STOU Read it now! EP.17 ทำอย่างไรถึงจะไม่ถูก AI แย่งงาน

สวัสดีค่ะ วันนี้ จะมาแนะนำหนังสือ ทำอย่างไรถึงจะไม่ถูก AI แย่งงาน ผู้เขียนคือคุณเนตรนภิส ฟ้ารักษา

หลายปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินคำว่า AI อยู่บ่อยครั้ง AI คืออะไร ทำไมแวดวงต่างๆ ถึงมีการให้ความสนใจกับ AI เป็นอย่างมาก

AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้เครื่องจักรสามารถคิด เรียนรู้ และตัดสินใจได้เหมือนมนุษย์ แนวคิดเรื่อง AI เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แต่ได้มีการพัฒนาอย่างจริงจังในช่วงกลางศตวรรษที่ 20

ปัจจุบัน AI ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์หลายอย่าง มีการนำ AI มาใช้ในทุกภาคส่วน เช่น การใช้หุ่นยนต์ในสายผลิตภาคอุตสาหกรรม การใช้ระบบตอบคำถามลูกค้าแบบอัตโนมัติในภาคบริการ การตรวจจับการลอกเลียนผลงานการเขียนทางวิชาการในภาคการศึกษา รวมถึงใช้จับความเร็วรถยนต์ในภาคสังคม เป็นต้น

และ AI ยังคงมีแนวโน้มที่จะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจะต้องเตรียมตัวรับมือ และปรับตัวอย่างไรในการนำ AI มาช่วยทำงาน โดยที่ไม่ให้มาแย่งงานได้ในอนาคต

อันที่จริงแล้ว AI มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือช่วยทำให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว ลดความผิดพลาดในการคำนวณ ช่วยทำงานบางอย่างที่ยาก ซับซ้อน และมีความอันตรายสำหรับมนุษย์ให้มีความง่ายขึ้น เป็นแนวทางนำมาใช้ให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ส่วนข้อเสียคือการนำ AI ไปใช้ในทางที่ไม่ดี หรือแนวโน้มการเข้ามาแทนที่งานบางประเภท รวมถึงข้อกังวลใหญ่คืออาจมีการพัฒนาจนฉลาดกว่ามนุษย์ ดังนั้น ผู้ที่พัฒนา AI จะต้องมีความรับผิดชอบ และควรมีการออกกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมการทำงานของ AI ให้เข้มงวดก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่งตอนนี้ก็มีข่าวว่า AI ที่ออกแบบมาสำหรับการเล่นเกม เริ่มเรียนรู้วิธีหลอกลวงเพื่อที่จะเอาชนะในเกมแล้ว ถึงแม้ว่าฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นอันตราย แต่ถ้า AI เริ่มเรียนรู้สิ่งที่ไม่ดีมากขึ้น ต่อไปอาจทำให้ไม่สามารถควบคุมได้

คราวนี้มาเราดูกันว่างานแบบไหนล่ะ ที่ AI มีโอกาสเข้ามาทำให้เกิดผลกระทบ ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน คืองานประเภทที่ต้องมีการทำประจำซ้ำๆ เช่น การใช้ Chat bot ในการตอบคำถามทั่วไปที่เราพบได้ในภาคบริการ ถึงแม้บางครั้งจะทำให้เราอารมณ์เสียก็ตามเพราะคำตอบที่ได้ไม่ตรงคำถาม หรือถ้าเป็นภาคการเกษตร คือ การหว่านเมล็ดพืช รดน้ำต้นไม้ หรือพ่นสารเคมี เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตรโดยการลดจำนวนแรงงานคนลง

และงานแบบไหนกันนะที่น่าจะรุ่งในยุค AI แน่นอนแล้วก็คงหนีไม่พ้นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรซอฟแวร์ เช่น วิศวกร AI ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาและสร้างระบบ AI นักออกแบบ AI หรือจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า AI จะมีข้อดีหลายอย่าง แต่เราก็ไม่ควรที่จะตื่นตระหนกกลัวว่า AI จะมาแย่งงานเราไปทั้งหมด เพราะงานบางอย่างยังคงต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ การคิดวิเคราะห์เชิงลึก การแก้ไขปัญหา การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร หรือด้านประสาทสัมผัส เนื่องจากทักษะเหล่านี้ AI ยังไม่สามารถที่จะทำได้ หากเรามีการพัฒนาทักษะดังกล่าว รวมถึงการปรับตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ควบคู่กับการนำ AI มาใช้ จะทำให้เราสามารถที่จะทำงานได้ดียิ่งขึ้นในยุค AI

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ยังไม่ควรที่จะเชื่อในทุกข้อมูลที่ได้รับจาก AI เพราะการวิเคราะห์ข้อมูลบางอย่าง AI อาจไม่ถูกต้องทีเดียว ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์นี่แหละที่ยังคงเป็นผู้ที่ต้องกรองและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจาก AI และเป็นผู้ตัดสินใจอยู่ดี

หากฟังแล้วสนใจอ่านเนื้อหาทั้งเล่ม สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ห้องสมุด มสธ. พิมพ์ค้นหาหนังสือชื่อทำอย่างไรถึงจะไม่ถูก AI แย่งงานได้เลยค่ะ และก่อนจากกันใน EP นี้ ฝากกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามรายการ STOU Read it Now! ด้วยนะคะ แล้วพบกันใหม่ใน EP. ต่อไปค่ะ