STOU Storian Podcast EP.12 ปฏิทินปีใหม่

เนื่องจากเดือนมกราคมเป็นเดือนเริ่มต้นของศักราชใหม่ เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองเพื่อต้อนรับปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ทราบว่าในปีนี้มีวันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ รวมถึงวันสำคัญต่าง ๆ ตรงกับวันไหนบ้าง นั่นก็คือ ปฏิทิน นอกจากนี้ปฏิทินยังให้สาระความรู้และภาพสวยงามที่เกิดจากแนวคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบของผู้จัดทำ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้สามารถนำไปเป็นของขวัญหรือของที่ระลึกมอบให้แก่กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ได้

ความหมายของ “ปฏิทิน” และ “Calendar”

ปฏิทิน” ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554  หมายถึง แบบสำหรับดูวัน เดือน ปี

“Calendar” แปลว่า ปฏิทิน มีรากศัพท์คำเก่าที่มาจากคำว่า “Kalendar” เป็นคำมาจากภาษาโรมันซึ่งนำมาจากคำพูดของชาวกรีกโบราณคำว่า “Kalend”ในภาษาอังกฤษ หมายถึง I cry แปลได้ว่า “การร้องบอก”

ประวัติศาสตร์การนับเวลาสู่ “ปฏิทินโลก”

ในสมัยโบราณมนุษย์ดำรงชีวิตตามสัญชาตญาณ เมื่อเกิดภัยพิบัติมนุษย์จะเริ่มสังเกตสิ่งรอบตัวรวมถึงท้องฟ้าและดวงดาว กระทั่งพบว่าบางครั้งภัยธรรมชาติมาพร้อมกับดาวบางดวงบนท้องฟ้า ทำให้มนุษย์เริ่มสนใจสิ่งที่อยู่บนท้องฟ้าและนำมาเทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต การคาดคะเนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าจะมีคนคอยประกาศหรือร้องบอกชาวบ้านก่อน รวมถึงการประกาศวันขึ้นเดือนใหม่ มนุษย์จึงได้คิดค้นสิ่งที่บ่งบอกเวลาและใช้แทนคนร้องบอกข่าว ต่อมาได้ริเริ่มบันทึกวันและเวลาเป็นลายลักษณ์อักษร ที่เรียกกันว่า “ปฏิทิน”

ปฏิทินยุคโบราณ (ชาวบาบิโลเนียน) ผู้คิดค้นปฏิทิน

ปฏิทินยุคโบราณ (ชาวบาบิโลเนียน) จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในปัจจุบันเชื่อกันว่าชนชาติแรกที่คิดค้นระบบการนับวันแบบปฏิทินนั้นคือ ชาวบาบิโลเนียน ซึ่งได้กำหนดวัน เดือน ปี โดยสังเกตจากระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์ โดยการสังเกตข้างขึ้นข้างแรม เมื่อเกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 1 รอบ จะถือเป็น 1 เดือน และยังกำหนดให้ 1 ปี มี 12 เดือน ด้วยสาเหตุที่เมื่อเกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ 12 รอบ ฤดูกาลก็จะเวียนกลับมาอีกครั้ง 

หลังจากนั้นอาณาจักรใกล้เคียงได้นำเอาปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาใช้ในอาณาจักรตนเอง เช่น ชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีก และชาวเซเมติก เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอียิปต์โบราณในรัชสมัยจูเลียส ซีซาร์ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงสมัยของพระนางคลีโอพัตรา ได้นำแนวคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โซซิเจเนส (Sosigenes) มาปรับปรุงพัฒนาแเนวคิดเรื่องปฏิทินให้ 1 ปี มี 365 วัน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่า “ปฏิทินจูเลียน” ซึ่งใช้กันมายาวนานจนถึง ค.ศ. 1582 และการตั้งชื่อเดือนในภาษาอังกฤษบางเดือนนั้น มีที่มาจากชื่อของเทพเจ้าหรือเทพธิดากรีกโรมัน รวมทั้งบางเดือนก็เป็นอนุสรณ์แด่ชื่อจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรโรมัน

ประเภทของปฏิทิน

ปฏิทินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ปฏิทินสุริยคติ และปฏิทินจันทรคติ 

ปฏิทินสุริยคติ ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศถือว่าระบบสุริยคติเป็นระบบสากล คือ ปฏิทินที่ระบุฤดูกาล หรือสิ่งที่เท่าเทียมกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ถูกพัฒนาโดยชาวอียิปต์โบราณ ซึ่งการสร้างปฏิทินที่มี 365 วัน ประกอบด้วย 12 เดือน แต่ละเดือน 30 วัน โดยเพิ่มอีก 5 วัน ในช่วงปลายปี เช่น ปฏิทินกริกอเรียน ปฏิทินจูเลียน  ปฏิทินคอปต์ ปฏิทินญะลาลีย์อิหร่าน ปฏิทินสุริยคติไทย ปฏิทินฮิบรู ปฏิทินจีน

ปฏิทินจันทรคติ เป็นระบบปฏิทินแบบเก่าจากระบบอารายธรรมโบราณตะวันออกกลาง คือ ปฏิทินที่นับตามคติการโคจรของดวงจันทร์ โดยดูจากปรากฏการณ์ ข้างขึ้นข้างแรม  เช่น คืนเดือนดับ คืนข้างขึ้น คืนเดือนเพ็ญ คืนข้างแรม นิยมใช้งานเฉพาะอ้างอิงวันสำคัญทางศาสนา หรือเทศกาลฉลองตามปฏิทินประเพณีดั้งเดิม เช่น ปฏิทินจีน ปฏิทินฮิบรู และปฏิทินฮินดู  สำหรับปฏิทินจันทรคติจะมีประมาณ 29.5 วัน ใน 1 ปี จึงแบ่งเป็น 12 เดือน รวม 354 วัน โดยจะน้อยกว่าปฏิทินสุริยคติ 10 วันเศษ หลักการการสร้างปฏิทินนั้นจึงสังเกตการแบ่งการนับเวลาง่าย ๆ ได้จาก “วัน” มาจากการหมุนของโลกรอบแกนใน 24 ชั่วโมง “เดือน” มาจากการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ไปรอบโลก และ “ปี” มาจากการเคลื่อนที่ของโลกไปรอบดวงอาทิตย์โดยสังเกตุจากการเปลี่ยนฤดูกาลด้ว

กำเนิด ‘ปฏิทิน’ ครั้งแรกของไทยในรัชกาลที่ 3 สู่ปฏิทินหลวง

ในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัย ประเทศไทยนับเวลาตามปฏิทินจันทรคติตามปีมหาศักราชและจุลศักราช โดยมีการพิมพ์ปฏิทินครั้งแรกในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 จากหลักฐานในหนังสือ “บางกอกคาเลนดาร์” ที่หมอบรัดเลย์ได้บันทึกไว้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี ได้เปลี่ยนมาใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากล โดยกำหนดให้หนึ่งปีมี 12 เดือน และวันที่ 1 เมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงใช้คำว่า “ประติทินหลวง” มีลักษณะเป็นสมุดพก หน้าปกมีอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ลายทอง และมีหน้าว่างสำหรับบันทึก

ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังคงพระราชทาน “ปฏิทินหลวง” เพื่อเป็นของขวัญในวันขึ้นปีใหม่แก่ผู้มาลงนามถวายพระพรในพระบรมมหาราชวัง ความสำคัญของปฏิทินหลวง เป็นการแจ้งเพื่อให้ทราบกำหนดการพระราชพิธี วันสำคัญของชาติและศาสนา วันหยุดราชการประจำปี และเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงการกำหนดฤกษ์ยาม

1 มกราคม 2484 การเปลี่ยนปีปฏิทินของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนการใช้ปีปฏิทินของประเทศไทยครั้งแรกตามแบบสากล โดยให้มีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม และสิ้นสุดปีตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งได้มีการประกาศเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติปีปฏิทิน พุทธศักราช 2483

ปฎิทิน มสธ.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้จัดทำปฏิทินครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2526 เป็นปฏิทินชนิดแขวน ชุดภาพสไลด์ประกอบคำขวัญของมหาวิทยาลัย และในปีถัดมาก็ได้จัดทำปฏิทินชนิดแขวน ชุดภาพโปสเตอร์ประกอบคำขวัญของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นปฏิทินที่ได้รับรางวัลปฏิทินดีเด่นครั้งแรก การจัดทำปฏิทินของมสธ. ถือเป็นภารกิจในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับมหาวิทยาลัย องค์ประกอบสำคัญในการจัดทำปฏิทินที่ดีคือ ภาพซึ่งเป็นจุดเด่นที่แสดงถึงความงดงามของปฏิทินและเนื้อหาสาระที่ผู้จัดทำต้องการถ่ายทอดในทางสร้างสรรค์และจรรโลงสังคม

บทบาทของห้องสมุด มสธ. สู่การจัดทำปฏิทิน

สำนักบรรณสารสนเทศในฐานะเป็นห้องสมุดที่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศอัตลักษณ์มหาวิทยาลัย ได้มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมจัดทำปฏิทินของมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้บุคลากรของสำนักเป็นคณะทำงานจัดทำปฏิทิน ซึ่งได้แก่ ปฏิทินชนิดแขวน ประจำปี 2537 ชุด พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปฏิทินชนิดสมุดบันทึก ประจำปี 2554 ชุด 70 ปี ความรักของพระปกเกล้าฯ และปฏิทินชนิดตั้งโต๊ะ ประจำปี 2556 ชุด 120 ปี บารมีพระปกเกล้า ซึ่งปฏิทินทั้งสามชุดที่กล่าวมานี้นะคะ เป็นปฏิทินที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสารสนเทศที่มีให้บริการในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเป็นสารสนเทศที่มีคุณค่า เป็นมรดกของชาติไทย ควรเก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าวิจัยของนักศึกษา นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไปค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีปฏิทินตั้งโต๊ะ ประจำปี 2558 ชุด 60 พรรษา เทพรัตนราชปราชญ์ศึกษา ปฏิทินตั้งโต๊ะ ประจำปี 2559 ชุด 70 ปีครองผไท ครองหัวใจประชาชน และล่าสุดคือ ปฏิทินตั้งโต๊ะ ประจำปี 2567 ชุด ปฐมบทแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นปฏิทินของปีนี้เองค่ะ ปฏิทินที่ได้กล่าวมาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นปฏิทินที่มีคุณค่าทั้งทางด้านความสวยงามและเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์และจรรโลงสังคม ซึ่งการันตีจากรางวัล “สุริยศศิธร” ที่เราได้รับมาจากการประกวดปฏิทินดีเด่น

ปฏิทิน มสธ. ได้รับรางวัลสุริยศศิธร

ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ส่งปฏิทินเข้าประกวดและได้รับรางวัลสุริยศศิธรมาแล้วรวม 12 รางวัล รางวัล “สุริยศศิธร” คือ รางวัลการประกวดปฏิทินดีเด่น จัดโดยสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้จัดการประกวดมาตั้งแต่ปี 2524 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตปฏิทินที่มีคุณค่าต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทยไปสู่ชนรุ่นหลังได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของเอกลักษณ์ความเป็นไทย รางวัลปฏิทินดีเด่น “สุริยศศิธร” ที่มสธ.ได้รับมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ปฏิทินแขวน ปฏิทินตั้งโต๊ะและปฏิทินสมุดบันทึก หากแบ่งตามเนื้อหาของปฏิทินที่จัดประกวดจะมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเภทส่งเสริมเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของชาติ และประเภทจรรโลงสังคมและสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน ปฏิทิน มสธ.ที่ได้รับรางวัล/ทั้ง 12 รางวัล ได้แก่ ปฏิทินประจำปี 2527-2528, ปฏิทินประจำปี 2533, 2537, ปฏิทินประจำปี 2545-2547, ปฏิทินประจำปี 2553- 2554, ปฏิทินประจำปี 2556, ปฏิทินประจำปี 2558 และรางวัลล่าสุดที่ได้รับคือ รางวัลรองชนะเลิศปฏิทินดีเด่น ประจำปี 2559 ชนิดตั้งโต๊ะ ประเภทเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ชุด 70 ปี ครองผไท ครองหัวใจประชาชน

ปฏิทิน มสธ. 2567: ปฐมบท มสธ. แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในปี 2567 นี้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้จัดทำปฏิทินตั้งโต๊ะ ชุด ปฐมบทแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สารสนเทศอัตลักษณ์ในด้านแหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนทางไกลของมหาวิทยาลัย อาทิ ประติมากรรมเครื่องเคลือบดินเผาด้านหน้าอาคารบริการ 1 อุทยานการศึกษารัชมังคลาภิเษก อาคารสัญลักษณ์ศาลาพุ่มข้าวบิณฑ์ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ศูนย์ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา สำนักพิมพ์ สำนักการศึกษาต่อเนื่อง และอาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นอกจากนี้แล้วในปฏิทินชุดนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการในการจัดการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนสอนให้สอดคล้องการกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตในยุคดิจิทัลเอาไว้ด้วยนะคะ เนื่องจากในปีนี้ เราผลิตปฏิทินจำนวนจำกัดและไม่มีจำหน่ายนะคะ ฉะนั้นหากท่านผู้ชมท่านใดสนใจอยากได้ปฏิทินตั้งโต๊ะเล่มนี้ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อลุ้นรับปฏิทินได้หลังจบรายการ

กิจกรรมรับปฏิทิน มสธ.

กิจกรรมสำหรับท่านที่ชมรายการ Podcast EP.ที่ 12 เพื่อลุ้นรับปฏิทินตั้งโต๊ะ ปีพุทธศักราช 2567 คือ ท่านจะต้องตอบคำถามให้ถูกต้องแค่ 2 คำถามเองค่ะ คำถามแรกถามว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้จัดทำปฏิทินครั้งแรกเมื่อปีไหน? และคำถามที่สองถามว่า  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับรางวัลปฏิทินดีเด่นสุริยศศิธรรวมทั้งหมดกี่รางวัล? หากท่านทราบคำตอบแล้วให้รีบส่งคำตอบเข้ามาทางใต้ Comment ด้านล่างของรายการ Podcast นี้นะคะ กติกาในการร่วมสนุกเพื่อลุ้นรับปฏิทินตั้งโต๊ะในปีนี้ คือ เราจะสุ่มจับรายชื่อผู้ที่ตอบคำถามถูกต้องทั้งสองข้อ เพื่อมอบรางวัลให้กับผู้โชคดีจำนวน 10 ท่าน ท่านละ 1 รางวัลนะคะ และจะประกาศรายชื่อผู้โชคดีผ่านทางเพจเฟซบุ๊กห้องสมุด มสธ. และสามารถส่งคำตอบเข้ามาได้ภายในวันที่ 31 มกราคมนี้