บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST SS2 EP.9 “ เที่ยวปีใหม่อย่างมีความสุข ลดการใช้ขยะ ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม”

เที่ยวปีใหม่อย่างมีความสุข ลดการใช้ขยะ ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
การรีไซเคิลของใช้ซ้ำ : ความสำคัญของการแยกขยะ และการนำขยะที่ย่อยสลายได้มา compost หรือทำปุ๋ย

ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ หลายท่านก็ได้รับของขวัญ ของที่ระลึกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระเช้าใส่ผักผลไม้ คุกกี้กล่องสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการพบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารมื้อพิเศษร่วมกัน ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่าทุกกิจกรรมที่กล่าวมาต้องมีขยะที่เกิดจากการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวัน หากถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้ เราจะมาช่วยลดขยะที่เกิดจากการใช้ในชีวิตประจำวันกันค่ะ

หนึ่งในแนวคิด ในการลดปริมาณขยะ ที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ คือ การจัดการขยะด้วย หลัก 7R ประกอบด้วย

  1. Refuse – ปฏิเสธสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ใดก็ตามที่ก่อให้เกิดขยะเช่น งดรับถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้าหรือ
    ตระกร้าแทน เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก
  2. Reduce – ลดการใช้ คิดก่อนใช้ ควบคุมปริมาณการใช้ให้อยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ ลดการใช้ที่ไม่จำเป็นลง เช่น เลือกซื้อของขวัญ ของฝากที่บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เลือกรับประทานอาหารที่ร้านแทนการห่อกลับ หรือใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  3. Reuse – นำกลับมาใช้ซ้ำ การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำสิ่งของเครื่องใช้มาใช้ซ้ำ เช่น กระเช้าของขวัญปีใหม่ที่ได้รับ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้
  4. Refill – การเติม เลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์เติมได้ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ยอมเสียเวลาเล็กน้อยในการเติม เพื่อช่วยลดขยะ
  5. Repairการซ่อมแซม การซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนานมากขึ้น แทนที่จะนำไปทิ้งไปในทันที เช่น เสื้อผ้าที่ขาด สามารถนำไปเย็บซ่อมแซม โดยที่ไม่ต้องทิ้งเป็นขยะ
  6. Return การส่งคืน เลือกใช้สินค้าที่ส่งคืนได้ เช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลมประเภทคืนขวด
  7. Recycle – นำกลับมาใช้ใหม่ โดยการคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่  เพื่อหมุนเวียนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต เช่น ขวดแก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ เลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัสดุ รีไซเคิล หรือสินค้าที่นำกลับมารีไซเคิลได้

และเพื่อการจัดเก็บขยะที่ถูกต้อง เราควรมีถังขยะที่แยกสี และแยกประเภทของขยะนั้น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใน
การดูแล และสามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ดังนี้

ถังขยะสีเขียว คือ ขยะที่เน่าเสียและยอยสลายได้เร็ว  สามารถนำมาหมัก ทำปุ๋ยได้ เช่น ผัก ผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้
ถังขยะสีเหลือง คือ ขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือขายได้ เช่น แก้วกระดาษ พลาสติก โลหะ
ถังขยะสีแดง หรือ ถังขยะสีเทาฝาสีส้ม คือ ขยะที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดยา ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง ภาชนะบรรจุสารอันตรายต่าง ๆ
ถังขยะสีฟ้า คือ ขยะย่อยสลายไม่ได้ไม่เป็นพิษและไม่คุ้มค่าต่อการรีไซเคิล เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก โฟม และฟอล์ยที่เปื้อนอาหาร นอกจากนี้ควรมีถุงพลาสติกสำหรับรองรับขยะในแต่ละถัง

เมื่อแยกขยะเรียบร้อยแล้ว อย่าลืม คัดแยกขยะอาหาร เนื่องจากขยะอาหารเป็นอีกสาเหตุของก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น เศษอาหาร ผัก ผลไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ที่เหลือจากในครัวหรือในสวน สามารถนำมาผ่านกระบวนการเพื่อผลิตปุ๋ยหมักใช้ได้ในราคาถูก ช่วยในการลดขยะและยังประหยัดเงิน แถมยังทำให้ต้นไม้ในสวนเจริญเติบโตงอกงามอีกด้วยค่ะ

อ้างอิง
คิดเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน.(ม.ป.ป.). แยกขยะให้ถูกวิธี ดีต่อเรา ดีต่อโลก.[Image]. https://www.sustainablelife.co/news/detail/74
ฉลาดซื้อ นิตยสารออนไลน์. (2564). ฉบับที่ 246 หลัก 7R ที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถใช้เพื่อลดขยะ.[Image]. https://www.chaladsue.com/article/3822
พลชัย เพชรปลอด. (2563). 5 แนวคิดพิชิตขยะสู่โรงไฟฟ้า.  สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
https://opac01.stou.ac.th/cgi-bin/koha/opac-detail.pl?biblionumber=161641
วิสันต์ ปิ่นสุวรรณ์. (2561). การพัฒนาคู่มือครอบครัวในการจัดการขยะครัวเรือน [การศึกษาค้นคว้าอิสระปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช].
https://ir.stou.ac.th/handle/123456789/1876
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสิงห์บุรี อ่างทอง. (ม.ป.ป.). การนำขยะกลับมาใช้ใหม่  (Reduce Reuse and Recycle: 3Rs).สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสิงห์บุรี อ่างทอง.
https://www.sesasingthong.go.th/?p=7138

เรียบเรียงโดย
นางสาวภัทรภร  พื้นพรหม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ