วังศุโขทัยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มาตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นทรงราชย์ และยังเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หลังจากที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานกลับจากสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ตราบจนสวรรคต ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527
ที่มาของ “วังศุโขทัย”
วังศุโขทัยแต่เดิมเป็นบ้านของขุนนางผู้หนึ่งอยู่ริมคลองสามเสน ในช่วงต้นรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงซื้อไว้เพื่อพระราชทานเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ จะทรงผนวช และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ซื้อสวนที่อยู่ติดบริเวณบ้านหลังนั้นพระราชทานเพิ่มให้อีกเพื่อสร้างเป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ โดยได้ ขนานนามวังตามพระนามที่ทรงกรมของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ว่า “วังศุโขทัย” ตัวบ้านเดิมที่เป็นของขุนนางและต่อมาเป็นที่ประทับนั้นเป็นบ้านหลังคามุงจาก แต่มีห้องหลายห้อง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ทรงจัดห้องชั้นบนเป็นห้องบรรทมได้ 2 ห้อง ชั้นล่างเป็นห้องทรงพระอักษร ห้องเสวย และห้องเสด็จออกให้เฝ้าฯ ต่อมาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักตึกและพระตำหนักไม้ริมน้ำถวายในพื้นที่สวน เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ทรงอภิเษกสมรส กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ วังศุโขทัยก็ได้เป็นที่ประทับของทั้งสองพระองค์มาโดยตลอด และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีทรงรับภาระดูแลกิจการภายในพระตำหนัก ดังที่ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทท่านหนึ่งเล่าว่า
ทั้งนี้ กิจวัตรประจำวันของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีในช่วงที่พระสวามีเสด็จไปทรงงานราชการในเวลากลางวันนั้น บางครั้งเสด็จลงทรงอำนวยการเรื่องการปลูกต้นไม้ต่าง ๆ ที่ตำหนักสี่ฤดู ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวังศุโขทัย ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต
“…เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยฯ ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ได้ประทับอยู่ที่ พระตำหนักใหญ่วังศุโขทัย ตอนเช้า เสวยร่วมกันเพียง 2 พระองค์ที่ห้องทางทิศใต้ชั้น 2 หลังจากนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยฯ เสด็จไปทรงงานที่กองพันทหาร ตอนกลางวัน หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีฯ จะเสวยอยู่บนพระตำหนัก ไม่เสด็จลง เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยฯ เสด็จกลับจากทรงงาน หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีฯ จะเสด็จมารับที่อัฒจันทร์ด้านล่าง และเสวยพระสุธารสชาร่วมกันตอนห้าโมงเย็น โดยทรงถือปฏิบัติเป็นเวลา หลังจากนั้นจะเสด็จขึ้นและเสวยพระกระยาหารค่ำด้วยกันเพียงสองพระองค์ โดยประทับราบกับพื้น เสวยแบบไทย…ทั้งสองพระองค์จะเสด็จลงตำหนักไม้สัปดาห์ละครั้ง เพื่อทอดพระเนตรหนังและโปรดให้เจ้านายร่วมดูหนังด้วย…เวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยฯ เสด็จไปทรงงานจะทรงขับรถเอง ทรงใช้รถซิงเกอร์ (Singer) คันเล็ก ถ้าเป็นการเสด็จส่วนพระองค์จะทรงใช้รถซิงเกอร์คันใหญ่ ประทับคู่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีฯ โดยมีพลขับขับรถถวาย…”
บทบาทของวังศุโขทัยในหน้าประวัติศาสตร์
วังศุโขทัยได้ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยในช่วงดึกของวันเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เสด็จฯ จากวังไกลกังวลกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง และเมื่อเสด็จฯ ถึงวังศุโขทัยแล้วในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นเอง พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่วังศุโขทัยนี้เอง โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้นำ การเปลี่ยนแปลงการปกครองและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จประพาสทวีปยุโรปเพื่อเจริญพระราชไมตรี พร้อมกับทรงเข้ารับการรักษาพระอาการประชวรที่พระเนตร แต่ด้วยความผันผวนทางการเมืองที่เกิดขึ้น เป็นผลให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ และประทับอยู่ที่สหราชอาณาจักรพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ตราบจนสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ก็ประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อมาตราบจนสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ดังนั้น วังศุโขทัยจึงตกอยู่ในสภาพที่ปราศจากองค์เจ้าของวังอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จนิวัติประเทศไทยตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2492 พร้อมทั้งทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับมาประดิษฐานยังสถานที่ที่ควรร่วมกับสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์แล้ว ในช่วงนั้น วังศุโขทัยถูกใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลจึงเตรียมที่จะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ไปประทับยังวังตำบลท่าช้าง ที่ประทับเดิมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระบิดา แต่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์กราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะทรงรบกวนสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล จึงทรงมองหาพื้นที่สำหรับจัดสร้างเป็นที่ประทับในหัวเมือง ซึ่งต้องพระราชประสงค์พื้นที่ในจังหวัดจันทบุรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้าง “สวนบ้านแก้ว” ขึ้น และประทับอยู่ที่สวนบ้านแก้วจนถึง พ.ศ. 2511 จึงเสด็จฯ แปรพระราชฐานกลับมาประทับ ณ วังศุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง
ในระยะแรกที่เสด็จฯ กลับมาประทับ ณ วังศุโขทัย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงมีพระราชกิจมาก ทรงใช้รับรองพระราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชที่เสด็จฯ มาเยือนประเทศไทย โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จะเสด็จออก ณ วังศุโขทัย เพื่อพระราชทานพระราชวโรกาสให้พระราชอาคันตุกะเฝ้าฯ เสมอ นอกจากนี้ กิจการทอเสื่อซึ่งทรงริเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งประทับที่ สวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ก็ยังทรงนำมาสืบสานต่อยังวังศุโขทัยด้วย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงงานทอเสื่อจากสวนบ้านแก้วมายังวังศุโขทัย โดยพระราชทานบริเวณพระตำหนักน้ำ เป็นสถานที่ทอเสื่อโดยเฉพาะ กิจการทอเสื่อที่วังศุโขทัยนี้เป็นลักษณะอุตสาหกรรมในครัวเรือนเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ดำเนินกิจการที่สวนบ้านแก้ว สภาพโดยทั่วไปของวังศุโขทัยอันเป็นที่ประทับในช่วงหลัง เป็นสถานที่ที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับนานาชนิด ด้วยเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โปรดธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น พระราชกิจยามว่างที่โปรดมากอีกประการหนึ่งคือการทำสวนไม้ดอก ในเรือนเพาะชำส่วนพระองค์ที่วังศุโขทัย จะทรงเลี้ยงแคคตัสเล็ก ๆ และกล้วยไม้ไว้เป็นจำนวนมาก โดยพระองค์จะเสด็จลงเพื่อทรงดูแล ใส่ปุ๋ย รดน้ำต้นไม้ด้วยพระองค์เองเสมอ ปัจจุบัน วังศุโขทัย เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราช
เอกสารอ้างอิง
ศิบดี นพประเสริฐ, ธงทอง จันทรางศุ. (ม.ป.ป.). วังศุโขทัย. สถาบันพระปกเกล้า. www.stou.ac.th/link/w4bk4.
ส.พลายน้อย. “วังศุโขทัย” ใน พระราชวังและวังเจ้านาย, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548 หน้า 120-127.
ผู้เรียบเรียง
ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.