พ.ศ. 2440 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครกลับจากเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำริให้ขยายกิจการหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งเดิมทีเป็นหอพระสมุดสำหรับราชสกุล ให้เป็นหอสมุดสำหรับบริการประชาชนทั่วไป ด้วยทรงพระราชดำริว่าสยามยังไม่มีหอสมุดสำหรับเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือที่เป็นสมบัติของชาติเช่นเดียวกับนานาประเทศ โดยได้ทรงพระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” ตามพระสมณะนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2448 ณ หอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบัน คือ ศาลาสหทัยสมาคม)
พระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศจัดการหอพระสมุดวชิรญาณ ให้เป็นหอสมุดสำหรับพระนคร รัตนโกสินทร์ ความตอนหนึ่งว่า
“…หอพระสมุดวชิรญาณนั้นแม้การที่ได้จัดมาจนบัดนี้เปนแต่หอสมุดสำหรับผู้ซึ่งได้รับเลือกสรรเข้าเปนสมาชิกก็ดี ก็เห็นได้ว่าได้ทำให้เกิดประโยชน์แก่วิชาความรู้ เปนอันมากอยู่แล้ว ถ้าและขยายการหอสมุดนี้ทำนุบำรุงให้เปนหอสมุดใหญ่สำหรับพระนคร ให้เป็นที่อาไศรยแก่บรรดาประชาชนที่จะแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ อันจะพึงได้ ในการอ่านหนังสือ หอพระสมุดวชิรญาณคงจะเปนถาวรประโยชน์อย่างสำคัญอันสมควรแก่พระราชประสงค์ที่จะทรงเฉลิมพระเกียรติยศ สนองพระเดช พระคุณในพระในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ในครั้งนี้ได้…”
ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 12 น.619
ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มาไว้ที่ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุ เรียกว่า “ตึกถาวรวัตถุ” พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2459
26 กุมภาพันธ์ 2469 รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เปิดหอพระสมุดสำหรับพระนคร
หลังจากนั้น พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้แยกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ออกเป็น 2 แห่ง โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2469
1. หอพระสมุดวชิราวุธ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช โดยตั้งอยู่ที่ตึกถาวรวัตถุเช่นเดิม เป็นที่เก็บและให้บริการหนังสือตัวพิมพ์ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รูปถ่าย และหนังสือพิมพ์ รวมทั้งหนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. หอพระสมุดวชิรญาณ ย้ายไปให้บริการที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพระราชวังบวรสถานมงคล ใช้เป็นที่เก็บศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย หนังสือตัวเขียน จดหมายเหตุของเก่า และตู้พระธรรม
ครั้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2476 ยกฐานะหอพระสมุดสำหรับพระนคร เป็นกองหอสมุด สังกัดกรมศิลปากร ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หอสมุดแห่งชาติ”
เอกสารอ้างอิง
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ. (2543). หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร. กรม.
ผู้เรียบเรียง
กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.