บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST SS2 EP.11 “โรงงานไฟฟ้า ความสะดวกสบายและหนทางผลิตอย่างยั่งยืน”

เข้าสู่เดือนที่ 3 ของปี หลาย ๆ พื้นที่อากาศเริ่มร้อนขึ้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นตามมาก็ไม่ได้มีแค่อุณหภูมิเท่านั้น แต่ยังมีค่าไฟที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นตามมาอีกด้วย เคยสงสัยไหมว่าไฟฟ้าที่ใช้อยู่มีที่มาอย่างไร วันนี้ห้องสมุด มสธ. จะพาทุกท่านไปรู้จักกับเบื้องหลังของการผลิตไฟฟ้ากันนะครับ

ไฟฟ้า” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ไฟฟ้าเกิดขึ้นจากการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่มีขดลวดและแม่หล็กเป็นส่วนประกอบ เมื่อเริ่มหมุนจะเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้หลักการเหมือนกัน ต่างกันแค่สิ่งที่ใช้หมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิส และโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก โดยโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้กำเนิดไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าแบบนี้จะสร้างมลพิษทางอากาศ

ข้อจำกัดของโรงงานไฟฟ้าพลังงานทางเลือก

โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกยังมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถทดแทนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมได้ ดังนี้

1. ต้นทุนค่าใช้จ่ายของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

ด้วยข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี และที่ตั้งของโรงไฟฟ้าต้องสร้างในสถานที่ที่เฉพาะเจาะจง เช่น เขื่อน ต้องสร้างขวางกั้นแม่น้ำ ทำลายระบบนิเวศในบริเวณรอบ ๆ หรือกังหันลม ที่ผลิตไฟฟ้า นอกจากจะผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณน้อยและไม่สามารถผลิตได้ตลอด ต้องรอความเร็วลมให้ถึงจุดที่สามารถหมุนใบกังหันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้                                                                                                                           

เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิม ปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากโซล่าเซลล์และกังหันลมนั้นไม่สามารถเทียบได้เลยกับโรงไฟฟ้าฟอสซิลแบบดั้งเดิม หากต้องการให้โรงไฟฟ้าจากเขื่อนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณที่เพียงพอต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีพลังงานทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเอาชนะโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมได้ในทุกด้าน ๆ และยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องต่าง ๆ คือ โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ แต่ปัญหาของโรงไฟฟ้าแบบดังกล่าว คือ ค่าใช้จ่ายที่มากมายมหาศาลในการก่อสร้าง และการดูแลรักษาต้องได้มาตรฐานและเข้มงวดเพื่อป้องกันการรั่วไหลของรังสี

วิธีประหยัดไฟแบบง่าย ๆ

การลดการใช้ไฟในครัวเรือนเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรแบบหนึ่ง วันนี้ห้องสมุด มสธ. มีวิธีประหยัดไฟแบบง่าย ๆ มาแนะนำ โดยแบ่งตามเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้บ่อย ดังนี้

หลอดไฟ

  • ปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้หรือไม่มีคนอยู่ในบริเวณนั้นแล้ว
  • ไม่เปิดไฟเมื่อมีแสงธรรมชาติเพียงพอ
  • ควรเปลี่ยนหลอดไฟมาใช้หลอด LED แทนหลอดไส้และหลอดฟลูออเรนเซนต์

เตารีด

  • ปรับความร้อนให้เหมาะสมกับเนื้อผ้าที่จะรีด
  • เมื่อรีดผ้าใกล้จะเสร็จแล้ว ให้ถอดปลั๊กออกและรีดต่อไปจนเสร็จ
  • ฉีดน้ำบนผ้าพอประมาณ ไม่ฉีดเยอะจนเกินไป

ตู้เย็น

  • ปิดตู้เย็นให้สนิททุกครั้ง
  • ไม่นำของร้อนใส่ตู้เย็น
  • หมั่นตรวจเช็คยางขอบตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอ

เครื่องปรับอากาศ

  • ปิดเครื่องทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน
  • ตั้งอุณหภูมิเอาไว้ที่ 26 องศา
  • หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศและแผ่นระบายความร้อน
  • ปิดหน้าต่างให้มิดชิดทุกครั้งที่เปิดใช้งาน

การประหยัดไฟนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดโลกร้อน และยืดอายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งวิธีข้างต้นสามารถนำไปปรับใช้เองที่บ้านได้ครับ

รายการอ้างอิง

Saito ,Katsuhiro. (2558). พลังงาน: ฉบับการ์ตูน (อรรณพ ,เรืองวิเศษ)  สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).

สุชาติ สุภาพ. (2562). พลังงานทางเลือก. สุชาติ สุภาพ.

เรียบเรียงโดย
นายธนพล นนทสุตวงศ์ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ