๔๘
พิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกครั้งแรกในไทย

เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ โรงเรียนนายร้อยทหารบก ทรงพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกที่สำเร็จการศึกษา ตลอดจนพระราชทานรางวัลแก่ผู้สอบไล่ได้คะแนนดี ที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องประเทศชาติต่อไป นับเป็นเกียรติยศสูงสุดของผู้เริ่มรับราชการทหารถือเป็นพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกครั้งแรกในประเทศไทย

ความสำคัญของพิธีพระราชทานกระบี่

พิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบก เป็นพิธีที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย พระราชทานกระบี่ให้แก่ว่าที่ร้อยตรี ว่าที่เรือตรี ว่าที่เรืออากาศตรี และว่าที่ร้อยตำรวจตรี ที่สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช สถาบันการศึกษาทางทหารต่างประเทศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งถือว่าเป็นพิธีอันทรงเกียรติที่มีความหมายถึง การสำเร็จการศึกษาโดยสมบูรณ์ของเหล่าทหารและตำรวจพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องประเทศชาติ ซึ่งเป็นพิธีการสำคัญที่จัดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และมีการจัดต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

26 มีนาคม 2471 พิธีพระราชทานกระบี่ครั้งแรกของไทย

เดิมทีพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบก มีเพียงพระราชทานรางวัลประจำปีเท่านั้น ส่วนกระบี่นั้น กรมยุทธศึกษาทหารบกเป็นผู้แจกจ่ายให้พร้อมกับเครื่องยศทหาร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2471 กรมยุทธศึกษาทหารบกเห็นว่า กระบี่เป็นเครื่องยศสำคัญควรที่นักเรียนทำการนายร้อยทหารบกจะได้รับพระราชทานต่อพระหัตถ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีการจัดพระราชพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบกขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬา และทรงพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยที่สำเร็จการศึกษา ตลอดจนพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนนายร้อยผู้ที่สอบไล่ได้คะแนนดี ณ โรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทหารบก ซึ่งในขณะนั้น รัชกาลที่ 7 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษของโรงเรียนนายร้อยทหารบก

นักเรียนนายร้อยทหารบกรับพระราชทานกระบี่เป็นรุ่นแรก มีจำนวน 42 นาย หนึ่งในนั้น คือ นักเรียนนายร้อย สฤษดิ์ ธนะรัตน์ หรือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 11 และเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ โดยนายร้อยรุ่นนี้ถือเป็น “นายทหาร รุ่น 72” เนื่องจากคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 201/12132 ลงวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2471 ระบุว่า “ให้เป็น น.ท.ร. ตั้งแต่วันที่พระราชทานกระบี่เป็นเกียรติยศ แต่ให้รับเงินเดือนอัตรา ร.ศ. ชั้น 3 ตั้งแต่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472”

ปี พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระบี่ ครั้งที่ 2 และรางวัลแก่นักเรียนนายร้อยทหารบก และนักเรียนที่สอบไล่ได้ที่ 1 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2472 โดยในวันดังกล่าวกรมยุทธศึกษาทหารบก และกองโรงเรียนนายร้อยทหารบกได้ร่วมกันจัดงานแสดงละครพูดเรื่อง “กลียุค” ถวาย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 ได้มีการปรับปรุงกรมยุทธศึกษาทหารบกใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช ประจำกรมเสนาธิการทหารบก มาเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก โดยพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการเสด็จพระราชทานกระบี่ในครั้งนั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีการแสดงกีฬาถวาย

จอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 ประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าราชการจำเป็นต้องประหยัดพระราชทรัพย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดจัดงานพระราชทานกระบี่ แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก นำนักเรียนนายร้อยทหารบกเข้ารับพระราชทานกระบี่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2474 โดยมีนักเรียนนายร้อยเข้ารับพระราชทานกระบี่ จำนวน 30 นาย ถือเป็นพิธีพระราชทานกระบี่ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงระแคะระคายถึงข่าวคราวการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร ดังข้อความในพระบรมราโชวาทแก่นักเรียนนายร้อย พ.ศ. 2474 มีความตอนหนึ่งที่ “ทรงเน้นย้ำให้ทหารไม่ยุ่งกับการเมือง เพราะถ้ายุ่งกับการเมืองเมื่อไหร่ ก็จะกลายเป็นเกิดความวุ่นวายเหมือนในประเทศจีนในสมัยนั้น” ดังนี้

“…เพราะฉะนั้นหน้าที่สำคัญของทหารนั้น คือให้ความปลอดภัยแก่ประเทศและประชาชน ถ้าทหารเราจะประพฤติตนมีอาชีพอย่างอื่นนอกจากอาชีพของตนเป็นผิดทั้งนั้น ถ้าเราจะประพฤติเหมือนที่มีอาชีพค้าขาย นึกแต่จะเพิ่มรายได้ เช่นนั้น ย่อมเป็นของทำไม่ได้ ผิดอาชีพของตนโดยแท้จริงเดียว หรืออีกอย่างหนึ่งจะมั่วแต่หลงคิดแผนการเมืองต่างๆ นานา ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือนนั้นก็ผิดเหมือนกัน ไม่ว่าประเทศใดๆ หมด เขาย่อมถือว่านายทหารประจำการไม่มีหน้าที่จะคิดหรือจะไปพูดยุ่งเกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าทหารยุ่งกับการเมืองแล้ว ผลก็ย่อมตรงข้าม ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือในเมืองจีน พวกนายทหารต่างๆ ต่างรวมทหารเป็นก๊กเป็นเหล่า รบกันไม่รู้จักจบจักสิ้นเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นหลักสำคัญอันหนึ่ง ทหารต้องไม่เกี่ยวกับการเมือง หน้าที่ของทหารต้องรักษาความสงบ…”  

พิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อย หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

หลังจากประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย นักเรียนนายร้อยทหารบกได้มีส่วนช่วยเหลือในการรักษาความสงบเป็นเวลานาน มีเวลาศึกษาเล่าเรียนน้อยกว่าปกติ แต่นักเรียนได้พยายามศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้เป็นส่วนมาก กระทรวงกลาโหมได้เห็นคุณความดีของนักเรียนนายร้อยทหารบกและนักเรียนนายดาบ จึงได้เลื่อนชั้นขึ้นตามลำดับ ส่วนการพระราชทานกระบี่และรางวัลสำหรับนักเรียนทำการนายร้อย กระทรวงกลาโหมเห็นว่าเวลาฉุกเฉินเช่นนั้น ไม่สมควรจะรบกวนใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้แจกกระบี่แทนพระองค์ที่วังปารุสกวัน และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาผู้แทนราษฎรขึ้นและให้เปลี่ยนแปลงเครื่องแบบทหารบกให้เป็นไปในทางสะดวกและประหยัดพระราชทรัพย์ยิ่งขึ้น ตลอดจนปรับปรุงหลักสูตรใหม่สำหรับนักเรียนนายร้อยทหารบกให้เหมาะสมแก่กาลสมัยมากยิ่งขึ้น


จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2493 สมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยทุกเหล่าทัพ ด้วยพระองค์เองเกือบทุกรุ่น จนถึง พ.ศ. 2552 จึงได้หยุดเพื่อรักษาพระวรกาย และเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระบี่เป็นครั้งสุดท้าย โดยมีผู้แทนนักเรียนนายร้อยแต่ละเหล่าทัพ เหล่าละ 2 นาย รวม 8 นาย พร้อมกันทั้งสี่เหล่า เข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์ ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ส่วนนักเรียนนายร้อยที่สำเร็จการศึกษานายอื่นนั้น กระทำพิธี ณ หอประชุมโรงเรียน ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ความตอนหนึ่งว่า

 “…หน้าที่สำคัญที่รอท่านอยู่เบื้องหน้านั้น กล่าวโดยสรุป ได้แก่การจรรโลงรักษา ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ทุกคนจึงต้องตั้งใจให้มั่นคงแน่วแน่ ที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้นให้เต็มกำลังความรู้ความสามารถ และให้เที่ยงตรง ถูกต้อง เป็นธรรม อีกอย่างหนึ่งจะต้องเข้าใจด้วยว่า การปฏิบัติงานของท่าน จำเป็นต้องได้รับการร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ท่านจึงต้องระมัดระวังประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี ให้เป็นที่ศรัทธาเชื่อถือได้ ถ้าทำได้ดังนี้ งานในภาระหน้าที่ทุกอย่างก็จะสำเร็จผลที่พึงประสงค์ คือ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข และชาติบ้านเมืองมีความมั่นคงปลอดภัย…”

หลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต พิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรได้ว่างเว้นไประยะหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองอีกครั้ง ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ นักเรียนนายเรืออากาศ และนักเรียนแพทย์ทหารในส่วนนายทหารสัญญาบัตรชาย จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต ส่วนพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ กระทำพิธี ณ หอประชุมชุณหะวัณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ


ตลอดระยะเวลากว่า 100 กว่าปี ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน ที่มุ่งมั่นในการผลิตทหารสัญญาบัตรที่มีคุณลักษณะตามที่กองทัพต้องการมารับใช้ชาติ ตลอดจนยังคงเห็นความสำคัญของพิธีพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อย จึงเห็นควรให้มีการจัดต่อเนื่องจนถึงในรัชกาลปัจจุบัน นับว่าเป็นเครื่องเกียรติยศสูงสุดของผู้เริ่มรับราชการทหารของประเทศไทย

บทความออนไลน์ เรื่อง โรงเรียนราชกุมารและคะเด็ดสกูล (ปฐมบทโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

เทพ หงสกุล. (2510). ประวัติโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. โรงพิมพ์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า.
โคตรทหาร. (2561). “การรับพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์ครั้งแรก. www.stou.ac.th/link/uZCC

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน