่งเศส และทรงได้รับประกาศนียบัตรเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับประเทศสยามถึงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2467 และเข้ารับราชการในตำแหน่ง ปลัดกรมเสนาธิการทหารบกแทนหม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร ที่ทรงย้ายไปประจำกระทรวงการต่างประเทศ และทรงได้รับการเลื่อนพระยศขึ้นเป็นนายพันเอก ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 925) ทรงรับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 และเป็นผู้บังคับหารพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2

สถาบันพระปกเกล้า. (2562). ฝรั่งเศสในพระชนม์พระปกเกล้า. สถาบันพระปกเกล้า.
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2556). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน