พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จเยือนมณฑลฝ่ายเหนือและพายัพ ระหว่างวันที่ 6 มกราคม ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 หลังจากที่เสด็จฯ ไปทรงเปิดโรงเรียนพิษณุโลกวิทยายน เมืองพิษณุโลก และพระราชทานธงประจำกองลูกเสือแล้ว เช้าวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2436 พระองค์พร้อมด้วยพระบรมราชินี จึงเสด็จฯเยือนหัวเมืองแพร่ ด้วยมีพระราชดำริไว้ตั้งแต่แรกที่ทรงขึ้นครองราชสมบัติแล้วว่าจะเสด็จไปทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎร และสภาพภูมิลำเนาหัวเมืองต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง การเสด็จฯ ในครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งแรกของพระมหา กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีที่ได้เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและพายัพด้วยระยะทางที่ยาวไกล เพื่อสร้างสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเหล่าพสกนิกรของพระองค์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจที่สำคัญเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร
พระแสงราชศัสตราประจำเมืองแพร่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงราชศัสตราสำหรับพระราชทานไว้ประจำหัวเมือง เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯและประทับค้างแรม ณ เมืองนั้นๆ โดยมีพระราชประสงค์หลักที่จะมอบพระแสงราชศัสตราไว้เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ และใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา จึงมีพระราชกำหนดว่าเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปประทับที่จังหวัดใด ให้ถวายพระแสงราชศัสตรามาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ในจังหวัดนั้น
ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ในจังหวัดแพร่ ทั้งสองพระองค์ทรงสำราญพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงเห็นสภาพภูมิประเทศอันงดงาม และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไร่นาป่าเขา อีกทั้งราษฎรต่างมีความปลื้มปิติยินดีที่ได้มาเฝ้ารับเสด็จ
เมื่อข้าราชการ พ่อค้า คฤหบดี และพสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่างร่วมใจกันถวายการรับเสด็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสตอบและพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองแพร่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ ตลอดจนใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาซึ่งเป็นพิธีสำคัญของบ้านเมือง
เอกสารอ้างอิง
ธงทอง จันทรางศุ. (2558). จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช 2469.
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
สถาบันพระปกเกล้า. (2544). จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2469. เอ.พี. กราฟิคดีไซน์และการพิมพ์.
ผู้เรียบเรียง
กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.