๔๒
รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสพังงา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดพังงา ในระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 เพื่อพระราชทานพระแสงราชศัตราสำหรับเมืองพังงาและเยี่ยมเยือนราษฎร รวมถึงทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเมืองและภูมิประเทศอันงานตามธรรมชาติของจังหวัดพังงา ได้แก่ เกาะปันหยี ถ้ำลอดและวัดสุวรรณคูหา เป็นต้น

จังหวัดพังงา

“แร่หมื่นล้าน บ้านกลางน้ำ ถ้ำงามตา ภูผาแปลก แมกไม้จำปูน บริบูรณ์ทรัพยากร”
(คำขวัญประจำจังหวัดพังงา)

เดิมจังหวัดพังงา เรียกว่า “เมืองภูงา” ซึ่งเป็นชื่อของเขางา เขาพังงา เขากราภูงา หรือเขาพังกา ถูกตั้งขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อเมืองภูเก็ต ก่อนจะออกเสียงเพี้ยนมาเป็น “พังงา” ในอดีตจังหวัดพังงาเป็นแหล่งส่งออกแร่ดีบุกรายใหญ่ของประเทศ แต่ด้วยราคาที่ตกต่ำทำให้บริษัทต่าง ๆ ทยอยปิดกิจการลงไป ประชาชนในจังหวัดจึงหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ เกษตรกรรมและธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยจังหวัดพังงามีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่สวยงามและมีชื่อเสียง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสกับสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ จุดชมวิวเสม็ดนางชี เกาะสิมิลัน เกาะยาวน้อย เกาะไข่ เกาะแมวและเกาะสุรินทร์ เป็นต้น

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

เวลา 09.30 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หลังจากทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ที่จังหวัดภูเก็ต จึงเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปตามถนนสายเหนือและถนนบุรฉัตรที่ตัดใหม่ถึงท่าฉัตรแล้ว ทั้งสองพระองค์ทรงรถพระที่นั่งลงเรือขนานยนต์ข้ามช่องปากพระไปยังฝั่งท่านุ่น จังหวัดพังงา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ข้าราชการและราษฎรเข้าเฝ้า ณ พลับพลา จังหวัดพังงา ในวันดังกล่าว อ.ท. พระอาดมคุติกร ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา อ่านคำกราบบังคมทูลถึงภูมิสถานบ้านเมืองและภูมิประเทศของจังหวัดพังงา โดยมีใจความสำคัญว่า

“จังหวัดพังงาตั้งอยู่ห่างทางไปมาค้าขาย และเมื่อการทำเหมืองแร่มีมากขึ้น น้ำพัดทรายที่ล้างออกจากแร่ตามเหมืองไหลลงมาถมทางเรือ การคมนาคมจึงยากขึ้น แต่บัดนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางหลวงจากภูเก็ตถึงพังงาและมีเรือสำหรับรถข้ามช่องทะเล การติดต่อกันจึงรวดเร็วและสะดวกกว่าแต่ก่อนมาก”

“ถึงทางน้ำที่ตื่นเขินเราก็จะคิดพยายามขุดให้คืนดีด้วยวิธีประสานงานกับการที่ได้อนุญาตให้ขุดแร่ดีบุกด้วยใช้เครื่องจักร หวังว่าการคมนาคมทางน้ำจะพ้นความลำบากได้ด้วย แต่ส่วนทางหลวงที่กรมทางสร้างนั้น เมื่อสร้างสำเร็จจะเปิดที่ให้ทำเหมืองแร่แลเรือกสวนไร่นาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนแลบ้านเมืองนี้ยิ่งขึ้น”

จากพระราชดำรัสจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ผู้ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยทุกข์สุขของราษฎรจังหวัดพังงาอย่างยิ่ง อนึ่งในการเสด็จฯ มาเมืองพังงาในครั้งนี้ เพื่อพระราชทานพระแสงราชศัตราสำหรับเมืองพังงายังไม่เคยได้รับพระราชทานมาแต่รัชกาลก่อน ๆ

ต่อมาเสด็จยังวัดถ้ำแขวง อำเภอตะกั่วทุ่ง (วัดสุวรรณคูหา) ทรงจารึกพระบรมปรมาภิไธยย่อ “ปปร.” เฉกเช่นเดียวกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงจารึกพระบรมปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ครั้นที่พระองค์เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อปี พ.ศ. 2433 นอกจากนี้ยังมีจารึกอื่น ๆ ที่ปรากฎบนผนังถ้ำ เช่น ม.ว. (รัชกาลที่ 6) ภ.ป.ร. (รัชกาลที่ 9) สก. (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) เป็นต้น

เวลา 16.00 น. เสด็จประพาสเมืองเก่าแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งจักรีซึ่งทอดอยู่หลังเกาะปันหยี มีเรือมหรศพมาลอยลำเล่นถวายทอดพระเนตรและมีเรือแต่งโคมรูปสัตว์ต่าง ๆ ประทับชมบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี และได้เสด็จยังดาดฟ้าเรือทรงถ่ายภาพเกาะปันหยีซึ่งมีหมู่บ้านชาวประมงปลูกสร้างลงในน้ำใต้เงาเกาะซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนภูเขาซึ่งเป็นที่กำบังลมได้ดีไว้ด้วย

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จถ้ำลอด ณ ตำบลปากน้ำจังหวัดพังงา แล้วเสด็จบนเรือถลางซึ่งทอดอยู่ ณ อ่าวตะกั่วทุ่ง พระองค์ทรงทอดพระเนตรการแข่งเรือ แล้วจึงเสด็จกลับสู่เรือพระที่นั่งมหาจักรี เดินจักรเคลื่อนออกไป เดินสายในอย่างช้าเพื่อทอดพระเนตรหมู่เกาะตามระยะทาง จึงจินตนาการได้ว่าได้ทรงบุกเบิกการท่องเที่ยวธรรมชาติในอ่าวพังงาอันงดงามนี้ แล้วจึงเสด็จทรงเรือยนต์พระที่นั่งออกจากเกาะลิบงเข้าลำน้ำจังหวัดตรังเทียบท่ารถไฟกันตัง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

สถาบันพระปกเกล้า. (2543). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พุทธศักราช 2471. สถาบัน.

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น