ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 หลังจากที่พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียร พระองค์เสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2468 และกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าเฝ้าชมพระบารมี และเสด็จฯ ไปสักการะปูชนียวัตถุสถานในวัดวาอาราม จึงถือว่าเป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์แบบตามโบราณราชประเพณี
การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา คือ ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ที่มีการจัดรูปขบวนอย่างมีแบบเผน เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปในการใดการหนึ่ง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นพระราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี และมักเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีการกระบวนเสด็จฯ รวมถึงการแต่งกายที่มีแบบแผนงดงามและอลังการสมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ไทย
กระบวนพยุหยาตรามี 2 รูปแบบ ได้แก่ กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค ซึ่งพจนานุกรมบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “สถลมารค” หมายถึง น.ทางบก และคำว่า “ชลมารถ” หมายถึง น.ทางน้ำ
การเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคของรัชกาลที่ 7
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนพยุหยาตราเลียบพระนครทางสถลมารค พระองค์ทรงเครื่องเต็มยศเช่นเดียวกับวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ทรงพระภูษาเขียนทองพื้นสีขาวตามกำลังของวันจันทร์ ทรงประดับตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทรงสายสะพาย ทรงพระสังวาลเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอลเกล้าชั้นนอก และทรงพระชฎามหากฐินน้อย พระองค์เสด็จประทับพระที่นั่งพุดตาลทองคำที่เกยหน้าพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ พรั่งพร้อมด้วยขบวนเสนาอำมายต์ราชเสวกคู่เคียงพระราชยาน กรมพระตำรวจหลวงและกรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ จ.ป.ร. ยืนประจำริ้วขบวนตามตำแหน่งผันพระพักตรสู่เฉพาะหน้าพระที่นั่ง
ขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค เคลื่อนออกจากพระบรมหาราชวังจากประตูวิเศษชัยศรี ผ่านถนนหน้าพระธาตุ บริเวณทิศตะวันตกของสนามหลวง และที่หน้าหอพระสมุดวชิราวุธซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเฝ้ารับเสด็จฯ ขบวนเสด็จฯ ใช้ระยะเวลาไม่นานมากนักในการข้ามสะพานผ่านพิภพลีลาเข้าสู่ถนนจักรพงษ์ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุเข้าสู่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่อเสด็จฯ ถึงวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระองค์ทรงจุดธูปเทียนนมัสการถวายต้นไม้ทองเงิน บูชาพระพุทธชินสีห์ มนัสการทองน้อย และทรงถวายสักการะบูชาพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์และกรมพระยาวชิรญาณวโรรส หลังจากนั้นพระองค์จึงเสด็จฯ ออกจากพระอุโบสถ์มุ่งหน้าสู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อเสด็จฯ ถึงวัดพระองค์ทรงจุดเทียนธูปเครื่องนมัสการพระพุทธเทวปฏิมากร และถวายสักการะบูชาพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถวายสักการะพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และหลังจากเสร็จสิ้นพิธี พระองค์เสด็จขึ้นสู่เกยประทับพระที่นั่งสู่พระราชมนเทียรสถาน พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ เป็นอันจบพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค
การเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคของรัชกาลที่ 7
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวัง บริเวณท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จไปยังวัดอรุณราชวรารามโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในวันดังกล่าวพระองค์ทรงฉลองพระองค์และพระภูษาสีเขียวตามสีวันพุธ ทรงสวมสายสะพายนพรัตน์ราชวราภรณ์ ทรงสวมฉลองพระองค์ครุยกรองทองและพระสังวาลย์มหาปรมาภรณ์ทับนอก และพระมหามาลาเส้าสูงสีเขียว แล้วจึงเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
หลังจากนั้นพระองค์เสด็จประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยทอดพระเนตรขบวนเรือพระราชพิธี เมื่อเสร็จสิ้นพระองค์เสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ทรงพระมหากฐินน้อยแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์แล้วจึงเสด็จฯ ทางชลมารคไปวัดอรุณราชวรารามในท้องน้ำตามระยะชลมารคที่พระองค์เสด็จฯ นั้นมีกรมนครบาล กรมเจ้าท่า และกรมตำรวจกองตระเวนวางระเบียบการเดินเรือและจอดเรือ คอยควบคุมดูแลประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สำหรับเรือค้าขาย แพเรือ รวมถึงบ้านเรือนของประชาชนให้ตั้งเครื่องบูชารับเสด็จ
เมื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เทียบท่าพระฉนวน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงเปลื้องพระชฎามหากฐินน้อย ทรงพระมหามาลาเส้าสูง แล้วเสด็จฯ เข้าวัดอรุณราชวราราม ประทับพระราชยานโดยขบวนราบ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนสักการะบูชาพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และทรงจุดเครื่องทองน้อยบูชาพระพุทธนฤมิตร และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานพระภูษามาลาเชิญทรงสพักตาดถวายพระพุทธธรรมมิศรราชเมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว ทรงพระชฎามหากฐินน้อย ประทับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เหนือพระราชอาสน์ในบุษบก จากนั้นเรือขบวนพยุหยาตราทางชลมารคออกจากท่าวัดอรุณราชวรารามสู่ท่าราชวรดิษฐ์เมื่อเรือพระที่นั่งเทียบท่าราชวรดิษฐ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลื้องชฎามหากฐินน้อย ทรงพระมหามาลาเส้าสูง แล้วพระราชดำเนินสู่เกยประทับพระราชยาน เสด็จฯ โดยขบวนราบคืนสู่พระบรมมหาราชวังทางประตูเทวาภิรมย์
การเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตรายังคงได้รับการสืบทอดเป็นมรดกและพระราชประเพณีอันทรงคุณค่าที่มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สำหรับการเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราปรากฎอีกครั้งในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562 นับว่าป็นพิธีเบื้องปลายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ใกล้เคียงกับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เอกสารอ้างอิง
สำนักส่งเสริมเอกลักษณ์. (2558). รายละเอียดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียร (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแลเสด็จเลียบพระนครพระพุทธศักราช 2568). หน้า 62-77, 158-194
ศิลปวัฒนธรรม. (2562) ประมวลภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 : เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชบมารค. https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_32097
ผู้เรียบเรียง
ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.