STOU Read it Now! Ep.9 ศัพท์สรรพรรณนา หนังสือที่ว่าด้วยการเลือกสรรคำไทย

STOU Read it Now! Ep.9 ขอแนะนำหนังสือของห้องสมุด มสธ. โดยหนังสือใหม่ที่แนะนำใน ep. นี้ ขอเอาใจผู้ใช้บริการรักในการอ่านหนังสือภาษาไทยที่ว่าด้วยการเลือกสรรคำไทย ความหมาย ถ้อยคำ สำนวนในภาษาไทย พร้อมยกตัวอย่าง การใช้ในบริบทที่แตกต่างกันไป ทั้งตัวอย่างจากวรรณคดี วรรณกรรมทั่วไป และสำนวนการพูดในอดีตจนถึงปัจจุบันกับ หนังสือที่มีชื่อว่า “ศัพท์สรรพรรณนา”

หนังสือศัพท์สรรพรรณนา เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรัชญา ปานเกตุ

เนื้อหาภายในเล่มกล่าวถึง การเลือกสรรคำที่ใช้กันอยู่ในสังคมไทยทุกถิ่น และเป็นคำง่าย ๆ ซึ่งพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ทำให้น่าสนใจด้วยการอธิบายคำหลักและแตกลูกคำ พร้อมบอกความหมายและหลักฐานที่ใช้อย่างครบถ้วน ปิดท้ายด้วย “เรื่องจริง” ซึ่งสอดคล้องกับคำศัพท์ อันเป็นเสน่ห์ของการเขียนที่ชวนอ่าน และแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะว่าด้วยการเลือกคำศัพท์ง่าย ๆ มา “พรรณนา” ก็ไม่ใช่หนังสือประมวลศัพท์ธรรมดา ๆ แต่เป็นงานที่มีหลักวิชาการทางภาษา พร้อมกับเป็นบันทึกวัฒนธรรม นอกจากผู้อ่านจะได้รับความรู้ด้านภาษาแล้ว ยังได้รับความรู้เรื่องชีวิตไทยในหลายภูมิภาค แสดงให้เห็นคุณค่าของ “วิถีไทย” ที่ไม่จำกัดขอบเขตด้วยเทศะและกาลสมัย

หนังสือเล่มนี้มีการเลือกสรรคำศัพท์ง่ายๆ มา “พรรณนา” ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มคำศัพท์ได้ 3 ประเภท ดังนี้

1. คำพูด หรือถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มาอธิบายความหมาย ทำให้เห็นพัฒนาการทางภาษา อย่างชัดเจน เช่น คำว่า “ด่า” “คลอน” “ตอก” “ชุบ” “ลัด”  ของกินของใช้ธรรมดาๆ เช่น คำว่า “ขนมเทียน”  “มะปราง-มะยง”

2. คำจากสำนวนไทย เป็นถ้อยคำที่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบ เป็นคติคำสอน ที่มีความหมายแฝง เช่น คำว่า “พิมเสนกับเกลือ” “พกหิน พกนุ่น”

3. คำภาษาถิ่นหรือคำโบราณ เป็นภาษาที่ใช้เพื่อสื่อความหมาย ความเข้าใจกัน ระหว่างผู้อยู่อาศัยตามท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น คำว่า “เพศบ้าน”

จากประเด็นที่สรุปเป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนจาก หนังสือศัพท์สรรพรรณนา ซึ่งหนังสือเล่มนี้ล้วนเปี่ยมไปด้วยสาระความรู้ อ่านสนุกเหมือนกับหนังสือบันเทิงคดี และมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นหนังสือภาษาไทยที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษามรดกวัฒนธรรมทางภาษาของชาติเหมาะกับผู้อ่านทุกเพศ ทุกวัย ทั้งนี้ ผู้ใสนใจสามารถติดต่อขอยืมเพื่อใช้บริการได้ที่ห้องสมุด  มสธ. ตรวจสอบสถานะ