๕๙
“แหวนวิเศษ” มรดกหนังเงียบเรื่องเดียวที่สมบูรณ์ของชาติ

ภาพยนตร์เรื่อง “แหวนวิเศษ” เป็นภาพยนตร์เงียบที่ถ่ายโดยฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง แต่งเรื่อง และกำกับการแสดงด้วยพระองค์เอง ภายใต้ชื่อบริษัทผู้สร้างว่า “ภาพยนตร์อัมพร” ถือว่าเป็นภาพยนตร์เงียบจากกลุ่มภาพยนตร์ทรงถ่ายทั้งหมดที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ

พระราชนิยมภาพยนตร์ทรงถ่ายของรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่โปรดการถ่ายภาพนิ่งและถ่ายภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เมื่อครั้นที่พระองค์เสด็จประพาสในสถานที่ต่าง ๆ จะทรงพกกล้องถ่ายภาพยนตร์ติดพระหัตถ์อยู่เสมอ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ด้วยพระองค์เอง และโปรดฯ พระราชทานภาพยนตร์ส่วนพระองค์ เรียกว่า “ภาพยนตร์อัมพร” เป็นภาพยนตร์ที่ทรงบันทึกเหตุการณ์สำคัญของสยามในหลายแง่มุม ประกอบด้วย ภาพยนตร์พระราชพิธีสำคัญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทย ภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ทั่วไป ภาพยนตร์สารคดี จะมีเนื้อหาของเหตุการณ์ที่ให้ความรู้ ความเข้าใจในด้านศิลปวัฒนธรรม และภาพยนตร์บันเทิง เช่น ภาพยนตร์เรื่อง “แหวนวิเศษ” เป็นภาพยนตร์เงียบที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ

“แหวนวิเศษ” ภาพยนตร์เงียบมรดกของชาติ

เดิมทีหอภาพยนตร์ได้ค้นพบฟิล์มภาพยนตร์เงียบเรื่อง “แหวนวิเศษ” เพียง 2 ม้วน ได้แก่ ม้วน 1 และม้วน 3 ที่ห้องเก็บหนังสือเก่าของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมาได้ค้นพบฟิล์มม้วน 2 โดยไม่คาดคิด ที่วิทยาลัยครูจันทบุรี ซึ่งเคยเป็นวังสวนบ้านแก้วของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และยังพบว่าขาดชิ้นส่วนที่หายไปที่ข้อความอักษรบรรยายในม้วนที่ 2 ราวสองฟุต ในที่สุดก็พบจากเศษฟิล์มที่มีผู้พบในกองขยะจากวังสุโขทัยโดยการค้นพบภาพยนตร์เงียบเรื่อง “แหวนวิเศษ” บางส่วนอยู่ในสภาพชำรุดมาก ต่อมากรมศิลปากรได้ส่งมอบให้ หอจดหมายเหตุภาพยนตร์ และเสียงแห่งชาติออสเตรเลียช่วยดำเนินการอนุรักษ์ให้ ด้วยการซ่อมแซมและฟื้นสภาพเพื่อพิมพ์ถ่ายทอดใหม่จนเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์

ภาพยนตร์เรื่อง “แหวนวิเศษ” เป็นภาพยนตร์เงียบ ขนาด 16 มิลลิเมตร ขาวดำ มีเนื้อหาที่ส่งเสริมในด้านคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับเด็ก ถ่ายโดยฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภายใต้นามแฝง “นายน้อย ศรศักดิ์” เป็นพระนามแฝงของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีที่มาจากพระนาม “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย” ของชาววังและสร้อยพระนาม “ศักดิเดชน์” โดยดำเนินการถ่ายทำที่อ่าวธารเสด็จและบริเวณน้ำตกธารเสด็จ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทภาพยนตร์ขึ้นในเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ 2) ระหว่างการเสด็จฯ ประพาสทางทะเล และโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายทำขึ้นที่เกาะพะงันในหมู่เกาะสมุย ตัวละครสวมบทบาทโดยพระประยูรญาติในราชวงศ์จักรี เช่น ตาคง (ชาวประมง) รับบทโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ อ้ายเก่ง รับบทโดย หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ และนางพรายน้ำ รับบทเป็น หม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ และท่านอื่น ๆ

เนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง “แหวนวิเศษ”

ภาพยนตร์เงียบเรื่อง “แหวนวิเศษ” จะเป็นเรื่องของตาคง ผู้มีภรรยาเป็นแม่หม้ายซึ่งมีลูกติดเป็นจำนวนมาก ตาคงเกลียดบรรดาลูกเลี้ยงมากจึงสร้างอุบายพาลูกเลี้ยงทั้ง 5 คน ประกอบไปด้วย อ้ายเก่ง อ้ายขี้เกียจ อ้ายตะกละ อ้ายซน และหนูแหวน ไปปล่อยทิ้งที่เกาะร้าง เมื่อเดินทางไปถึงเกาะ ตาคงออกอุบายใช้ให้ลูกเลี้ยงไปหาลูกไม้มาเป็นอาหาร หวังว่าเด็ก ๆ จะหลงป่าหายไป เด็ก ๆ เข้าไปในป่าแล้วบังเอิญได้พบนางพราย จึงเล่าเรื่องราวว่าถูกตาคง พ่อใจร้ายเฆี่ยนตีและไล่ให้มาหาลูกไม้ในป่า นางพรายสงสารจึงมอบแหวนวิเศษให้ไอ้เก่ง ว่าชี้สิ่งใดจะได้สมใจนึก เด็ก ๆ รีบกลับมาหาตาคง แล้วเสกก้อนหินให้เป็นสิ่งของสารพัดนึก ตาคงเกิดละโมบและหาโอกาสในขณะที่เด็ก ๆ หลับจะฆ่าอ้ายเก่งเพื่อชิงแหวนวิเศษมาเป็นของตน เดชะบุญอ้ายเก่งตื่นมาเห็นจึงเสกตาคงเป็นสุนัข หนูแหวนน้องเล็กสงสารพ่อเลี้ยงจึงขอร้องให้อ้ายเก่งเสกให้พ่อกลับมาและขอให้เป็นพ่อที่ใจดีที่สุดในโลก อ้ายเก่งจึงเสกตาคงกลับมาจากสุนัขเป็นตาคงใจดี พาลูก ๆ กลับบ้าน ก่อนจะออกจากเกาะ อ้ายเก่งทำแหวนตกน้ำทะเลไป ตาคงว่าแล้วคืนให้ผีไป

ปัจจุบันภาพยนตร์เรื่อง “แหวนวิเศษ” เป็นภาพยนตร์เงียบจากกลุ่มภาพยนตร์ทรงถ่ายทั้งหมดที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 3 จากภาพยนตร์ 25 เรื่อง เมื่อปี พ.ศ. 2556 และจัดฉายให้ดูเป็นประจำที่ศาลาเฉลิมกรุงจำลอง และในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

การขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ

มรดกภาพยนตร์ชาติ เป็นโครงการของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ที่จัดขึ้นเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ริเริ่มโครงการขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 และประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฯ ทั้ง 25 เรื่อง ในวันที่ 4 ตุลาคม ของปีนั้น ซึ่งได้กำหนดให้เป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องที่จะจัดขึ้นทุกปี เพื่อขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ที่มีคุณค่าของชาติและเสี่ยงต่อการสูญเสีย ปี พ.ศ. 2567 นับเป็นครั้งที่ 14 โดยพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ได้แก่ หลักเกณฑ์การเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่าบันทึกประวัติศาสตร์ความทรงจำที่สำคัญของประเทศไทย หรือมีคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ อย่างโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ หรือเป็นภาพยนตร์ที่มีอิทธพลต่อคนและสังคมไทยโดยวงกว้าง เป็นต้น

สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สถาบันพระปกเกล้า. (2558). ปกเกล้าธรรมราชา. ธรรมดาเพรส.
ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล, ศิริน โรจนสโรช. (ม.ป.ป.). ภาพถ่าย ภาพยนตร์และพระราชนิยมในการถ่ายภาพยนตร์. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th
ธนพล นนทสุตวงศ์, รัชกร คงเจริญ และดวงรัตน์ ดีขั้ว. (2566). STOU Storian Podcast EP.6 จุดเริ่มต้น
ภาพยนตร์…สู่พระราชนิยมพระปกเกล้าฯ
. https://library.stou.ac.th/2023/07/stou-storian-podcast-ep-6-history-of-cinema/

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน