๖๑
จุดเริ่มต้นสำนักราชบัณฑิตยสถาน

ก่อตั้ง “ราชบัณฑิตย์สภา”

            เมื่อ พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

“เดิมกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีหน้าที่แต่จัดการหอพระสมุดฯ ย่างเดียว ครั้นการหอพระสมุดสำหรับพระนครเจริญรุ่งเรืองขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชกาลก่อนจึงทรงเพิ่มเติมการต่าง ๆ ให้เปนหน้าที่ของกรรมการหอพระสมุดฯ มากขึ้นโดยลำดับมา คือ หน้าที่อำนวยการวรรณคดีสโมสร และหน้าที่การตรวจรักษาของโบราในพระราชอาณาเขต เปนต้น คั้นมาถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ได้โปรดฯ เพิ่มหน้าที่ให้จัดการพิพิธภัณฑสถาน และการบำรุงวิชาช่าง ซึ่งยกมาแต่กรมศิลปกร  และยังมีการอย่างอื่น ๆ อันเนื่องด้วยบำรุงวิชาความรู้ ซึ่งพระราชดำริห์เห็นว่า ควรจะให้กรรมการนี้เปนพนักงานจัดทำยังมีอีกหลายอย่าง…”

 “…และนามที่เรียกว่า กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ไม่สมกับหน้าที่ซึ่งเปนพนักงานอยู่ในบัดนี้ ชอบที่จะแก้ไขยให้เปนระเบียบเรียบร้อยตามสมควรแกการ ก็ทำเนียบกระทรวงราชการฝ่ายพลเรือนแต่โบราณ มีกรมราชบัณฑิตย์อยู่กรมหนึ่ง ซึ่งเปนตำแหน่งสำหรับทรงตั้งผู้มีวามรู้ศาสตราคมไว้รับราชการ แต่หากราชการในหน้าที่ได้เปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ จนกลายเปนกรมน้อยขึ้นอยู่ในกระทรวงธรรมการ มีหน้าที่แต่สำหรับรักษาพระไตรปิฎก และบริกรรมมทำการพิธียางอย่าง ทรงพระราชดำริห์ว่าควรจะฟื้นหน้าที่กรมราชบัณฑิตย์ให้ทำการสำคัญตามศักดิ์แต่โบราณ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งราชบัณฑิตย์สภาขึ้น…”

จากข้อความข้างต้นนั้น รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า นามที่เรียกว่า “กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร” นั้นไม่สมกับหน้าที่ซึ่งทำอยู่ในขณะนั้น ประกอบกับทรงเห็นสมควรฟื้นฟูกิจการของ “กรมราชบัณฑิตย์” ซึ่งมีมาแต่โบราณและเป็นตำแหน่งสำหรับทรงตั้งผู้มีความรู้ศาสตราคมไว้รับราชการ จึงเปลี่ยนนามกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “ราชบัณฑิตย์สภา”

การปรับเปลี่ยนนี้ทำให้บรรดาการซึ่งกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครทำอยู่แต่ก่อน อำนาจหน้าที่ของกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครอันมีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายและหน้าที่ของกรมราชบัณฑิตย์ ซึ่งมีอยู่ในขณะนั้น ให้รวมมาเป็นอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตย์สภา บรรดาสถานที่และวัตถุซึ่งกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นหนักงานพิทักษ์รักษาอยู่ และที่กรมศิลปากรพิทักษ์รักษาอยู่ให้โอนมาอยู่ในอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตย์สภาทั้งสิ้น

โดยมีการจัดตั้งหน้าที่ภายใน “ราชบัณฑิตย์สภา” เป็น 3 แผนก คือ
1. แผนกวรรณคดี เป็นหนักงานจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร และสอบสวนพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์
2. แผนกโบราณคดี เป็นพนักงานจัดการพิพิธภัณฑ์สถาน ตรวจรักษาโบราณวัตถุสถาน
3. แผนกศิลปากร เป็นพนักงานจัดการบำรุงรักษาวิชาช่าง

นอกจากนี้รัชกาลที่ 7 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการราชบัณฑิตย์สภาขึ้น ได้แก่

  • สภานายก            สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เป็นสภานายก
  • อุปนายก             สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  เป็นอุปนายก
  • อุปนายก             พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นอุปนายก
  • อุปนายก             มหาอำมาตย์โท พระยาโบราณราชธานินทร์
  • กรรมการ             มหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ
  • กรรมการ             มหาเสวกโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต
  • กรรมการ             มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน