๑๗
แนวพระราชดำริการปกครองท้องถิ่นในรัชกาลที่ 7

รูปแบบการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น “เทศบาล” เริ่มมีใช้ตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เรียกว่า “ศุขาภิบาล” ตามกฎหมายในปี พ.ศ. 2440 โดยคณะกรรมการศุขาภิบาลได้รับการแต่งตั้งจากข้าราชการและกำนันผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาใน พ.ศ. 2452 ช่วงปลายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงการศุขาภิบาลให้เป็นการปกครองตนเองที่เรียกว่า ประชาภิบาล (municipality) แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม

รัชกาลที่ 7 ทรงริเริ่มปรับปรุงการปกครองท้องถิ่น “เทศบาล”

จนมาถึง พ.ศ. 2469 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้เป็นแบบเทศบาล เพื่อให้เป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังพระราชดำริที่ปรากฎในพระราชบันทึก “Democracy in Siam” ความว่า “…การศึกษาของเราเพื่อไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในที่ต่าง ๆ …จะเป็นปัจจัยที่จะสอนให้ประชาชนรู้จักใช้สิทธิเลือกตั้ง และจะเป็นประโยชน์เป็นการให้ความรู้ไปในตัว ประชาชนได้รู้จักเข้าควบคุมกิจการท้องถิ่นด้วยตัวเอง…” ในขณะนั้นทรงมีหนังสือสั่งการให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคิดอ่านเรื่องการจัดวางการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ทั้งกรุงเทพฯและหัวเมือง

นอกจากนี้พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับประจำวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2474 มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

เรากำลังเตรียมออกพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นมาใหม่ เพื่อทดลองเกี่ยวกับสิทธิเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ …ข้าพเจ้าเห็นว่าสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนควรจะเริ่มต้นที่การปกครองท้องที่ในรูปแบบเทศบาล ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชาชนควรจะมีสิทธิมีเสียงในกิจการของท้องถิ่น …และมีประสบการณ์อย่างดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งในกิจการปกครองท้องถิ่น”  

ลายพระหัตถ์ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยรายงานของ นาย อาร์.ดี.เครก ประธานกรรมการจัดการประชาภิบาล

ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2473

พระราชดำริรัชกาลที่ 7 ที่จะปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้เป็นแบบเทศบาล ยังผลให้เกิดร่างพระราชบัญญัติเทศบาล โดยกระทรวงมหาดไทยได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมเสนาบดีสภา เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2473 ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเนื้อหาทั้งหมด 70 มาตรา โดยให้มีสภาเทศบาลประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ที่เสียภาษีท้องถิ่นแต่ไม่ได้รับเงินเดือนจากทางราชการ โดยมีนายกสภาซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และมีความรู้ภาษาไทยระดับอ่านออกเขียนได้ ในระยะแรกสภาเทศบาลมาจากการแต่งตั้ง แต่มีการวางมาตรการไว้ว่าให้มีการเลือกตั้งในภายหน้า โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ใช้ทรัพย์สิน เช่น ผู้เช่า ในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรมาอย่างน้อย 15 ปี  

อย่างไรก็ตามที่ประชุมเสนาบดีสภายังไม่เห็นด้วยกับหลักการบางประการในร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมร่างกฎหมายพิจารณาตรวจทำบันทึกความเห็นและเปรียบเทียบหลักการกับกฎหมายของประเทศเอกราช เช่น ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น แต่การพิจารณาเรื่องนี้ไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 

พัฒนาการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล 

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476”  เป็นกฎหมายเทศบาลฉบับแรกที่ก่อกำเนิดขึ้นในยุคระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้การผลักดันของนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองท้องถิ่นเหมือนอารยประเทศ ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลพุทธศักราช 2476 แล้ว ในสมัยต่อมาก็ได้มีการตรากฎหมายแม่บทของเทศบาลออกมาอีกหลายฉบับ ดังนี้ 

  1. พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2481 
  1. พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2486 มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง ใน พ.ศ. 2487  
  1. พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 14 ครั้ง 
  1. พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 (ฉบับปัจจุบัน)

24 เมษายนของทุกปี เป็น “วันเทศบาล”

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันเทศบาล” เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล 

กล่าวโดยสรุปคือ แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้เป็นแบบเทศบาล เป็นการพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างมีแผน โดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยในขณะนั้น และทรงเห็นว่าการที่จะให้ระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในอนาคตนั้น ก่อนอื่นจะต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจระบอบการเมืองการปกครอง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีความคุ้นเคยกับการปกครอง 

มรุต วันทนากร. (2547). สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย: หมวดที่ 3 ลำดับที่ 3 เรื่อง เทศบาล. สถาบันพระปกเกล้า. 
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว.. สู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th/

วราภรณ์ ยงบรรทม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

  

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน