๖๗
รัชกาลที่ 7 เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและพายัพ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 รวมระยะเวลา 32 วัน การเสด็จในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมพระดำรงราชานุภาพเตรียมการและวางหมายกำหนดการ โดยเสด็จทางรถไฟเช้าวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2469 เสด็จประทับรถไฟพระที่นั่งพิเศษพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และข้าราชบริพารตามเสด็จจากสถานีรถไฟหลวงสวนจิตรลดาไปยังมณฑลพิษณุโลก เมื่อขบวนรถไฟพระที่นั่งวิ่งผ่านสถานีอยุธยา สถานีลพบุรี และสถานีนครสวรรค์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาถวาย ครั้นเวลา 18 นาฬิกาเสด็จถึงมณฑลพิษณุโลก ทางหัวเมืองได้จัดพิธีถวายการรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ

สมโภชพระพุทธชินราช

“พระพุทธชินราช” หรือชื่อที่ชาวเมืองพิษณุโลกนิยมเรียก “หลวงพ่อใหญ่” ตามชื่อวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่ วัดนี้ตั้งอยู่ ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก สร้างขึ้นมาพร้อมการสร้างเมือง เมื่อ พ.ศ. 1900 เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีพุทธลักษณะที่งดงามที่สุดในประเทศไทย

งานสมโภชพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จประทับในพระวิหาร ทรงถวายสักการะบูชา และทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ที่นิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราช อันเป็นโบราณมงคล สมเด็จพระบรมราชินีถวายผ้าทรงสะพักครุยกรองทอง จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรวัดราชบุรณะ และการประชุมสหกรณ์ ซึ่งพระยาพิพิธสมบัติได้อบรมถวาย ทรงบันทึกพระราชหัตถเลขาลงในสมุดรายงาน และพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สมาชิกคณะสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก 

เวลา 18.30 นาฬิกา เสด็จในงานสมโภชพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุอีกครั้ง พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยมีข้าราชการ คฤหบดี และภรรยาเฝ้ารับเสด็จ เมื่อเสด็จประทับในพระวิหารแล้ว พระสงฆ์ถวายศีลและเจริญพระพุทธมนตร์ ในช่วงกลางคืนมีการจุดดอกไม้เพลิงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและมีการแสดงมหรสพสมโภชเป็นการฉลอง

เสด็จประพาสวัดจุฬามณี

วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2469 เวลา 09.00 นาฬิกา เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปทอดพระเนตรวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดโบราณที่มีความสำคัญควบคู่กับเมืองพิษณุโลก มีองค์พระปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง และศิลาจารึก ในระหว่างที่เสด็จฯ กลับจากวัดจุฬามณีถึงบริเวณหน้าวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพื่อมาทรงประเคนเลี้ยง (เพล) พระสงฆ์ ได้มีผู้นำลิงเผือกมาน้อมเกล้าฯ ถวายตามคติความเชื่อโบราณว่าเป็นสัตว์คู่พระบารมีทรงมอบให้บ้านเมืองจัดส่งไปยังมณฑลพายัพ แล้วเสด็จประทับในพระวิหาร ทรงสักการะบูชาและทรงเวียนเทียนสมโภชพระพุทธชินราช

ทรงบวงสรวงอดีตมหาราช เสด็จทรงเปิดโรงเรียนพิษณุวิทยายน และพระราชทานธงลูกเสือ

ช่วงเวลาบ่ายวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2469  เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งตั้งอยู่ที่พระราชวังจันทร์ ซึ่งเป็นพระราชวังที่พระมหากษัตริย์โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับและเสด็จว่าราชการมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย จากนั้นเสด็จประพาสโรงทหาร และเสด็จฯ ไปทรงเปิดโรงเรียนพิษณุวิทยายนซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูเพื่อส่งไปสอนในโรงเรียนรัฐบาลและประชาบาล พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราโชวาท และพระราชทานธงประจำกองลูกเสือเพื่อเป็นเครื่องหมายของหมู่คณะ อีกทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจของอนุชนลูกหลานให้ปฏิบัติตนเป็นคนดี ทำคุณประโยชน์ต่อมณฑลพิษณุโลก ซึ่งเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนมาแต่ครั้งบรรพกาลให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป ในการนี้สมุหเทศาภิบาลได้นำครูและนักเรียนโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี และโรงเรียนผดุงนารีเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายหมอนอิงปักอย่างงดงาม 2 ใบ แม้จะเป็นสิ่งของที่มีค่าเพียงเล็กน้อยแต่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของผลงานประดิษฐ์ด้วยความภาคภูมิใจ

ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร. ตามรอยรัชกาลที่ 7 เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469. https://kingprajadhipokmuseum.com/content/file/document/0802171501671546.pdf

ธงทอง จันทรางศุ. (2558). จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พระพุทธศักราช 2469.
อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 

สถาบันพระปกเกล้า. (2544). จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและนครเชียงใหม่ พ.ศ. 2469. เอ.พี. กราฟิคดีไซน์และการพิมพ์.

กวิสรา  เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน