๕๖
รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสญี่ปุ่น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือในปี พ.ศ. 2474 ซึ่งใช้ระยะเวลาการนานถึง 7 เดือน เส้นทางเสด็จฯ ผ่าน 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ในระหว่างวันที่ 6 เมษายน – 28 กันยายน พ.ศ. 2474

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชประสงค์ที่จะทรงศึกษาธรรมเนียมประเพณีและกฎระเบียบในราชสำนักญี่ปุ่น ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงตามชาติตะวันตก และการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับพระราชวงศ์ของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นปัญญาชนผู้แสวงหาความรู้ ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงประสบระหว่างการท่องเที่ยวพร้อมทรงเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ในสยาม และในประเทศอื่น ๆ

เส้นทางเสด็จฯ จากสยาม สู่ “ญี่ปุ่น”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ลงเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่ท่าราชวรดิษฐ์ ไปยังเกาะสีชังท่าเรือของสยาม และเสด็จฯ ลง เรือเดินสมุทรซีแลนเดียของบริษัทอีสต์เอเชียติก (East Asiatic Company) เข้าอ่าวฮ่องกง แล้วจึงเสด็จฯ ทรงประทับ เรือเอมเปรสออฟเจแปน (Empress of Japan) ออกจากฮ่องกงในเวลา 13.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2474

ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือเดินสมุทรนั้น ต้องเสด็จฯ ผ่านยังเซี่ยงไฮ้ (ดินแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ในขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและแมนจู จึงเป็นบททดสอบชั้นเชิงทางการทูตอย่างยิ่งของสยามที่ต้องวางตัวเป็นกลาง แม้ว่ารัฐบาลจีนประสงค์จะเชิญเสด็จฯ เยือนยังนานกิง เมืองหลวงใหม่ของจีน แต่เสนาบดีสภามีความคิดเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ควรเสด็จฯ เพราะประเทศไทยในเวลานั้นไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตและสิทธิสัญญาใด ๆ กับจีน หากเสด็จฯ เยือนนานกิงย่อมเป็นชัยชนะสำหรับจีน จึงต้องหาทางปฏิเสธอย่างสุภาพ ก่อนจะเสด็จฯ ออกจากเซี่ยงไฮ้ในเวลาต่อมา

พระราชกรณียกิจสำคัญในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ถึงญี่ปุ่น เวลา 14.00 น. ของวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2474 โดยเรือที่ประทับแล่นเข้าสู่ช่องแคบชิโมโนเซกิ (Shimonoseki Strait) ของญี่ปุ่นผู้นำร่องชาวญี่ปุ่นขึ้นเรือมาถวายดอกซากุระ ซึ่งเพิ่งผลิในวันนั้น ถือว่าเป็นลางดีสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น พระองค์เสด็จฯ ขึ้นไปบนหอบังคับการเรือเพื่อทอดพระเนตรช่องแคบที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีป้อมปราการซ่อนอยู่โดยรอบ พระองค์ทรงได้รับอนุญาตให้บันทึกาภาพ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามเผยแพร่นำออกสู่สาธารณะ ต่อมาพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญในญี่ปุ่น ดังนี้

วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2474
เวลา 7.30 น. เรือที่ประทับแล่นถึงเมืองโกเบ มีการยิงสลุตถวายและบริเวณท่าเรือมีลูกเสือและนักเรียน โบกธงชาติไทยและญี่ปุ่นกันอย่างพร้อมเพรียง โดยมีนายวาย ตายาเบะ อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสยามที่กรุงเทพฯ และท่านคุโรดะ เจ้าพนักงานราชพิธีของประเทศญี่ปุ่นรับเสด็จฯ

เวลา 17.00 น. เรือที่ประทับแล่นออกจากเมืองโกเบ มุ่งหน้าไปยังเมืองโยโกฮามา มีการยิงสลุตและท่าเรือเต็มไปด้วยลูกเสือและนักเรียนชายและหญิง โบกธงเปล่งเสียง “บันไซ” แปลว่า 1,000 ปี และ “ไชโย” โดยมีนายเซกิยะ ผู้ช่วยเสนาบดี กระทรวงวัง และท่านมัตสุไดระ ผู้ช่วยสมุหพระราชพิธีเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จฯ แทนพระองค์สมเด็จเจ้าจักรพรรดิ ท่านฟูตะระ

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2474
เวลา 15.30 น. รถไฟที่ประทับไปยังสถานีโตเกียว โดยมีเจ้าชายชิชิบุ พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิและพระชายารับเสด็จฯ แทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ และทรงประทับรถยนต์พระที่นั่งของญี่ปุ่นไปยังวังกาสุมิเซกิ ทรงเสวยพระกระยาหารและร่วมพิธีแลกเปลี่ยนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระหว่างกัน นอกจากนี้คณะลูกเสือมาแสดงขบวนแห่ตะเกียงและการฉายภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม


วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2474
เวลา 11.19 น. สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมตอบที่วังที่ประทับ และมีพระราชปฏิสันถารผ่านล่ามเช่นเดิม แต่ในลักษณะที่เป็นทางการน้อยลง ทรงพบว่าสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิทรงมีพระอุปนิสัยเขินอยู่บ้าง แต่เมื่อทรงคุ้นเคยแล้ว พระสรวลที่ทรงยิ้มแย้มนั้นงาม พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องราววิทยาศาสตร์ และบ่อยครั้งโปรดเกล้าฯ ให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมาบรรยายถวายที่พระราชวัง และยังโปรดเสด็จฯ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเท่ากับว่าทั้งสองพระองค์สนพระราชหฤทัยในเรื่องราวคล้าย ๆ กัน


เวลา 15.50 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ร่วมงานฮะนะมัตสุรี (Hanamatsuri-Festival) หรืองานเฉลิมฉลองพระประสูติกาลของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้เป็นในวันเดียวกับของสยาม ห่างกันราว 2 เดือน เพราะญี่ปุ่นนับตามปฏิทินสุริยคติ แต่สยามนับตามแบบจันทรคติ โดยมีนายกเทศมนตรีกรุงโตเกียวรับเสด็จฯ ที่สวนหิบิยา และนำเสด็จฯ ไปประทับบนเวทียกสูง คลุมและปูพื้นด้วยผ้าขาว เขากล่าวสุนทรพจน์ จากนั้นเชิญเสด็จฯ ทรงเผากำยานสักการะพระพุทธรูปปางประสูติองค์หนึ่ง ที่ประดิษฐานอยู่ภายใต้ปะรำล้อมรอบด้วยฝูงชนที่ว่ากันมีถึง 80,000 คน บนจัตุรัสขนาดใหญ่เบื้องหน้าพระพักตร์ และแล้วมีสัญญาณให้ฝูงชนหันหน้ามาทางพระองค์และเปล่งเสียง “บันไซ” เป็นจังหวะจะโคนพร้อมชูมือขึ้นเหนือศีรษะ

นาฎศิลป์ญี่ปุ่น

เวลา 21.30 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงบนเวทีที่ โรงละครคาบูกิ (Kabuki Theatre) ตามคำเชิญเสด็จฯ ของกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับโรงละครคาบูกิ เป็นโรงละครที่จัดแสดงในนาฎศิลป์คาบูกิคลาสสิก หรือโขนของญี่ปุ่น รายการในวันนั้นจัดแสดงถึงพัฒนาการของนาฎศิลป์ญี่ปุ่นตั้งอดีตถึงสมัยใหม่

โดยรายการแรกเป็นนาฎศิลป์โบราณ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทวดาสู้รบกับยักษ์ รายการต่อมาเป็นโศกนาฎกรรมในสมัยโตกุกาวะ (Tokugawa period) รายการถัดมาเป็นละครสมัยฟูจิวาระ (Fujiwara) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างชนเผ่า และรายการสุดท้าย เป็นการแสดงบัลเล่ท์ (Ballet) เนื้อร้องท่านฟูตาระ ดัดแปลงมาจากโขนที่ท่านเคยรับชมที่สยาม เครื่องแต่งกายเป็นแบบตะวันตกโดยมีความพยายามให้ดูคล้ายโขน เนื้อเรื่องคล้ายรามเกียรติ์ มีวงเครื่องสายฝรั่งบรรเลงประกอบตามแบบตะวันตกแต่ทำนองเพลงเป็นญี่ปุ่นผสมไทย ซึ่งการแสดงที่กล่าวข้างต้นปิดท้ายด้วยการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นภาษาไทย โดยนักแสดงทั้งหมด สร้างความประหลาดพระราชหฤทัยมากทรงชมว่าท่าฟูตาระเป็นผู้ฝึกซ้อมที่สามารถทีเดียว

วิถีพุทธในญี่ปุ่น

วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2474
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระพุทธไดบัตสุ (Daibutsu) ด้วยไม่เคยได้ทอดพระเนตรมาก่อน พระพุทธรูปองค์นี้หล่อด้วยทองแดงผสมดีบุก แม้ว่าจะไม่ได้ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น แต่งดงามที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่าเพราะประดิษฐานอยู่กลางแจ้งล้อมรอบไปด้วยต้นสน สร้างบรรยากาศสงบสันติสอดคล้องกับสีพระพักตร์พระพุทธรูป มีพระสงฆ์ นักเรียนและผู้คนทั่วไป ซึ่งคุกเข่ากับพื้นคล้ายในสยาม รอรับเสด็จฯ อยู่ พระองค์ทรงตรงนี้ว่า

“สำหรับเราพุทธศาสนิกชนฝ่ายหินยานชาวสยามจะรู้สึกว่าพุทธศาสนาในญี่ปุ่นไม่เหมือนกับของเราเท่าใดนัก ของเขาเปรียบได้กับพวกโปรเตสแตนท์ (Protestants) ในคริสต์ศาสนาตรงที่พระสงฆ์แต่งงานได้ ชาวญี่ปุ่นดูจะเน้นการรักษาไว้ซึ่งหลักปรัชญาบางประการของพุทธศาสนามากกว่าที่จะเน้นวินัยสงฒ์”

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงปลูกต้นสนไว้เป็นที่ระลึก พร้อมสลักเป็นภาษาญี่ปุ่นเพียงภาษาเดียว แปลได้ว่า

“ต้นสนทรงปลูกโดยพระเจ้ากรุงสยาม ที่ระลึกในโอกาสเสด็จเยือน ณ ที่นี้ เมื่อ 9 เมษายน ค.ศ. 1931”

พระราชกรณียกิจญี่ปุ่นขาเสด็จกลับสยาม

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จพระราชดำเนินเยือนแคนาดาทั้งสองพระองค์ทรงประทับเรือลำเดิมข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยมีบรรดาบุคคลสำคัญของพระราชสำนัก รัฐบาลญี่ปุ่นและเมือง เข้าเฝ้าฯ และทรงประทับรถยนต์ต่อไปยังเมืองนาโกยา (Nagoya) เสด็จฯ ทอดพระเนตรวัดพุทธนิสเสนจิ (Nissenji) วัดที่เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างญี่ปุ่นและสยาม และเสด็จฯ ทอดพระเนตรการจับปลาในเวลากลางคืนโดยความช่วยเหลือของนกคอร์มอแร้นต์ ในอุทยานหลวงริมแม่น้ำนาการา (Nagara River) หลังจากทรงประกอบพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ประทับเรือซีแลนเดียของบริษัทอีสเอเชียติคแห่งเดนมาร์กลำเดียวกับขาเสด็จไป ออกจากท่าและเสด็จฯ ถึงเกาะสีชัง ท่าเรือของกรุงเทพฯ ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474

รายงานกิจการ ประจำปี 2563 มูลนิธิ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ประชาธิปก-รำไพพรรณี. (2563). พระราชบันทึกความทรงจำในองค์ประชาธิปกเกี่ยวกับเมื่อเสด็จฯ ยังสหรัฐอเมริกา. มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี.
พันธดนย์ กิจชัยนุกูล. (2565). King Rama VII in Canada ชุดภาพการเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งแรกของกษัตริย์เอเชีย ซึ่งลำเลียงมาให้คนไทยได้ชมชั่วคราสที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ. https://readthecloud.co/from-siam-to-canada-1931/

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน