STOU Read it Now! ep.ที่ 11 จะมาแนะนำวารสารใหม่ 2 ชื่อเรื่อง คือ วารสารทิศไทฉบับตุลาคม-ธันวาคม 2566 และวารสารศิลปวัฒนธรรมฉบับธันวาคม 2566 ซึ่งกล่าวถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 10-25 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย ต่อจากเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมีอายุกว่าพันปีเลยทีเดียว แต่ยังทิ้งร่องรอยอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ไว้ สังเกตได้จากสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่มากมายที่ยังหลงเหลืออยู่ แสดงถึงความรู้ ความก้าวหน้าในการออกแบบก่อสร้าง
มาเริ่มกันที่เล่มแรกกับวารสารทิศไทฉบับตุลาคม-ธันวาคม 2566 ที่จะพาไปรู้จักกับข้อมูลเบื้องต้นของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ซึ่งจากข้อมูลต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเป็นสถานที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์เลยทีเดียว รวมระยะเวลากว่า 800 ปี ก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยจะเข้ามาเสียอีก และก่อนที่จะล่มสลายไปด้วยสาเหตุที่คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้ง ซึ่งความโดดเด่นของสถานที่แห่งนี้นะคะ ก็จะเป็นทางด้านสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง การออกแบบภูมิทัศน์ โดยพื้นที่ในส่วนเมืองโบราณศรีเทพมีประมาณ 2,889 ไร่ มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบเมือง นอกจากนี้ยังได้แนะนำการท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพไว้ด้วย สำหรับผู้ที่สนใจหรือมีแพลนที่จะท่องเที่ยว
มาต่อกันกับวารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2566 ที่จะพาไปรู้จักในเชิงลึกมากขึ้น ว่าผู้คนในสมัยทวารวดีใช้ชีวิต มีความเป็นอยู่ มีศิลปวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง สำหรับวารสารเล่มนี้ได้มีการกล่าวถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพไว้หลายบทความเลยทีเดียว เช่น จารึกสำคัญเมืองศรีเทพ ร่องรอยวัฒนธรรมทวารวดีในลุ่มน้ำป่าสัก โดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ในบทความนี้กล่าวถึงศิลาจารึกที่มีเนื้อหาด้านการปกครอง โดยศิลาจารึกนี้เป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กล่าวถึงการสรรเสริญกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองศรีเทพ มีศิลาจารึกเนื้อหาด้านพระพุทธศาสนา คาถาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
บทความต่อมาจะพาไปชมว่าผู้คนในสมัยนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร กับ ท่องไปในศรีเทพ เมืองโบราณมรดกโลก โดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร จะพาไปชมผังเมืองของเมืองศรีเทพ ที่ประกอบด้วยเมืองในและเมืองนอก เมืองในจะมีรูปเป็นวงกลมคาดว่าจะเป็นเมืองในสมัยแรก แต่เมื่อมีการขยายของเมืองเนื่องจากประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงได้มีเมืองนอกตามมา โดยเมืองนอกจะพบโบราณสถานที่มีขนาดเล็ก อยู่กระจายตัวไม่เกาะกลุ่มเหมือนเมืองใน แต่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการมีสระน้ำโบราณจำนวนมาก แสดงถึงการเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เลยทีเดียว
หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สามารถอ่านได้ที่ มุมวารสาร ชั้น 1 อาคารบรรณสาร หรือห้องสมุด มสธ