๓๔
มูลเหตุแห่งการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2468 พระองค์ทรงวางแนวทางที่จะนำประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างมีแบบแผน ด้วยการสร้างระบบจากฐานรากที่แข็งแกร่ง ทั้งแนวพระราชดำริการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล และการเมืองการปกครองส่วนกลางแบบรัฐสภา นอกจากนี้ ทรงพระราชดำริให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย จำนวน 2 ฉบับ แต่การพระราชทานมิได้เกิดขึ้น เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงรับเป็นกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญและได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  

พ.ศ. 2476 เสด็จประพาสยุโรป สู่การสละราชสมบัติ

ภายหลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังเกิดความวุ่นวายและขัดแย้งภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง การเกิดกบฎบวรเดช เดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เป็นสาเหตุสำคัญอีกหนึ่งประการที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยเสด็จประพาสยุโรป เพื่อทรงหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่พระมหากษัตริย์จะทรงถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและเพื่อแสดงความเป็นกลาง อีกส่วนหนึ่งเพื่อทรงรับการรักษาพระเนตรที่ประชวรเป็นต้อกระจก และเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ โดยเสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ในการนี้ได้แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 

พระราชดำรัสทรงอำลาราษฎรชาวสยาม

ก่อนที่จะเสร็จพระราชดำเนินเพียงหนึ่งวัน ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2476 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสทางวิทยุกระจายเสียงแก่ประชาชน และถือเป็นกระแสพระราชดำรัสครั้งสุดท้ายที่ทรงมีแก่ราษฎร ความตอนหนึ่งว่า

“…เป็นความจำเป็นเพื่อการรักษาร่างกายของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะได้ถือโอกาสเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้สนิทสนมยิ่งขึ้นด้วย ข้าพเจ้าทราบตระหนักในความยากลำบากทางการบ้านเมืองซึ่งมีอยู่ในเวลานี้ แต่ข้าพเจ้ามีความไว้วางใจในคณะรัฐบาลซึ่งมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นี้อย่างเต็มที่ และสภาผู้แทนราษฎรกับประชาชนทั้งหลาย

ข้าพเจ้าขอให้ประชาชนพลเมืองทั้งหลาย จงได้รักษาความสงบและความสามัคคีไว้ให้มั่นคง ในยามยากจนเนื่องด้วยโภคกิจตกต่ำนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ชนทุกเหล่า ทุกคณะ จะขวนขวายหาทางบรรเทาทุกข์ของตน ๆ แต่ในการกระทำทั้งนี้ ขอท่านทั้งหลายอย่าได้ลืมคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือ สันติสุขของชาติบ้านเมืองเรา”

มูลเหตุแห่งการสละราชสมบัติ

ความไม่พอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 7 ที่มีต่อรัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีหลายกรณีที่ทรงเห็นว่าไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยและจำกัดสิทธิเสรีภาพ ระหว่างที่ประทับอยู่ต่างประเทศ ทรงมีข้อราชการติดต่อกับทางรัฐบาลผ่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมาโดยตลอด แต่ไม่อาจบรรลุข้อตกลงใด ๆ ได้

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2477 ขณะประทับอยู่ที่กรุงปารีส พระองค์ได้พระราชทานพระราชบันทึกข้อข้องพระทัย 2 ฉบับ แก่พลเรือโทพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) อัครราชทูต ผู้เป็นคนกลางประสานไปยังพลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ หากประสงค์จะให้ทรงครองราชสมบัติต่อไป พระราชบันทึกนั้นแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองกับรัฐบาลคณะราษฎรได้อย่างชัดเจน โดยพระองค์ทรงมีข้อข้องพระทัยและข้อทรงแนะนำต่อรัฐบาลในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

  • กรณีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 โดยรัฐบาลแต่งตั้งพวกพ้องเข้าเป็นสมาชิก
  • ทรงขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะวิธีการขัดกับหลักเสรีภาพในร่างกายของประชาชน และควรชำระความไต่สวนนักโทษการเมืองอย่างเปิดเผยในศาลหลวง 
  • กรณีภาษีมรดก ทรงขอให้มีบทยกเว้นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์เฉพาะส่วนที่ได้รับต่อกันมาทางสืบสันตติวงศ์
  • กรณีรัฐบาลตัดกำลังและงบประมาณทหารรักษาวัง
  • กรณีสิทธิเสรีภาพของสื่อ ทรงขอให้รัฐบาลให้เสรีภาพในการพูด การเขียน การโฆษณา ซึ่งเหตุมากจากการที่หนังสือพิมพ์ถูกปิด
  • กรณีการอภัยโทษแก่นักโทษการเมือง ทรงเสนอว่าควรมีการอภัยโทษเพื่อความสงบแก่บ้านเมืองในระยะยาว

ต่อมาวันที่ 12 เดือนธันวาคม 2477 คณะผู้แทนรัฐบาลโดยมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวหน้าคณะ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายดิเรก ชัยนาม ซึ่งรัฐบาลเห็นว่า เป็นผู้ที่ทรงรู้จักดีและไว้วางพระราชหฤทัย เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ เป็นครั้งแรก ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อกราบบังคมทูลชี้แจงเพื่อโน้มน้าวให้ทรงล้มเลิกพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติ และทูลเชิญเสด็จนิวัติสยาม การเจรจากับรัฐบาลดำเนินอยู่นานกว่า 5 เดือน และคณะผู้แทนได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อเจรจาถึง 6 ครั้ง แต่กลับไม่บรรลุผล รัฐบาลปฏิเสธข้อทรงแนะนำและคำขอร้องในบางประการ โดยยืนยันที่จะรักษาความศักดิสิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญไว้ 

2 มีนาคม 2477 ทรงประกาศสละราชสมบัติ

รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่าไม่สามารถประสานกับรัฐบาลเพื่อบรรลุประโยชน์แก่ปวงชนได้ รัฐบาลมิได้ดำเนินตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และมิยอมให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชน จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เวลา 13.45 น. ณ พระตำหนักโนล ตำบลแครนลีย์ ประเทศอังกฤษ

ในวันเดียวกันนั้น เวลา 16.30 น. ม.ร.ว. สมัครสมาน กฤดากร เป็นผู้เชิญพระราชหัตถเลขาของรัชกาล ที่ 7 มามอบให้กับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ผู้แทนรัฐบาล ณ สถานฑูตสยาม กรุงลอนดอน

พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ

พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ทรงพระอักษรด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์ ความยาว 6 หน้า ทุกหน้าของหัวกระดาษด้านบนประทับด้วยพระปรมาภิไธยย่อ “ปปร” และหน้าที่ 6 ซึ่งเป็นหน้าสุดท้าย ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า “ประชาธิปก ปร.” ถือเป็นเอกสารชั้นต้น หรือเอกสารปฐมภูมิ (Primary sources) ที่ทรงคุณค่ายิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งทรงระบุเหตุผลแห่งการสละราชสมบัติ โดยมีสาระความสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่หนึ่ง ทรงเขียนถึงปัญหาและข้อขัดข้องต่าง ๆ จากการปกครองของรัฐบาลที่ขัดต่อหลักเสรีภาพและความยุติธรรม อาทิ (1) ปัญหาที่รัฐบาลได้แต่งตั้งพวกพ้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 แทนการเลือกตั้ง และไม่ได้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงพิจารณาก่อน (2) การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อการออกพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ และ (3) การตั้งศาลพิเศษเพื่อตัดสินคดีการเมือง (4) รวมทั้งการปราบปรามกบฏบวรเดช ในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินคดีความกับคณะกู้บ้านเมืองหรือกบฏบวรเดช โดยไม่ได้ดำเนินการตามที่พระองค์ได้ทรงชี้แนะไว้ให้มีการอภัยโทษทั้งหมด เป็นต้น ตามที่ปรากฎในหน้าที่ 1-4 พระองค์ได้กล่าวถึงบทสรุปมูลเหตุแห่งการสละราชสมบัติ ไว้ดังนี้

“…ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้…”

ส่วนที่ 2 เป็นคำประกาศสละราชสมบัติ (ใจความสำคัญซึ่งปรากฎในหน้า 5 และ หน้า 6)

“…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…

และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของ ข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…”

ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติพระองค์มิได้ทรงระบุพระนามเจ้านายพระองค์ใดเป็นผู้ที่สมควรสืบพระราชสันตติวงศ์ เพื่อพระราชทานวโรกาสให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และทรงกลับไปใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิม คือ “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา”

พระบรมราชโองการแก่คณะรัฐบาลหลังทรงสละราชสมบัติ

7 มีนาคม พ.ศ. 2477 พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ส่งโทรเลขจากกรุงเทพฯ ถึง พระยาสุพรรณสมบัติ อัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน เพื่อให้นำความกราบบังคมทูล ความตอนหนึ่งดังนี้

“…รัฐบาลได้รับสำเนาพระราชหัตถเลขา ทรงสละราชสมบัติแล้วด้วยความโทมนัสสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นทรงราชย์ สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญรัฐบาลขอถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก และสมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี ขอให้คงทรงพระสำราญอยู่ต่อไป…”

12 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบกลับรัฐบาลผ่านอัครราชทูตสยาม ความตอนหนึ่งว่า

“…ขอบใจรัฐบาลที่ได้แสดงความหวังดีมา ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ข้าพเจ้าและรัฐบาลไม่สามารถจะตกลงกันได้ ในปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเรามีความเห็นแตกต่างกัน ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลมั่นใจว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความรู้สึกโกรธขึ้งและแค้นเคือง เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเลย และขอให้คณะรัฐบาลจงบรรลุความสำเร็จ

ข่าวทรงสละราชสมบัติในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่

ตลอด ระยะเวลา 9 ปีที่ทรงดำรงสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะพัฒนาระบอบการเมืองและการปกครองของประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่อให้เท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษอย่างเรียบง่ายแบบสามัญชน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระประยูรญาติ และข้าราชบริพารดั้งเดิมในพระองค์จำนวนไม่มาก โดยมิได้เสด็จนิวัติประเทศไทยอีกเลย จนเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้น ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2536). พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (ม.ป.ป.). การทรงเจรจากับรัฐบาลถึงเงื่อนไขหากจะให้ทรงอยู่ในราชสมบัติต่อไป. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th
พรสรรค์ วัฒนางกูร. (ม.ป.ป.). การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ค.ศ. ๑๙๓๓ – ๓๔. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น