คนไทยมีช็อกโกแลตทานมากว่า 300 ปีแล้ว ตามบทความของศรัณย์ ทองปาน ที่เขียนไว้ในสารคดี ฉบับเดือนมกราคม 2567 ว่า มีการพูดถึงช็อกโกแลตในหนังสือจดหมายเหตุสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่ามีความนิยมดื่มโกโก้กันในชุมชนชาวโปรตุเกส ซึ่งโกโก้จะถูกขนส่งมาโดยกองเรือสเปน บางคนคงสงสัยว่า ช็อกโกแลต กับ โกโก้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ช็อกโกแลตก็คือโกโก้ โกโก้ก็มาจากต้นคาเคา โดยนำผลจากต้นคาเคาไปตากแดดจนแห้ง จากนั้นก็นำไปคั่ว บดเป็นเนื้อโกโก้ นำไปแยกไขมันโกโก้ออกและบดเป็นผง ก็จะได้ผงโกโก้ ส่วนโกโก้ที่ไม่ได้แยกไขมันออก จะทำไปเป็นขนมช็อกโกแลต
คำว่า “ช็อกโกแลต” มาจากภาษาแอซเท็ก หรือภาษานาวัตล์ มีความหมายว่าน้ำขม ผู้เขียนจะพาไปพบกับเรื่องราวของช็อกโกแลตตั้งแต่เริ่มมีมาบนโลกเลยทีเดียวตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 จากความนิยมในโลกตะวันตกมาสู่โลกตะวันออก จนกลายเป็นเครื่องดื่มและขนมที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกในปัจจุบัน ประเทศที่มีการบริโภคช็อกโกแลตมากที่สุดในโลกคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งคงไม่น่าแปลกใจนัก เพราะแบรนด์ช็อกโกแลตชื่อดังส่วนใหญ่ก็จะมาจากประเทศนี้ สำหรับประเทศไทยเองความนิยมในเครื่องดื่มโกโก้ก็มีมากเช่นกัน สังเกตได้ว่าจากร้านคาเฟ่ต่างๆ โกโก้ถูกจัดเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมเกือบทุกร้านเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังพาไปพบกับร้านค้าและผลิตภัณฑ์ที่มาจากโกโก้ ไปพูดคุยถึงความสนใจ และโอกาสในการทำธุรกิจจากโกโก้ และอนาคตต่อไปของโกโก้และช็อกโกแลตในประเทศไทยทั้งความนิยมและแหล่งผลิตโกโก้ว่าจะเพียงพอที่จะผลักดันกระแสช็อกโกแลตได้ดีแค่ไหน ติดตามเรื่องราวและบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ใน สารคดี ฉบับมกราคม 2567 โดยติดต่อขอใช้บริการได้ที่ห้องสมุด มสธ. อาคารบรรณสาร ชั้น 1 มุมวารสาร