พระนามพระราชทานแรก “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันพุธ แรม 14 ค่ำ เดือน 11 ร.ศ. 112 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ณ พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง และได้รับพระราชทานพระนามแรกว่า
“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัยมงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร”
พระนามโดยลำลองในรัชกาลที่ 7 ขณะเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ บรรดาสมเด็จพระเชษฐาและพระเชษฐภคินี ตลอดทั้งคนในวังและผู้ใกล้ชิด เรียกพระองค์ว่า “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” แต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ไม่โปรด ทรงขอให้เปลี่ยนเป็นเรียก “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย”
“ประชาธิปกศักดิเดชน์” ในความหมายทางภาษาบาลีสันสกฤต และอ้างอิงความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จะคำประกอบด้วยคำว่า
ประชาธิปก (ปชา + อธิปก) แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่ชน, ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน
ประชา หมายถึง หมู่คน เช่น ปวงประชา. (ส. ปฺรชา; ป. ปชา)
อธิปก มาจากคำ “อธิ+ปติ+ก” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, อธิปกหรือผู้ปกครอง, ผู้มีอำนาจ
ศักดิเดชน์ (สตฺติ + เตชน = สตฺติเตชน) แปลว่า ลูกศรอันทรงอำนาจ
ศักดิ์ หมายถึง อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).
เดชน์ มาจากคำบาลีว่า “เตชน” (เต-ชะ-นะ) หมายถึง ลูกศร, ปลายลูกศร
พระนามทรงกรม “กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา”
เมื่อพระชนมายุครบ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2448 พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์ พระเชษฐาต่างมารดา เมื่อโสกันต์แล้วจึงเฉลิมพระเกียรติยศเป็นยศเจ้าฟ้าต่างกรม หรือที่เรียกว่า “ทรงกรม” ซึ่งเป็นการรับรองว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยในรัชกาลก่อน ๆ นั้นนิยมพระราชทานพระนามทรงกรมที่มีความหมายในทางมงคลนาม แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิยมจากการเฉลิมพระยศตั้งพระนามกรมแบบต่างประเทศ ดังเช่น ประเทศอังกฤษโดยการนำชื่อเมืองสำคัญในราชอาณาจักรมาต่อท้ายพระนาม จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยนำชื่อเมืองในสยามมาทรงกรมในพระนามของพระโอรสและพระธิดา โดยพระราชทานนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ฯ พร้อมกับจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า
“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัยมงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา”
พระสมณฉายาว่า “ปชาธิโป”
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2460 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ทรงลาราชการเพื่อทรงพระผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ เมื่อทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุได้เสด็จประทับจำพรรษาที่พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า
“ปชาธิโป”
องค์รัชทายาท “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”
เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติ ในขณะนั้นยังมิได้ทรงอภิเษกสมรส พระองค์จึงออกพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งองค์รัชทายาท เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 โปรดเกล้าฯ ให้ตำแหน่งรัชทายาทสืบทอดต่อกัน….สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชชนนี แต่บรรดาพระอนุชาร่วมพระบรมราชชนนีได้สิ้นพระชนม์ก่อนหน้าและในช่วงรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งยังคงเหลือสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ฯ เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นจึงนับได้ว่าพระองค์เป็นองค์รัชทายาทโดยอนุโลม และมีประกาศให้คำนำพระนามเปลี่ยนเป็น
“สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัยมงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา”
ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ทรงพระราชปรารภว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมาราชา ทรงสามารถรับราชการฝ่ายทหารได้เป็นหลักฐานมั่นคง ทรงปฏิบัติราชการโดยพระวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้า ด้วยความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นเหตุให้ทรงชื่นชมโสมนัส จึงประกาศเกียรติคุณสมควรเลื่อนพระเกียรติยศให้ใหญ่ยิ่งขึ้น และมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาขึ้นเป็น
“สมเด็จพระเจ้าลูกน้องเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณ์นารถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงษ์บริพัตร บรมขัตติมหารัชฎาภิสิญจน์พรรโษทัยมงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจฉริยคุณ อดุลยราชกุมาร กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”
หลังจากนั้นไม่กี่วัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรและเสด็จสวรรคตในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่พระนางเจ้าสุวันทา วรราชเทวีประสูติพระราชธิดาเพียงหนึ่งวัน พระบรมวงศ์และเสนาบดีได้ประชุมกันในตอนดึกคืนนั้น ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พร้อมกันกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งบรมราชวงศ์จักรี
พระปรมาภิไธย “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7”
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงรับสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่คืนวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ในระหว่างนั้นมีการขนานพระบรมนามาภิไธยว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นตามการคำนวณพระฤกษ์บรมราชาภิเษกถวาย กำหนดจัดพระราชพิธีในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (นับปีตามแบบไทยโบราณซึ่งใช้เดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) เป็นพระราชพิธีเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 และพระราชพิธีเบื้องปลาย วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีองค์ประกอบพิธีที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ พระราชพิธีการจารึกพระสุพรรณบัฎพระบรมนามาภิไธย
“พระสุพรรณบัฏ” หมายถึง แผ่นทองคำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนา 0.1 เซนติเมตร ความกว้างยาวขึ้นอยู่กับอักษรหรือข้อความที่จะจารึกพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์และพระนามาภิไธยพระนามพระบรมวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เจ้าประเทศราช และสมเด็จพระสังฆราช ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อถวายน้ำอภิเษกแล้ว พระราชครูพราหมณ์จะร่ายเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกลาส และถวายพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธยก่อนที่จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ
“ปรมาภิไธย” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ชื่อ ใช้เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า “ปรม” แปลว่า อย่างยิ่ง และ “อภิไธย” แปลว่า ชื่อวิเศษ ดังนั้น ปรมาภิไธย จึงมีหมายความว่า “ชื่ออันวิเศษอย่างยิ่ง”
พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะประมุขของราชอาณาจักร การผูกพระปรมาภิไธยจึงมีความสำคัญอย่างมาก หลักการตั้งพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความยาวหลายบรรทัด ใช้คำศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤตสื่อความหมายถึงพระคุณวิเศษและสายราชสกุลของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นและสื่อความหมายที่มีความสิริมงคล และมีการเรียบเรียงคำแต่ละประโยคในพระปรมาภิไธยให้มีความคล้องจองกัน มีเสียงสัมผัสในพยัญชนะและสัมผัสสระในวรรค ทำให้เกิดความไพเราะสละสลวยทางภาษา สามารถแบ่งได้ 4 แบบ คือ
1) พระปรมาภิไธยอย่างเต็ม คือ ชื่อจะประกอบด้วยถ้อยคำแสดงพระคุณลักษณะต่าง ๆ มากมายหลายวรรค จารึกลงพระสุพรรณบัฏเมื่อรับพระบรมราชาภิเษก พระปรมาภิไธยอย่างเต็ม ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าพระนามเต็มว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียมหาราชรวิวงศ อสัมภินพงศพีระกษัตร บุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสำศุทธเคราหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูล มหามกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิษอุต์กฤษนิบุญ อดุลยกฤษฏาภินีร์หาร บูรพาธิการสุสาธิตธันยลักษณวิจิตรเสาภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ มงคลลัคนเนมาหวัย สุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชนาวุธ วิชัยยุทธศาสตรโกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญานประดิภาณสุนทร ประวรศาสโนปสดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฐโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณ มหาบรมราชาภิเษกาภิษิกต์ สรรพทศทิควิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชันยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนศรณารักษ วิศิษฏศักตอัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุนยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”
2) พระปรมาภิไธยอย่างมัธยม คือ มีการตัดทอนถ้อยคำแสดงคุณลักษณะพิเศษบางส่วนจากพระปรมาภิไธยอย่างเต็มเพื่อสะดวกต่อการเชิญนำไปใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ พระปรมาภิไธยอย่างมัธยมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามว่า
“สมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี พระปกเกล้าเจ้าแผ่นดิน”
3) พระปรมาภิไธยอย่างสังเขป คือ พระปรมาภิไธยที่ยกมาแต่พระนามจริงและพระนามแผ่นดินเท่านั้น และพระปรมาภิไธยย่อ ซึ่งเป็นการย่อพระปรมาภิไธยให้เหลือเพียง 3 ตัวอักษร โดยส่วนมากมักใช้เป็น ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธี และงานเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งพระปรมาภิไธยที่ลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญต่าง ๆ
พระปรมาภิไธยอย่างสังเขปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระปรมาภิไธยย่อ คือ
“ปปร” ย่อมาจาก “มหาประชาธิปก ปรมราชาธิราช”
ส่วนการทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยว่า
“ประชาธิปก ปร.”
พระนามหลังสละราชสมบัติ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ทรงมีพระราชหัตเลขาทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคมพ.ศ. 2478 โดยมิได้แต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแต่งตั้งพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ตามวิถีทางรับธรรมนูญ พระองค์ทรงกลับมาใช้พระนามเดิมตามพระราชอิสริยยศเดิม คือ
“สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”
หลังจากนั้นเมื่อครั้นที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2492 ได้มีการออกหมายกำหนดการรับพระบรมอัฏฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและการพระราชกกุศลทักษิณานุปทาน 2492 ในเอกสารสารดังกล่าวมีการออกพระนามว่า
“สมเด็จพระบรมราชปิตุลา เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7”
ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
พระปรมาภิไธยสมเด็จพระมหากษัตริย์
ธงทอง จันทรางศุ, “พระปรมาภิไธย”, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 เมษายน 2562
ราชกิจจานุเบกษา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
ราชกิจจานุเบกษา รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม
ราชกิจจานุเบกษา พระราชกฤษฎีกา ตั้งผู้แทนสำเร็จราชการแทนพระองค์ พ.ศ. 2476
ราชกิจจานุเบกษา หมายกำหนดการรับพระบรมอัฏฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและการพระราชกกุศลทักษิณานุปทาน 2492
หนังสือ “ประชาธิปก พระบารมีพระปกเกล้า”