๖๘
วังไกลกังวล

วังไกลกังวล หัวหิน เป็นวังส่วนพระองค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2469 ปีที่ 2 ของรัชกาล เพื่อเป็นสถานที่ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถและพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับอยู่เนืองๆ ตามโอกาสต่าง ๆ โดยมิได้ทรงละทิ้งราชการงานเมือง และเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของประเทศขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่ไกลกังวล ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475และเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคมปีถัดมา ทั้งสองพระองค์กำลังประทับแปรพระราชฐานอยู่ที่นั่น วังนี้ ซึ่งเป็นวังเดียวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในรัชกาล จึงเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไม่เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงสร้างวังไกลกังวลไว้เพื่อประทับทรงพักผ่อนพระอิริยาบถแต่ประการเดียว หากแต่เพื่อที่จะได้ทรงสนับสนุนและทรงติดตามความคืบหน้าของการทดลองการปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาลในการบริหารจัดการพื้นที่พักผ่อนตากอากาศแห่งนี้ไปด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับการพัฒนาหัวหิน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงประสบด้วยพระองค์เองว่า หัวหินมีปัญหาความขาดแคลนน้ำจืดมากขึ้น มีผู้ไปพักผ่อนมากขึ้น จึงได้ทรงปรึกษากับเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรฯ ยังผลให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก พุทธศักราช 2469 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2469 สำหรับท้องที่ตั้งแต่บ้านชะอำถึงตำบลหัวหิน ประกอบกับการเริ่มสร้างวังไกลกังวล โดยมีพระราชประสงค์จะทรงทดลองการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบ “ประชาภิบาล” หรือ”เทศบาล” (municipality) ที่หัวหิน เพราะเป็นที่ซึ่งน่าจะหารายได้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวไปด้วย วังไกลกังวลจึงมีความเกี่ยวข้องกับพระบรมราโชบายที่มีมาก่อนหน้าในอันที่จะทรงปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนจากเบื้องล่าง คือระดับของท้องถิ่นให้ประชาชนได้เรียนรู้การปกครองตนเองผ่านการมีส่วนร่วมในกิจการของเทศบาล และเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาจากวังศุโขทัยถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศขณะนั้น) อุปนายกราชบัณฑิตยสภา โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา “ไปกะการสร้างวังใหม่ที่ตำบลหัวหิน” พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขานนามอย่างง่ายๆ ว่า “สวนไกลกังวล หัวหิน” ชื่อนี้น่าจะมีต้นเค้ามาจากการที่เมื่อทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษและเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลปัจจุบันที่เยอรมัน ทรงติดพระทัยวัง ซองซุซี (Sansouci) ที่เมืองปอตสดัม (Potsdam) ซึ่งมีความหมายว่า “without cares” หรือ “ไกลกังวล” นั่นเอง

กว่าจะเป็น “วังไกลกังวล”

การก่อสร้างเริ่มต้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2469 หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ในระหว่างเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม วัสดุก่อสร้างส่วนหนึ่งได้มาจากการรื้อพระตำหนักและเรือน 3 หลัง ของสมเด็จพระพันปีหลวงที่หัวหิน โรงเรือนที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และกระเบื้องที่ยังไม่ได้ใช้จากพระราชวังบ้านปืนหรือพระรามราชนิเวศน์ที่จังหวัดเพชรบุรีมาใช้มุงหลังคาพระตำหนัก แสดงว่าโปรดเกล้าฯ ให้ประหยัดทุกทาง แต่การขนย้ายวัสดุก่อสร้างเข้ามาทั้งจากกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ โดยก่อสร้างพระตำหนักปลุกเกษม ตำหนักเอิบเปรม ตำหนักเอมปรีดิ์ก่อน ตามด้วยพระตำหนักที่ประทับ และพระตำหนักน้อย ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2470 ได้มีพระราชพิธีก่อพระฤกษ์พระตำหนักที่ประทับ โดยสั่งเดิมให้เขียนศิลาจารึกชื่อว่า “ตำหนักชื่นสุข” แต่ต่อมาพระราชทานชื่อใหม่ว่า “พระตำหนักเปี่ยมสุข” คล้องจองเข้าชุดกันกับชื่อของหลังอื่นๆ เป็นเปี่ยมสุข ปลุกเกษม เอิบเปรม เอมปรีดิ์ ส่วนพระตำหนักน้อยนั้นตั้งอยู่ห่างออกไปจากหมู่ดังกล่าว และไม่ได้มีชื่อที่คล้องจองด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จฯ ประทับแรมที่สวนไกลกังวลเป็นครั้งแรก ณ พระตำหนักปลุกเกษม ระหว่างวันที่ 16-27 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 ทั้ง ๆ ที่ยังมีบรรยากาศของการก่อสร้างอยู่ใกล้ ๆ ก็มิได้ทรงพระกังวล และได้มีการออก “ระเบียบการภายในสวนไกลกังวล” กำหนดข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันความติดขัดในการก่อสร้าง โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมวังไกลกังวลหันหน้าเข้าหาทะเลทิศตะวันออกหันหลังให้ภูเขาทางทิศตะวันตก จึงรับลมทะเลในเวลากลางวัน และลมภูเขาในเวลากลางคืน และมีเพดานสูงกว่าบ้านแบบสเปน จึงนับว่าเหมาะแก่ภูมิอากาศ ทุกองค์เรียงกันเป็นแถวแต่เยื้องกันเล็กน้อย

“วังไกลกังวล” สถานที่ความทรงจำในประวัติศาสตร์ไทย

วังไกลกังวล สถานที่แปรพระราชฐาน ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีอยู่ 2 คราว ขณะที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของประเทศขึ้นขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่ไกลกังวล นั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเหตุการณ์กบฏบวรเดช 2476
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฎรนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นำกำลังชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และอ่านคำแถลงการณ์ของคณะราษฎร อันมีเจตนาคือสถาปนาประชาธิปไตย ในวันเดียวกันนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ สวนไกลกังวล ทรงทราบความเมื่อพระยาอิศราธิราชกราบบังคมทูลเรื่องเหตุจลาจลในกรุงเทพฯ ว่า
“เมื่อทรงทราบข้อความในโทรเลขฉบับนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ‘ฉันก็รู้อยู่เหมือนกันว่าจะมีผู้ก่อการจลาจล แต่ไม่นึกจะเร็วอย่างนี้”ขณะที่การหารือดำเนินอยู่ เรือรบหลวง “สุโขทัย” เข้าเทียบท่าทิ้งสมอ เพื่อให้นาวาตรีหลวงศุภชลาศัยนำสาสน์ของคณะราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรหนังสือของคณะราษฎรแล้ว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบแก่คณะราษฎรเวลา 18.00 นาฬิกา วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯและกบฏบวรเดชนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ขั้วตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงาน และอุดมการณ์ของคณะราษฎร จึงมีความพยายามที่จะนำระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมา โดยรวบรวมกำลังพลจากหัวเมืองและกรุงเทพฯ เพื่อก่อการ ท้ายที่สุดถูกปราบปรามลงโดยรัฐบาลและเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “กบฏบวรเดช” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดว่า พระองค์ทรงสนับสนุนเพื่อนำการปกครองกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระองค์ทรงเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้วยสถานการณ์ที่สับสนและไม่สู้ดีนัก ทำให้พระองค์ต้องตัดสินพระทัยเสด็จออกจากวังไกลกังวล ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2476 การเดินทางในครั้งนั้นหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล สะท้อนภาพเหตุการณ์วันว่า

“ข้าพเจ้าจะไม่ลืมภาพที่ในหลวงเสด็จออกจากหัวหินคืนนั้นได้เป็นอันขาด! ไฟปิดมืดครึ้มครือ มีแต่เสียงพึมพำเคลื่อนไหวของคนทุกพวกทุกเหล่าที่อยู่ในวังเวลานั้น จนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ผู้ใดมีอาวุธอย่างใดก็ติดตัวไปหมด ทหาร 2 คนเดินผ่านข้าพเจ้ามา เขาเปิดไฟฉายออกให้ดูทางที่ถนนแล้วกระซิบว่า- “อย่ากลัว, กระหม่อมถวายชีวิตวันนี้” แล้วตบซองปืนที่อยู่กับตัวสองข้าง ข้าพเจ้าเงยหน้าดูจึงเห็นว่า-หลวงอภิบาลฯ และหลวงประเสริฐฯ ราชองครักษ์ในหลวง เราจับมือกันด้วยความรู้สึกว่า คราวนี้จะสู้ตายด้วยกัน ไม่มีจับกันอีก !”

พฤทธิสาณ ชุมพล, สนธิ เตชานันท์. (ม.ป.ป.). การทรงสร้างวังไกลกังวลกับการพัฒนาหัวหิน. สถาบันพระปกเกล้า. www.stou.ac.th/link/D5AEs
ศาสตร์ตรา จันทร์ผ่องศรี. (2565). วังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ 7 ขณะเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 และ กบฏบวรเดช 2476. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_26467.

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน