วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในด้านการปกครอง คือ วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภาวะทางด้านการคลังที่ประสบปัญหางบประมาณรายจ่ายขาดดุลในตอนปลายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และด้านการปกครองที่อภิรัฐมนตรีสภามีบทบาทในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การถวายคำปรึกษาในเรื่องการแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของข้าราชการระดับสูง การปกครองท้องถิ่นในรูปเทศบาลเพื่อพัฒนาไปสู่การปกครองระบอบรัฐสภา และโครงการพระราชทานรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงนับว่าอภิรัฐมนตรีสภาอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ด้วยเช่นกัน
ที่มาของการตั้งอภิรัฐมนตรีสภา
การตั้งอภิรัฐมนตรีสภาถือเป็นการปรับปรุงด้านการปกครอง ซึ่งการปรับปรุงเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีการตั้งองค์กรทางการปกครองขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2417 คือ ระบบสภาการแผ่นดิน ซึ่งได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เสนาบดีสภา องคมนตรีสภา และรัฐมนตรีสภา จากการปรับปรุงดังกล่าวมีส่วนเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และความเจริญของประเทศ รวมทั้งมีอิทธิพลเหนือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ดังนั้นเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง 2 วัน คือ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2468 จึงได้ทรงสถาปนาอภิรัฐมนตรีสภาขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านความต้องการที่ปรึกษาในราชการต่าง ๆ เพื่อให้ทรงสามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปด้วยดี และ ด้านการเมืองก่อนขึ้นครองราชย์ สืบเนื่องจากเกิดภาวะด้านการเมือง โดยเฉพาะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-2468) ที่เมื่อครองราชย์ได้ปีเศษก็เกิดมีคณะบุคคลในนาม “คณะปฏิวัติ ร.ศ.130” ได้เตรียมก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้จะประสบความล้มเหลวแต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายาม ดังนั้นรัชกาลที่ 7 จึงทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา เพื่อรวบรวมพระราชวงศ์ที่ทรงอำนาจและเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไปในการสร้างความสามัคคี กลมเกลียวในกลุ่มราชวงศ์ชั้นสูงและสร้างความศรัทธาในกษัตริย์ราชวงศ์จักรีให้เกิดขึ้นกับประชาชน
บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภา
บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภาที่สำคัญในสมัยนั้นคือการถวายความเห็นในเรื่องที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน และให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินใน 2 ด้านสำคัญ คือ
- บทบาทด้านการคลัง เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประสบปัญหางบประมาณ รายจ่ายขาดดุล ดังนั้นภารกิจหลักของอภิรัฐมนตรีสภา คือ หาทางให้รายจ่ายเข้าสู่ดุลยภาพ ด้วยนโยบายการประหยัดและตัดทอน ทำให้มีการตัดทอนงบประมาณรายจ่ายของทหารและพลเรือน ยุบเลิกและรวมหน่วยงาน และดุลข้าราชการออกเป็นจำนวนมาก มีการปรับปรุงระบบจัดเก็บและเพิ่มชนิดภาษี
- บทบาทด้านการปกครอง ในการถวายคำปรึกษาเรื่องการแต่งตั้งและพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการระดับสูง ตั้งแต่อธิบดีจนถึงเสนาบดี การตั้งสภาองคมนตรีและการปกครองท้องถิ่นในรูปเทศบาลเพื่อพัฒนาไปสู่การปกครองระบอบรัฐสภา และโครงการพระราชทานรัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะพระราชทานในวันที่ 6 เมษายน 2475 แต่อภิรัฐมนตรีสภาคัดค้านด้วยเหตุผลสำคัญยังไม่ถึงเวลาอันสมควร เนื่องจากราษฎรยังมีการศึกษาไม่ดีพอ เกรงว่าเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายภายหลัง คำคัดค้านดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลังเลพระทัยว่าควรจะพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อใดจึงจะเหมาะสม ความไม่แน่นอนและเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ทันเหตุการณ์อันเป็นผลทำให้เกิดการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
คณะอภิรัฐมนตรีสภา
ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่ดำรงตำแหน่งสำคัญมาโดยตลอด คือ
1. สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาพิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหลายครั้งในรัชกาลที่ 6 ทรงเคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
2. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาธิการทหารบกและทหารเรือ
3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 อัครศิลปิน ทรงเคยเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวัง ทรงเป็นผู้รู้ในขนบธรรมเนียมเป็นอย่างดี
4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 อัครบัณฑิตทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทรงเป็นอำมาตย์ใหญ่ในราชการพลเรือน ทรงจัดตั้งกระทรวงธรรมการ จัดการปกครองหัวเมือง และทรงจัดกระทรวงมหาดไทยจนมีสมรรถภาพที่เพียบพร้อม
5. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ อัครบัณฑิตภาษาศาสตร์ เสนาบดีกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์
และต่อมาทรงแต่งตั้งเพิ่มเติมอีก 3 พระองค์ คือ
6. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
7. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีด้านการคมนาคม ผู้ก่อตั้งกิจการวิทยุกระจายเสียง การรถไฟ และการท่องเที่ยว
8. พระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
พระราชดำรัสทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 42 หน้า 2618
เอกสารอ้างอิง
ปัทมพร ทัศนา. (2564). รัฐพิธีเปิดประชุมสภา. พิพิธภัณฑ์รัฐสภา
พฤทธิสาณ ชุมพล. (2563). รัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476 และการเสด็จฯ ออกไปประพาสยุโรป. สถาบันพระปกเกล้า.
เดอะสแตนดาร์ด. (2566). ย้อนประวัติ 90 ปีรัฐพิธีเปิดประชุมสภาไทย จาก 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงประชาธิปไตย 2566. https://thestandard.co
ผู้เรียบเรียง
ยวิญฐากรณ์ ทองแขก บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.