10 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็น “วันรัฐธรรมนูญ” ที่ระลึกถึงเหตุการณ์พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่ง วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็น “วันแห่งพระฤกษ์” ตามการคำนวนพระฤกษ์มหาศุภมงคล โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 ยังทรงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงเป็นผู้เสนอให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม และทรงเสนอให้เชิญคณะทูตานุทูตเข้าร่วมชมพระราชพิธี ทั้งยังให้แผนกโหรหลวง กรมพระราชพิธีคำนวนหา “พระฤกษ์สำหรับพระราชทานรัฐธรรมนูญ”
กำหนดการพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแด่ราษฎรสยาม
เวลา 14.40 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระวิสูตร โดยมีแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ คณะทูตและข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
จากนั้นมหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณนิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรพร้อมด้วยกรรมการราษฎรและเสนาบดี เชิญฉบับรัฐธรรมนูญน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานพนักงานประทับพระราชลัญจกรในรัฐธรรมนูญลงในสมุดไทย 3 ฉบับ โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย 1 ครั้ง ต้องจัดทำขึ้นเป็น 3 ฉบับ คือ ฉบับต้น 1 ฉบับ และคู่ฉบับ 2 ฉบับ หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศดำเนินกระแสพระบรมราชโองการพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามจบแล้ว ซึ่งพิธีระหว่างนี้อยู่ในอุตตมมงคลฤกษ์ ระหว่างเวลา 14.53 นาฬิกา – 15.05 นาฬิกา
ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฉบับพระธรรมนูญแห่งอาณาจักรสยามแด่มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับพระราชทานฉบับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข้าไปรับพระราชทานพร้อมด้วยรองประธาน และเลขาธิการแห่งสภานั้น
หลังจากนั้นชาวพนักงานประโคมสังข์แตรดุริยางค์ กองทหารถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค 10 นัด ตามกำลังวัน และทหารบกทหารเรือจะได้ยิงปืนใหญ่ฝ่ายละ 21 นัด ถัดไปนั้น วัดต่าง ๆ ทุกวัดทั่วพระราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลองเป็นเวลา 10 นาที
มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ ได้มอบให้นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เชิญไปประดิษฐานไว้บนพานทอง 2 ชั้นเหนือตั่งทอง หรือที่เรียกว่า “พานแว่นฟ้า” หลักจากนั้นมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ ได้เชิญฉบับรัฐธรรมนูญไปยืนที่ลานพระที่นั่งอนันตสมาคมทิศใต้พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกสีหบัญชรทักษิณพระที่นั่งอนันตสมาคม ชาวพนักงานกระทั่งแตรประโคมมะโหระทึก กองทหารถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ครั้งสุดเสียงประโคมแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศดำเนินพระกระแสพระบรมราชโองการ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม และประธานสภาผู้แทนราษฎรชูพานฉบับรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกแห่งสยามประเทศ ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 รวมเวลา 13 ปี 4 เดือน 29 วัน โดยประกาศยกเลิกบังคับใช้เนื่องจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มีทั้งหมด 68 มาตรา แบ่งออกเป็นบททั่วไป หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม หมวด 3 สภาผู้แทนราษฎร หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 ศาล หมวด 6 บทสุดท้าย หมวด 7 การใช้รัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
- อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวสยามมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยแบ่งออก เป็น อำนาจนิติบัญญัติ มีสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้และอำนาจตุลาการมีศาลเป็นผู้ใช้
- พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดต้องทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงมีพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ลงนามในสัญญา สันติภาพ ทำสนธิสัญญากับนานาประเทศ และยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ ทรงเรียกและปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนยุบสภาผู้แทนราษฎร
- พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสภาผู้แทนราษฎร ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐมนตรี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีสมาชิก 2 ประเภท ประกอบด้วย สมาชิกประเภทที่หนึ่งมาจากการเลือกตั้ง 2 ชั้น โดยราษฎรชาย หญิงที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ และมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย และภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2475 โดยจัดการเลือกผู้แทนตำบล แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง ส่วนสมาชิกประเภทที่สองได้รับแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี และจะยกเลิกโดยกำหนดระยะเวลาไว้ว่าหากมีจำนวนราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียง เลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรจบการศึกษาขั้นประถมศึกษาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด หรือในระยะเวลา 10 ปี
- กำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ไม่ว่าจะทรงอิสริยยศโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่สามารถปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมักกำหนดให้ทำได้ยากกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายธรรมดา
โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขถ้อยคำ ข้อความหรือเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมแล้ว หรือเป็นการเพิ่มเติมถ้อยคำ ข้อความหรือเนื้อหาใหม่เข้าไป ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ซึ่งตามหลักฐานประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ
- ครั้งที่ 1 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2482 โดยมีประเด็นแก้ไขสำคัญ คือ เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นคำว่า “ประเทศไทย” และบทแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า “สยาม” ให้ใช้คำว่า “ไทย” แทน
- ครั้งที่ 2 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2483 โดยมีประเด็นแก้ไขสำคัญ คือ ขยายระยะเวลาให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิก 2 ประเภท ที่มีการแต่งตั้งจากเวลา 10 ปี เป็น 20 ปี เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เหลือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งประเภทเดียว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่สงครามเริ่มขยายตัวเข้ามาถึงประเทศไทย
- ครั้งที่ 3 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2485 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2485 โดยมีประเด็นแก้ไขสำคัญ การขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ออกไปอีกคราวละไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สงครามโลก ครั้งที่ 2 ขึ้น และเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นได้ จึงขยายระยะเวลาดังกล่าว รวม 2 ครั้ง ในปี 2485 และปี 2487
ท้ายสุดเมื่อสยามประเทศได้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 11-12 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ถือเป็นการให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก
ข้อมูลที่น่าสนใจ
- บทความ “10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก”
- บทความแนะนำ: 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ
- บทความ “ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรสยาม 2475”
ข้อมูลอ้างอิง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม. (2475, 10 ธันวาคม) ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49. หน้า 529-551.
หมายกำหนดการ พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475. (2475, 11 ธันวาคม) ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 49 หน้า 3131-3134.
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. (2536). ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์ เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.
สถาบันพระปกเกล้า. (ม.ป.ป.). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475. https://bit.ly/3Sru60Q
สถาบันพระปกเกล้า. (ม.ป.ป.). การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ. https://bit.ly/3vBBvSb
ผู้เรียบเรียง
ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.