๓๒
25 กุมภาพันธ์ 2473 เปิดตัว “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” วิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของไทย  

กิจการวิทยุกระจายเสียงเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยพระเจ้าพี่ยาเธอฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงต่อยอดกิจการวิทยุด้วยการทรงทำการทดลองการรับส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นการส่วนพระองค์ ณ วังบ้านดอกไม้ หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2471 ได้ทรงตั้งกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ณ ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง และทำการกระจายเสียงในนามสถานีวิทยุกระจายเสียง “4 พี.เจ.” (4P.J.) ซึ่งเป็นอักษรย่อพระนาม “Purachatra Jayakorn” ต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ ทำการทดลองส่งที่ศาลาแดง ใช้ชื่อสถานีว่า “11 พี.เจ.” หรือสถานีวิทยุศาลาแดง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยกิจการกระจายเสียง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงจากวังบ้านดอกไม้ มาตั้งที่โฮเต็ลพญาไท ส่วนหนึ่งของพระราชวังพญาไท และทรงพระราชทานชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” ด้วยความเหมาะสมของพื้นที่พระราชวังพญาไทสมัยนั้นอยู่กลางทุ่งนานอกเมือง เป็นพื้นที่ห่างไกลชุมชน จึงไม่มีเสียงและคลื่นไฟฟ้ารบกวน ทำการกระจายเสียงด้วยเครื่องส่งวิทยุขนาด 2.5 กิโลวัตต์ ขนาดคลื่น 300 เมตร นำเข้าจากบริษัทฟิลลิปราดิโอ ประเทศฮอลันดา

25 กุมภาพันธ์ 2473 กำเนิดการกระจายเสียงครั้งแรกของไทย

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคล พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุครั้งแรกของประเทศไทย โดยใช้ชื่อสถานีว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” (Radio Bangkok at Phyathai) มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ พิธีเปิดสถานีกระทำโดยการอัญเชิญพระสุรเสียงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันพระราชพิธีฉัตรมงคลจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง มีไมโครโฟนตั้งรับกระแสพระราชดำรัส ถ่ายทอดตามสายเข้าเครื่องส่งกระจายเสียงที่พญาไทแล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกร โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า

“การวิทยุกระจายเสียงที่ได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน เพื่อควบคุมการนี้ เราให้แก้ไขพระราชบัญญัติดังที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ ได้สั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีเข้ามาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงขอถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ ตั้งแต่บัดนี้ไป…”

สำหรับพระราชบัญญัติที่ทรงกล่าวถึงในพระราชดำรัสตอนต้นนั้น คือ พระราชบัญญัติวิทยุโทรเลขแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2473 ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีเครื่องรับวิทยุเพื่อรับฟังการกระจายเสียงได้ การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ทำให้ประชาชนตื่นตัวและมีวิทยุในครอบครองขยายวงกว้างมากขึ้น จึงถือว่าวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 เวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ทรงเยี่ยมสถานีวิทยุ โดยทอดพระเนตรห้องเครื่องส่งวิทยุหน้าโฮเทลพญาไท และห้องส่งวิทยุกระจายเสียง แสดงถึงความสนพระราชหฤทัยที่จริงจัง พระองค์ทรงรับข่าวสารทางวิทยุควบคู่กับหนังสือพิมพ์อยู่โดยสม่ำเสมอ

ในปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ทำให้โฮเต็ลพญาไทต้องยุติกิจการลง และสถานีวิทยุกระจายเสียงได้ย้ายที่ทำการไปรวมกับสถานีวิทยุศาลาแดง ต่อมา พ.ศ. 2484 ในยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อจาก “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” เป็น “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” 

สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์. 
รัฐสภา. (2524). พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. รุ่งศิลป์การพิมพ์.

กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน