เนื่องในเดือนธันวาคม มีวันสำคัญของชาติและเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย คือวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี และได้ประกาศให้เป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อระลึกถึงวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศที่เป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม
จริงหรือไม่? ที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเตรียมความพร้อมในการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ก่อนแล้ว ย้อนชมภาพประวัติศาสตร์พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวร) และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การชมพานรัฐธรรมนูญ กำเนิด “นางสาวสยาม” หรือ นางสาวไทยในปัจจุบัน และการออกร้านจัดแสดงสินค้าอย่างซอสพริกศรีราชา ซอสเจ้าแรกที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ซึ่งบางกิจกรรมนั้นยังคงมีสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
ความหมาย “รัฐธรรมนูญ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมาย ดังนี้
รัฐธรรมนูญ [รัดถะทำมะนูน, รัดทำมะนูน] หมายถึง บทกฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ กำหนดรูปแบบและระบอบการปกครองของประเทศ สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชน อำนาจหน้าที่ขององค์กร และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ [สมบูระนายาสิดทิราด] หมายถึง ระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ
ประชาธิปไตย [ปฺระชาทิปะไต, ปฺระชาทิบปะไต] หมายถึง ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่, การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่
รัชกาลที่ 7 ทรงเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ
แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวสยาม เพราะเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 6 ถึงแม้ชนชั้นปกครองจะมีการปรับตัวมาเป็นระยะ จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งพระทัยว่าจะมอบ “คอนสติติวชัน” ให้กับชาวไทย ตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา โดยพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 2 ฉบับ ได้แก่ Outline of Preliminary Draft ของพระยากัลยาณไมตรี และ An Outline of Changes in the Form of the Government ของนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)
แต่อย่างไรก็ดีผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า การมีรัฐสภานั้นยังไม่จำเป็น แต่สนับสนุนให้มีสภาเทศบาลในระดับท้องถิ่นขึ้นก่อน เพราะเห็นว่า ความปรารถนาที่จะมีการปกครองโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางนั้นไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในสยาม ทำให้สถานการณ์ขณะนั้นยังไม่ควรที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ควรจะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยปูพื้นฐานการปกครองระบอบใหม่ให้แก่ประชาชนต่อไป
24 มิถุนายน 2475 ปฐมบทแห่งประชาธิปไตย
การพระราชทานรัฐธรรมนูญตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมิได้เกิดขึ้น ก็เกิดเหตุการณ์ “การปฏิวัติสยาม” ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จากกลุ่ม “คณะราษฎร” นำโดย นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งมีแนวคิดในการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมองว่าระบอบเดิมล้าหลังไม่สามารถนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ จึงได้ทำการยึดอำนาจโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบปกครองประชาธิปไตย เหตุการณ์ในตอนนั้นมีการจับกุมพระบรมวงศ์และข้าราชการตำแหน่งสำคัญไว้เป็นตัวประกัน และได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระนคร เพื่อเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อทราบข่าวพระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จากหัวหินสู่กรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง เพื่อให้ความร่วมมือกับคณะราษฎรและเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของบ้านเมืองให้กลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ระงับเหตุที่อาจนำไปสู่การรบจนนองเลือดได้
27 มิถุนายน 2475 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถึงกรุงเทพฯ คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ วังศุโขทัย เพื่อถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินและลงพระปรมาธิปไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน หลังจากที่พระองค์ได้ฟังรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินทรงรู้สึกว่าเนื้อหายังไม่ตรงกับความประสงค์และไม่เป็นประชาธิปไตยแบบอารยประเทศ จึงได้มีพระราชดำรัสขอรัฐธรรมนูญดังกล่าวไว้เพื่ออ่านศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ก็ทรงเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังมีความบกพร่อง แต่ไม่อยากแก้ไขให้ราษฎรต้องเสียเวลาและความรู้สึก และหากเห็นว่าเมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้วจึงคอยร่างฉบับถาวรขึ้นมาใหม่ จึงทรงยินยอมลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อว่า “ชั่วคราว” เป็น พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และพระราชทานให้แก่คณะราษฎร เพื่อให้เริ่มปกครองสยามประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นทรงให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อปรับปรุงข้อกฏหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ให้มีความเสถียรภาพมากขึ้น
10 ธันวาคม 2475 รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทย
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฉบับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย ในวันดังกล่าว พระองค์เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้นพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ประธานคณะกรรมการราษฎร) เชิญฉบับรัฐธรรมนูญซึ่งเขียนในสมุดไทยเพื่อลงพระปรมาภิไธยทีละฉบับ รวม 3 ฉบับ หลังจากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรเชิญฉบับรัฐธรรมนูญไปยืนที่ลานพระที่นั่งอนันตสมาคมทิศใต้ พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกสีหบัญชรทักษิณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โปรดเกล้าฯ ให้อ่านประกาศดำเนินกระแสพระบรมราชโองการพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรสยามจบแล้วนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรชูพานฉบับรัฐธรรมนูญเป็นการแสดงให้ประชาชนได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนแล้ว
งานฉลองรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้สมกับเป็นงานสำคัญของประเทศที่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเห็นควรให้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11-12 ธันวาคม พ.ศ.2475 ณ ท้องสนามหลวง สวนสราญรมย์ และบริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม
รัฐบาลจัดขบวนแห่รัฐธรรมนูญไปรอบเมือง พร้อมขบวนแห่จากหน่วยราชการ ข้าราชการ ประชาชนและนักเรียนทั่วกรุงเทพฯ ที่ร่วมกันประกาศก้องถึงการมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักของการปกครองแทนบุคคล ริ้วขบวนดังกล่าวแห่ผ่านหน้าพระพักต์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับทอดพระเนตรขบวนแห่รัฐธรรมนูญที่พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ปราสาท ริมถนนสนามไชย ที่ท้องสนามหลวง
นอกจากนี้ยังมีการแสดง โขน ละคร ลิเก เพลงจำอวด งิ้ว และปิดท้ายงานด้วยการจุดดอกไม้ไฟในยามเที่ยงคืนของทั้งสองวัน ส่วนที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นมีปะรำสำหรับจัดแสดงพานใส่รัฐธรรมนูญฉบับจริงไว้และเปิดแสดงให้ประชาชนได้รู้จักว่าสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดได้มีการจัดงานรื่นเริงฉลองรัฐธรรมนูญด้วย เช่นที่ สโมสรจังหวัดสงขลาที่จัดสร้างขึ้นใหม่ที่ริมทะเล มีงานออกร้านที่ “หรูหรามาก ครึกครื้นตลอดงาน” รวมถึงยังจัดที่สถานทูตไทยในต่างประเทศ อาทิ ปีนัง ปารีส ลอนดอน นาโงยา โตเกียว สิงค์โปร์ ฮัมบูร์ก โรม ไซ่ง่อน มะนิลา และจาร์กาตา เป็นต้น
การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงเป็นการฉลองเหตุการณ์สำคัญที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเท่านั้น แต่ยังมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่เข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญ และหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันได้แก่ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ซึ่งได้มีการแสดงสัญลักษณ์ เช่น รัฐธรรมนูญจำลอง เสา 6 เสา ธง 6 ผืน เป็นต้น
พานแว่นฟ้าสัญลักษณ์ประชาธิปไตย
สัญลักษณ์ที่เป็นภาพจำของระบอบประชาธิปไตยไทย คือ รัฐธรรมนูญที่ทูนอยู่บนพานแว่นฟ้า หมายถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือน 3 และอำนาจอธิปไตย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยผู้คิดค้น เรื่องการสร้างพานรัฐธรรมนูญก็คือ นายจำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ส่วนการออกแบบสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญให้เป็นพานรัฐธรรมนูญมีที่มาจากกรมศิลปากร โดยการปรึกษาหารือเรื่องการออกแบบระหว่างหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร และหลวงประดิษฐมนูธรรม
พานแว่นฟ้า การสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นของสูง สื่อได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ และอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับพระมหากษัตริย์ สร้างเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2477 จำนวน 69 ชุด โดยส่งไปประดิษฐานตามแต่ละจังหวัด และอีก 1 ชุด ประดิษฐาน ณ ที่ทำการใหญ่ของสมาคมคณะรัฐธรรมนูญ พระราชอุทยานสราญรมย์ ไม่เพียงแต่แนวคิดของการสร้างพานรัฐธรรมนูญเท่านั้น ยังมีเรื่องของ “พิธีกรรม” เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้รัฐธรรมนูญเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการให้ประชาชนเข้าสักการะบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และปฏิญาณตนต่อหน้าพานรัฐธรรมนูญ
การชมพานรัฐธรรมนูญ
การชมพานรัฐธรรมนูญ ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของานฉลองรัฐธรรมนูญ ในกรุงเทพฯ มีการจัดแสดงหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม คือ กระโจม หรือ ปะรำ เพื่อจัดแสดง “พานใส่รัฐธรรมนูญฉบับจริง” เป็นพานทองสองชั้นและมีสมุดไทยเล่มยาวเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปกครองสยามต้นฉบับตัวจริงวางไว้ด้านบน เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับจริง และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความเคารพ
นอกจากนี้ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ได้มีการออกร้านจัดแสดงสินค้า สำหรับสินค้าที่มีความโดดเด่น ได้แก่ ซอสพริกศรีราชา ตราเหรียญทอง
ซอสพริกศรีราชา เจ้าแรกแห่งสยามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2475
ซอสพริกศรีราชา ถือเป็น 1 ร้านค้าของไทยไปออกร้านจัดแสดงสินค้าในงานฉลองรัฐธรรมนูญ และได้ส่งผลผลิตเข้าประกวดในงานจนได้รับรางวัลเหรียญทองสินค้าคุณภาพของคนไทยติดต่อกันหลายปี ด้วยรสจัดจ้านและมีประวัติศาสตร์เกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ดั่งเช่นเรื่องเล่าที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ริเริ่มเรียกเครื่องปรุงรสชนิดนี้ว่า “ซอสพริก” หรือแม้แต่ที่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ ที่นิยมอุดหนุนซื้อซอสพริกกับทางร้านเป็นประจำ ปัจจุบันหัตถกรรมมาคารยังคงผลิตและใช้โลโก้ซอสพริกที่หน้าตาเหมือนเดิมทุกประการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ซึ่งรูปเหรียญรางวัลที่ได้จากงานประกวดฉลองรัฐธรรมนูญติดอยู่เหนือชื่อยี่ห้อไม่ต่ำกว่า 7-8 เหรียญ เพื่อเป็นการการันตีมาตรฐานและคุณภาพ
กำเนิด “นางสาวสยาม” ต้นแบบนางสาวไทย
ในปี พ.ศ. 2477 การประกวดนางสาวสยามเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ จัดที่พระราชอุทยานสราญรมย์ สโมสรคณะราษฎร เพื่อการเปิดโอกาสให้สตรีแสดงสิทธิสำแดงตัวตนในสังคมใหม่ พร้อมแสวงหาสัญลักษณ์ที่เป็นศรีสง่าแก่ระบอบประชาธิปไตยและชาติ โดยผู้เข้าประกวดจะต้องแต่งกายด้วยชุดไทย ผลการประกวดผู้ชนะครองตำแหน่งนางสาวสยาม เป็นคนแรกของสยาม คือ นางสาวกันยา เทียนสว่าง เข้าประกวดในนามของจังหวัดพระนคร ของรางวัลที่ได้รับ คือ มงกุฎโครงทำด้วยเงินประดับเพชร หุ้มกำมะหยี่ปักด้วยดิ้นเงิน ล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ ขันเงินสลักชื่อ นางสาวสยาม 77 และเงินสด 1 พันบาท
การประกวดนางสาวสยามจัดขึ้น 5 ครั้ง ตำแหน่งนางสาวสยามคนสุดท้ายของประเทศ คือ คุณพิศมัย โชติวุฒิ ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินสด 1,500 บาท ถ้วยเงินใบใหญ่จำนวน 1 ใบ พร้อมมงกุฎ และเข็มกลัดทองลงยารัฐธรรมนูญ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อจาก “นางสาวสยาม” มาเป็น “นางสาวไทย” ในปี พ.ศ. 2482 เนื่องจากมีการเปลี่ยนชื่อประเทศตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนจากคำว่า “สยาม” เป็นคำว่า “ไทย”
ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีการจัดประกวดนางสาวไทยอยู่ แต่มีการปรับรูปเปลี่ยนแบบใหม่ให้ตรงกับบริบทสังคมมากขึ้น โดยเฟ้นหาตัวแทนสาวงามจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดนางงามจักรวาล
งานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องของการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการตื่นตัวในทางสังคมด้วย ถือเป็นงานรื่นเริงที่ประชาชนเข้าร่วมได้อย่างผ่อนคลาย งานฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี และได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนที่จะถูกลดบทบาทลงในช่วงหลังการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2490 และยกเลิกอย่างถาวรหลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. ในปี พ.ศ. 2500
เรียบเรียงโดย
ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ
รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://fb.watch/oZjsBiyMIm/
YouTube: https://youtu.be/aEXiMj47-4A
Spotify: https://spotify.link/Om7KJG5uWDb
SoundCloud: https://on.soundcloud.com/G8V1G