STOU Storian Podcast EP.15 พระราชนิยมพระปกเกล้า สู่มรดกดนตรีแห่งสยาม

หากกล่าวถึงบุคคลสําคัญทางด้านวงการดนตรีไทย หลายท่านคงนึกถึงศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย โรงพยาบาลรามาธิบดี และท่านยังเป็นผู้บุกเบิกเรื่องการศึกษาค้นคว้าทางด้านดนตรีในระดับอุดมศึกษา

ด้วยความสามารถและผลงานวิชาการทางด้านดนตรีเป็นจํานวนมากอย่างเป็นที่ประจักษ์ ทำให้อาจารย์พูนพิศได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นศาสตราจารย์สาขาดนตรี คนที่ 3 ของประเทศไทย และเป็นคนแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นนักวิชาการสาขาดนตรีวิทยา และยังเป็นที่ปรึกษาของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

พบกับรายการ STOU Storian Podcast ในรูปแบบใหม่ ตอนที่ 15 เป็นตอนพิเศษที่จะนําเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีในสมัยรัชกาลที่ 7 ตลอดจนความประทับใจที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงโปรดปรานดนตรีทั้งไทยและสากล ตลอดจนเป็นผู้ทรงพลิกวิกฤตสร้างโอกาสให้แก่วงการดนตรีไทยและดนตรีสากลในสยาม ซึ่งได้รับเกียรติถ่ายทอดโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องด้านพระปกเกล้าศึกษา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมมาตยกุล ผู้ที่เกิดและเติบโตอยู่ในวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทําให้ท่านได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์และดนตรีไทยจากในวังเป็นอย่างดี

รัชกาลที่ 7 กับพระราชนิยมด้านดนตรี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. 2436 ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเล่นเหมือนเด็ก ๆ ทั่วไป โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี ที่ทรงเติบโตมาด้วยกัน ทรงเล่าให้ฟังว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้านายเล็ก ๆ ทรงเล่นซนกันตามวัย แต่จะมีเครื่องดนตรีชิ้นเล็ก ๆ เป็นของเล่น ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นั้นคือ อังกะลุง 

รัชกาลที่ 7 ไม่ปรากฎพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงเครื่องดนตรีในช่วงวัยเยาว์ แต่เมื่อครั้งที่เสด็จฯ ไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษทรงหัดเล่นไวโอลิน และต่อมาเมื่อเสด็จฯ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วได้ทรงซอด้วง ตามพระบรมฉายาลักษณ์ที่ปรากฎ

นอกจากนี้ พระองค์ทรงโปรดเครื่องดนตรีฝรั่ง เห็นได้จากขณะทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ทรงสนพระทัยดนตรีฝรั่งเป็นอย่างมาก และเมื่อเสด็จนิวัติสยามทรงซื้อแผ่นเสียงเพลงฝรั่งเป็นจำนวนมาก โดยเป็นแผ่นเสียงประเภทไขลาน อาทิ เพลงของศิลปินบีโธเฟน (Beethoven) โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) เฟลิคส์ เม็นเดิลส์โซน (Felix Mendelssohn) เป็นต้น

วงดนตรีมโหรีหลวงในราชสำนัก

เมื่อทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ยังไม่มีการก่อตั้งวงดนตรีส่วนพระองค์ ต่อมาหลังจากนั้นเพียง 1 ปี เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้จัดตั้งวงดนตรีถวายเพื่อให้เป็นวงส่วนพระองค์ ซึ่งเรียกว่า “วงมโหรีหลวง” ซึ่งในบางครั้งรัชกาลที่ 7 ก็ทรงร่วมบรรเลงซอด้วงและซออู้กับวงมโหรีหลวง และวงได้เล่นถวายอาทิตย์ละหลายครั้ง ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน  

นอกจากนี้ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ได้จัดตั้งวงดนตรีถวายอีก 2 วง เป็นวงดนตรีข้าราชบริพาร วงที่ 1 เป็นวงดนตรีผู้หญิงล้วน ซึ่งล้วนเป็นลูกศิษย์ของพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) อาทิ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน คุณเชื่อม ดุริยประณีต (สุดา เขียววิจิตร) และคุณแช่มช้อย (ดุริยประณีต) ดุริยพันธุ์ โดยวงดนตรีจะเข้าไปบรรเลงถวายในทุกวันพุธ และนักดนตรีแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเขียว (สีเขียว หมายถึง วันพุธ อันเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) 

วงมโหรีหลวงฝ่ายหญิง

ส่วนวงที่ 2 เป็นวงดนตรีที่ใช้ในรัชกาลโดยเฉพาะ สําหรับบรรเลงเมื่อทรงเล่นละคร ละครดึกดําบรรพ์ ละครรํา และการละเล่นสนุกสนานต่าง ๆ ซึ่งเป็นวงดนตรีผู้ชาย ประกอบด้วยนักดนตรีที่เป็นมหาดเล็ก

เพลงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลง 3 เพลง เพลงแรก คือ ราตรีประดับดาว เถา เพลงที่ 2 คือ เพลงเขมรลออองค์ เถา และเพลงที่ 3 คือ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง 3 ชั้น โดยราชบัณฑิตยสถานได้มีการบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 3 เพลง ลงบนแผ่นเสียงโดยห้างพาราโฟน ประเทศเยอรมัน ส่วนหนึ่งนำถวายขึ้นเป็นของหลวง และอีกจํานวนหนึ่งนำไปจัดจำหน่ายโดยห้างตรากระต่ายของ ต.เง๊กชวน ทำให้เพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 3 เพลง เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสยาม

แต่รัชกาลที่ 7 มิได้ทรงพระราชนิพนธ์เพียงเพลง 3 เพลงเท่านั้น ยังทรงพระราชนิพนธ์ไว้อีกหนึ่งเพลง แต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย คือ เพลงสาริกาชมเดือน เถา โดยครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ เล่าให้ฟังว่า บทร้องนั้นเป็นบทร้องเก่า เนื้อหาบางส่วนมีดังนี้

“…อย่างไรเล่าเจ้าสาริกาแก้ว ไม่เอ่ยแอ่วไปอีกเล่าท่านเจ้าห้อง เพราะรู้ข่าวว่าจะเข้ามาฟังลอง จะขอถามนามน้องสกุลณี…“

บทเพลงสาริกาชมเดือน 3 ชั้น ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับลดลงมาเหลือ 2 ชั้น และท้ายที่สุดปรับลดลงให้เป็นเพลงชั้นเดียว เมื่อทรงนิพนธ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังมิทันได้สร้างบทร้อง ก็เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

วงเครื่องสายฝรั่งหลวงในรัชกาลที่ 7 

วงดุริยางค์ (จุล) สมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2742

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะว่า วงดนตรีไทยจะทําให้ใหญ่ขึ้นกว่าวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่หรือมโหรีเครื่องสายขนาดใหญ่ ที่มีนักดนตรีจำนวน 30-40 คน เหมือนกับวงออร์เคสตราของฝรั่ง สามารถจัดตั้งได้หรือไม่

ซึ่งหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้ถวายคำแนะนำตอบว่า “สามารถทําถวายได้ แต่ต้องฝึกมาก เพราะต้องกําหนดแนวการบรรเลงของทุกคนให้เป็นระเบียบ” ทําให้จําเป็นจะต้องมี conductor หรือวาทยกรเกิดขึ้น แต่ยังไม่ทันจะทําถวายตามพระราชประสงค์ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรขึ้นเสียก่อน

ภายหลังวงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวงได้จัดตั้งขึ้นอีกครั้ง โดยเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ได้เชิญพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) กลับมาช่วยสร้างวงเครื่องสายฝรั่งหลวง และก่อตั้งสํานักงานที่สวนมิสกวัน เริ่มรับนักเรียนรุ่นแรกเข้ามาพร้อมการก่อตั้ง

พ.ศ. 2743 บันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากล

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความคิดในการบันทึกเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี และการขับร้องประสานเสียงลงแผ่นเสียงราชบัณฑิต รวมทั้งจะมีการเขียนโน้ตเพลงไทยเดิม เพลงหน้าพาทย์ เพลงโหมโรงเช้า เพลงโหมโรงกลางวัน เพลงโหมโรงเย็น และเพลงพระราชนิพนธ์ โดยบันทึกเป็นโน้ตสากลบนบรรทัด 5 เส้น จึงมอบหมายหน้าที่ให้พระเจนดุริยางค์เป็นผู้อำนวยการจัดทำ โดยท่านได้นำลูกศิษย์เข้ามาช่วยบันทึกโน้ตเพลง ทำให้ดนตรีสากลในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น กล่าวได้ว่า

“หนักแน่น เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าสมัยรัชกาลที่ 6 เยอะมาก เพราะเด็กที่มาเรียนในสมัยรัชกาลที่ 7 ในช่วงระยะเวลาเพียง 8 ปี เก่งหมดทุกคน เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 7 แล้ว ไปเป็นหัวหน้าวงดนตรีใหญ่ ๆ ได้หมด”

หลังจากรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ พระเจนดุริยางค์ได้รับการสถาปนาเป็นบิดาของวงดุริยางค์ทหารอากาศ วงดุริยางค์ตํารวจ วงกรมศิลปากร และตลอดชีวิตของท่านได้ถวายงานรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ถือได้ว่า “พระเจนดุริยางค์เป็นบุคคลสำคัญในวงการดนตรีของไทยที่เป็นผลผลิตในรัชสมัยรัชกาลที่ 7″

พระเจนดุริยางค์ หรือปีเตอร์ ไฟท์ (Peter Feit)

เพราะฉะนั้นงานดนตรีประเภทดีด สี ตี เป่า และดนตรีสากล ก็ได้ผลประโยชน์จากนักดนตรีของกรมมหรสพในรัชกาลที่ 7 ไปเป็นครูสอนดนตรี เป็นนักแต่งเพลง ซึ่งหลายท่านที่รู้จัก อาทิ ครูไสล ไกรเลิศ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระเจนดุริยางค์ต่อมาได้เป็นครูผู้สร้างนักร้องที่มีชื่อเสียงอย่าง สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร และสมาน กาญจนะผลิน เจ้าพ่อเพลงหนังเพลงละครและเป็นนักแต่งเพลงระดับใหญ่ ทําเพลงให้กับโรงละครและวงการดาราอย่างมหาศาล 

วงดนตรีฝรั่งหลวงของรัชกาลที่ 7 “สร้างกำลังคน” ให้กลายเป็น “ครูดนตรีไทยสากล” ถือได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และสร้างผู้สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้” 

รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่

Facebook: www.stou.ac.th/link/122Y
YouTube: www.stou.ac.th/link/Pj9U
SoundCloud: www.stou.ac.th/link/DLWdO
Blockdit: www.stou.ac.th/link/QYU8I

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น