ไมโครฟิล์ม (Microfilm)
ไมโครฟิล์ม คือ การถ่ายภาพย่อส่วนของสิ่งพิมพ์ต้นฉบับลงบนฟิล์มม้วนโปร่งใส ความยาวประมาณ ๑๐๐ ฟุต ขนาดที่นิยมใช้คือ ๑๖ มิลลิเมตร และ ๓๕ มิลลิเมตร ไม่โครฟิล์มอาจพันเป็นวงม้วนไว้กับแกนวงล้อ (Roll Film) หรือบรรจุอยู่ในกล่องหรือตลับ (Cartridge or Cassette) ไมโครฟิล์มอาจย่อส่วนจากต้นฉบับลงในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเอกสาร ต้นฉบับ มีทั้งชนิดฟิล์มโพสิตีฟ และเนกาตีฟ ฟิล์มขาวดำ และฟิล์มลี่ ข้อมูลสารสนเทศที่บรรจุในไมโครฟิล์มมักเป็นสารสนเทศที่มีความยาวต่อเนื่อง เช่น วารสาร หนังสือพิมพ์ ฯลฯ เมื่อจะอ่านต้องใช้เครื่องอ่าน เพื่อขยายภาพ สามารถอ่านได้ที่ละหน้าตามความต้องการเหมือนอ่านหนังสือ
ชนิดของไมโครฟิล์มมี ๓ รูปแบบ คือ
1. ไมโครฟิล์มแบบม้วน (Open reel) ใช้สำหรับถ่ายเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ต้องการความต่อเนื่องในม้วนเดียว ซึ่งมีทั้งม้วนโลหะและม้วนพลาสติก มีความยาว ๑๐๐ ฟุต/ม้วน โดยทั่วไปโมโครฟิล์มมีขนาดมาตรฐาน ๓๕ มิลลิเมตร และขนาด ๑๖ มิลลิเมตร กรอบภาพมีทั้งแนวนอนและแนวตั้ง
2. ไมโครฟิล์มแบบกล่อง (Cartridge) ฟิล์มบรรจุอยู่ในกล่องปิดสำเร็จรูป
3. ไมโครฟิล์มแบบตลับ (Cassette) เป็นฟิล์มชนิดม้วนบรรจุอยู่ในตลับที่มีแกนป้อนฟิล์มและแกนรับฟิล์ม
ทั้งไมโครฟิล์มแบบกล่องและแบบตลับ จะต้องใช้เครื่องอ่านที่ออกแบบโดยเฉพาะ ส่วนดีของการบรรจุกล่องหรือตลับก็คือ ช่วยป้องกันฝุ่นละออง และการจับต้องตัวฟิล์มโดยตรงทำให้ฟิล์มไม่เสี่ยหาย ไม่มีรอยขีดข่วนหรือรอยนิ้วมือ อีกทั้งไม่ต้องเสียเวลาร้อยฟิล์มเข้ากับเครื่องอ่านไมโครฟิล์มแบบกล่อง
ไมโครฟีช (Microfiche)
ไมโครฟีช คือ วัสดุซึ่งได้จากการถ่ายภาพย่อส่วนของสิ่งพิมพ์ต้นฉบับลงบนแผ่นฟิล์มโปร่งใส มีขนาดต่างๆ กัน สำหรับขนาดมาตรฐาน คือ ๔” X ๖” สามารถบันทึกสิ่งพิมพ์ได้ประมาณ ๖๐-๒๐๐ กรอบภาพ ขึ้นอยู่กับอัตราการย่อส่วน มักใช้บันทึกสารสนเทศที่มีขนาดสั้น ไม่ต่อเนื่อง เช่น หนังสือ วิทยานิพนธ์ ฯลฯ ไมโครฟิชอาจมีอัตราส่วนย่อ ๑๕ : ๑ – ๕๐ : ๑ เวลาใช้ต้องไข้กับเครื่องอ่านเพื่อขยายข้อความในแต่ละหน้าให้เห็นชัด ส่วนบนของแผ่นมีรายละเอียดของสิ่งพิมพ์ต้นฉบับซึ่งสามารถอ่านด้วยตาเปล่าได้
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น แต่ไมโครฟิล์มและไมโครฟีชยังคงมีบทบาทสำคัญในการเก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญ โดยเฉพาะหอสมุดแห่งชาติที่ยังให้บริการอ่านเอกสารไมโครฟิล์ม ไมโครฟิช และไมโครแจ็กเก็ต ซึ่งถ่ายข้อมูลจากต้นฉบับ วารสาร หนังสือพิมพ์ แบบเรียนเก่าและหนังสือหายากบางประเภทที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ และห้องสมุดที่ต้องการเก็บรักษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์หรือข้อมูลหายากที่ไม่ต้องการให้เสื่อมสภาพตามกาลเวลา การแปลงเอกสารเหล่านี้เป็นดิจิทัลทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่การรักษาข้อมูลในรูปแบบเดิมก็ยังมีความสำคัญเช่นกัน
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2552). คู่มือการอนุรักษ์เอกสารต้นฉบับด้วยไมโครฟิล์ม. https://www.nlt.go.th/storage/contents/file/rWznYZi8IO7RQnC5GmJms7srS4zcD4bjybdyVkI4.pdf