พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงให้ความสำคัญกับแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี พระองค์จึงทรงมีพระราชกรณียกิจสนับสนุนกิจการด้านพิพิธภัณฑ์ โดยมีพระบรมราโชบายให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษามรดกของชาติ และเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ประชาชนคนไทยด้วย ดังความในพระราชดำรัสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ความตอนหนึ่งว่า
“…การศิลปนั้น อารยประเทศทั้งหลายย่อมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาติ ส่วนหนึ่ง เป็นของควรรักษาไว้และควรบำรุงให้เจริญขึ้นโดยลำดับ ศิลปวัตถุก็ดี โบราณวัตถุก็ดี ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของตำนานและพงศาวดารของชาติ เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นความเจริญและอารยธรรมของประเทศตามลำดับกาล ทั้งเป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นวิญญาณและอุปนิสัยของประชาชนแห่งชาตินั้นด้วย ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นของควรบำรุงรักษาไว้เป็นอย่างดี…”
ประวัติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นับเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย จัดตั้งขี้นเมื่อ พ.ศ. 2402 แต่เดิมเป็น “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือวังหน้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ต่อมา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “มิวเซียม” ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือหอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรกเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 21 พรรษา เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ครั้งต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานจากหอคองคอเดีย ไปตั้งจัดแสดงที่พระราชวังบวรสถานมงคลเฉพาะด้านหน้า 3 องค์ โดยใช้พระที่นั่งด้านหน้า คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์วังหน้า”
พระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 7 ด้านการพิพิธภัณฑ์
พระราชทานพระราชมณเฑียรจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานฯ
เมื่อ พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมดให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน) และได้จัดพระที่นั่งศิวโมกขพิมานให้เป็นสถานที่จัดแสดง ศิลาจารึก คัมภีร์ ใบลาน สมุดไทย ตำราโบราณ เรียกว่า หอสมุดวชิรญาณ
ถือเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจการพิพิธภัณฑสถานครั้งสำคัญ จากเดิมเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป มาเป็นพิพิธภัณฑสถานที่รวบรวม สงวนรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ทรงให้การสนับสนุนการดำเนินงานพิพิธภัณฑสถานให้เป็นไปตามแนวทางสากลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นแนวทางการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานไทยในเวลาต่อมา
10 พฤศจิกายน 2469 เสด็จฯ ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร และทรงเปิดหอพระสมุดวชิรญาณที่จัดใหม่ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ต่อมาประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จึงได้เข้าสังกัดกับกรมศิลปากร และได้ประกาศตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477
รัชกาลที่ 7 พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์
ด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ พระองค์จึงได้พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์แก่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเป็นจำนวนมาก เพื่อประโยชน์แก่ชาติและประชาชน ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวเป็นการวางรากฐานการพิพิธภัณฑ์และทำให้กิจการพิพิธภัณฑ์พัฒนามาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปัจจุบัน
พระราชบัญญัติเกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถาน
ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น เพื่อพิทักษ์รักษาสิ่งของในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร และเป็นการจัดระเบียบการดำเนินงานพิพิธภัณฑสถานให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุออกนอกประเทศ พ.ศ. 2469
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อคุ้มครองโบราณวัตถุมิให้ถูกนำออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งทำให้เป็นรากฐานสำคัญของพระราชบัญญัติโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์ พ.ศ. 2477 และ พ.ศ. 2504 มาตามลำดับ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
พระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร
พระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุออกนอกประเทศ พ.ศ. 2469
เอกสารอ้างอิง
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สถาบันพระปกเกล้า. (2545). จดหมายเหตุพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. สถาบันพระปกเกล้า.
ผู้เรียบเรียง
ยวิญฐากรณ์ ทองแขก บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.