๕๒
พระตำหนักเวนคอร์ต (Vane Court)

พระตำหนักเวนคอร์ท ณ หมู่บ้านบิ้ดเด็นเด็น (Biddenden) ใกล้เมืองแอชฟอร์ด (Ashford) ในจังหวัดเคนท์ (Kent) ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 200 ไมล์ โดยที่บริเวณนั้นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศบริสุทธิ์ ร่มรื่นสวยงาม และภูมิอากาศที่ดีกว่าเวอร์จิเนียร์ วอเตอร์ เพราะใกล้ทะเลมากกว่า

พระบาทสมเด็จพระกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าประทับเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2480 ลักษณะของพระตำหนักเวนคอร์ตเป็นตึกผนังปูนสีขาวประกบท่อนไม้โอ้ค (Oak beamed) ทาสีดำแบบทิวเดอร์ (Tudor) คานค้ำพื้นชั้นบนที่เพดานเป็นท่อนซุงใหญ่ เช่นกัน ความเก่าแก่ทำให้พื้นมีความลาดเอียงถึงขนาดที่สิ่งใดอยู่บนพื้นกลิ้งไปอีกห้องหนึ่งได้

พระจริยวัตรทรงโปรด ณ พระตำหนักเวนคอร์ต

ณ พระตำหนักเวนคอร์ตนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระสำราญมาก พระจริยวัตรประจำวันที่ทรงโปรดปรานมากที่สุด คือ เสด็จลงทำสวนและปลูกต้นคาร์เนชั่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางผังปลูกต้นไม้และไม้ดอกด้วยพระองค์เองทั้งสองพระองค์ทรงช่วยกันปลูก และแยก ตัดใบ คอยดูแลรักษาต้นคาร์เนชั่นที่ทรงปลูกไว้ในเรือนกระจก (Green House) ที่มีไฟฟ้าให้ความร้อนให้ภายในเรือนกระจกอบอุ่นและมีอุณหภูมิที่สม่ำเสมอ ดอกคาร์เนชั่นจึงงดงามและมีสีสันต่าง ๆ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงตัดดอกไม้มาปักแจกันไว้ตามห้องต่าง ๆ ในพระตำหนักทุกวัน

ทั้งสองพระองค์โปรดเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรดอกไม้ในสวน มีสะพานเล็ก ๆ มีบ่อน้ำทรงเลี้ยงเป็ดเทศไว้หลายพันธุ์ ทรงประทับริมบ่อน้ำและประทานขนมปังโยนลงให้เป็ด

“ทรงเพลิดเพลินในการทอดพระเนตรพวกเป็ดเทศสีสวย ซึ่งว่ายวนอยู่ระหว่างกอไผ่ที่อยู่กลางสวนดอกไม้ บางตัวก็เดินขึ้นไปบนบกเข้าไปในบ้านเล็ก ๆ ที่สร้างไว้บนเนินเขาเตี้ย ๆ ริมบ่อให้เป็นที่พักและฟักไข่ได้”

ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างสามัญชน

            หนังสือพิมพ์ Sunday Dispatch เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2481) ได้รายงานจากหมู่บ้านบิ้ดเด็นเด็นว่า  

“บรรดาชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ต่างรักและเทิดทูนพระองค์ด้วยทรงพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณ (generosity and kindness) พวกเขาได้เฝ้าฯ บ่อย ๆ เพราะแทนที่จะทรงสั่งซื้อของและให้ร้านในเมืองไปส่งที่พระตำหนัก กลับทรงจักรยานตามถนนเล็ก ๆ ของหมู่บ้าน เพื่อทรงจับจ่ายจากร้านในหมู่บ้าน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมมาก เพราะสัปดาห์หนึ่งจะทรงซื้อของที่ร้านหนึ่ง อีกสัปดาห์หนึ่งที่อีกร้านหนึ่ง อีกสัปดาห์ที่อีกร้านหนึ่ง โปรดที่จะทรงซื้อช็อคโกแลตที่ร้านกาแฟประจำหมู่บ้านทำเองและบางครั้งเสวยพระกระยาหารมื้อย่อม ๆ ที่ร้านนั้นด้วยในช่วงฤดูร้อน ทรงพระกรุณาทำหน้าที่ ‘มูลนาย’ (Squire) ประจำหมู่บ้าน โดยทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานถ้วยรางวัลในงานประกวดดอกไม้ และงานแข่งม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ‘มูลนาย’ พระองค์นี้ทรงรถยนต์แทนที่จะทรงม้าล่าสัตว์อย่างมูลนายอังกฤษดั้งเดิมทั้งหลาย นอกจากนั้นยังทรงเป็นขวัญใจของพวกเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน แม่หนูโอล์เว่น โจนส์ (Olwen Jones) วัย 4 ขวบ อวดตุ๊กตาตัวใหญ่ซึ่งเธอได้รับพระราชทาน เธอจะถวายบังคม (Salaam) ทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าฯ เธอพูดคำภาษาไทยที่ทรงสอนเธอได้หลายคำ เช่น ‘มือเปื้อน’ หรือ ‘น้ำชา’ และชื่อวันต่าง ๆ ในสัปดาห์ … ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้มีความมั่นใจว่า ไม่มีวันเสด็จกลับสู่ประเทศสยาม เพราะทุกครั้งที่เขาเห็นพระองค์ทรงพระดำเนินไปตามถนนในหมู่บ้านกับสุนัขพันธุ์ แอร์เดล (Airedalr) ที่ชื่อ แซม (Sam) ของพระองค์แล้ว เขาเชื่อว่าพระองค์โปรดที่จะประทับในประเทศอังกฤษอย่างเงียบ ๆ มากกว่า”

อีตัน เฮ้าส์ (Eton House)

ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ พระตำหนักเวนคอร์ต ได้ทรงเช่าห้องชุดชุดหนึ่งไว้ที่อาคารอีตัน เฮ้าส์ (Eton House) เลขที่ 61 ถนนอัพเพอร์ โกรส์เวินเนอร์ (Upper Grosvenor Street) ในย่ายเมย์แฟร์ (Mayfair) ใกล้กับสถานฑูตสหรัฐอเมริกาและประตูชัยมาร์เบิ้ล อาร์ช (Marble Arch) และถนนออกซฟอร์ด (Oxford Street) ถนนอันมีชื่อเสียง ทั้งนี้เช่าไว้เพื่อเป็นสถานที่ประทับแรมเมื่อทรงมีพระราชกิจธุระหรือเสด็จทอดพระเนตรภาพยนตร์ ละครเวที หอศิลปะและพิพิธภัณฑ์ หรือทรงจับจ่ายซื้อของ เช่นที่ห้างแฮรอดส์ (Harrods) ด้วยเหตุที่ว่าพระตำหนักเวนคอร์ตอยู่ห่างไกลจากกรุงลอนดอน จึงทรงเช่าห้องชุดนี้ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2482

ครั้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2481 หรือ ค.ศ. 1939 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นการณ์ไกล และทรงแน่พระทัยว่าสงครามต้องมีขึ้นแน่นอน จึงทรงเตรียมพร้อมเพื่อปกป้องรักษาดูแลผลประโยชน์ของผู้ที่อยู่ภายในพระราชานุเคราะห์ของพระองค์ ท่านทรงได้เรียกมิสเตอร์เครกมาเฝ้าและรับสั่งให้เริ่มประหยัดรายจ่ายทุกทาง โดยให้เลิกเช่าห้องชุดอีตัน เฮ้าส์ทันที และทรงได้รับสั่งว่าทรงตัดสินพระทัยจะหาบ้านพักใหม่อยู่ในย่านใกล้ ๆ กับบ้านดอนฮิล (Dawn Hill) ซึ่งเป็นพระตำหนักที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรม และหม่อมมณี ภานุพันธุ์ ณ อยุธยา (ภายหลังเป็นคุณหญิงมณี สิริวรสาร) เช่าประทับอยู่ ณ สถานที่จัดสรรที่ชื่อว่า เวนเวอร์ตเอสเตท (Wenteorth Estate) ในแถบเวอร์จิเนีย วอเตอร์ ไม่ไกลจากพระตำหนักเกล็นแพ็มเมิ่นต์ (Glen Pammant)

The Last Absolute King ชีวประวัติจากลายพระหัตถ์จากราชา

            นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาว่างทรงพระอักษรในห้องสมุดทุกวัน พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์พระราชชีวประวัติของพระองค์ตั้งแต่แรกประสูติจนสละราชสมบัติ และทรงตั้งพระทัยว่าหนังสือของพระองค์คงได้เป็นชีวประวัติของพระมหากษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์องค์สุดท้ายของประเทศไทย (The Last Absolute King) ท่านเคยรับสั่งว่า

“ทรงมีพระราชประสงค์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบความจริงหลายประการที่ปรากฏขึ้นในรัชสมัยของท่าน เพราะได้มีเหตุการณ์หลายอย่างบังเกิดขึ้นในชีวิตของพระองค์ที่ไม่คาดฝัน พระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็จริงอยู่ แต่ก็ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงได้รับการประณามกล่าวหาด้วยถ้อยคำรุนแรง ถูกปรักปรำใส่ร้ายต่าง ๆ นานาอย่างไม่เป็นธรรมมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใด ๆ”

ดังนั้นพระองค์จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์พระราชประวัติตั้งแต่แรกประสูติจนถึงสละราชสมบัติ แต่น่าเสียดายว่าทรงนิพนธ์ได้เพียงพระองค์ท่านมีพระชนมายุเพียง 25 พรรษาเท่านั้น พระองค์ก็เสด็จสวรรคตมิทันได้ทรงพระนิพนธ์ให้จบไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับอยู่ที่พระตำหนักเวนคอร์ตระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2480 – กันยายน พ.ศ. 2482 ครั้งเมื่อเดือนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระตำหนักนี้ก็ถูกยึดครองโดยฝ่ายทหารอังกฤษเพื่อใช้เป็นกองบัญชาการแห่งหนึ่ง จากนั้นได้เปลี่ยนเจ้าของหลายครั้ง โดยครั้งหนึ่งเคยอยู่ในมือเจ้าของบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ดอกไม้และพืชผัก ปัจจุบันเป็นบ้านส่วนบุคคล

การวิก จักรพันธุ์, ม.จ., นรุตม์ (เรียบเรียง). (2539). ใต้ร่มฉัตร: หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์. แพรวสำนักพิมพ์.
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว. (2544). ‘บ้าน’ ไกลบ้าน: ประชาธิปกราชนิเวศน์ในอังกฤษ. รายงานกิจการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประจำปี 2543. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
มณี สิริวรสาร, คุณหญิง. (2535). ชีวิตเหมือนฝัน. ชวนพิมพ์.

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน