อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ. มีความพร้อมสำหรับสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยอาคารได้รับการออกแบบและก่อสร้างให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวตามมาตรฐานวิศวกรรมและตามกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้คำนวณออกแบบคำนึงถึงการจัดรูปแบบเรขาคณิตให้มีเสถียรภาพในการต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ในพื้นที่ควบคุมรวมทั้งหอสมุดที่มีพื้นที่อาคารตั้งแต่ 2000 ตารางเมตรขึ้นไป
กฎกระทรวง ฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) ออกความความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 [กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคารหรือพื้นดินรองรับอาคาร สำหรับการก่อสร้างอาคารในเขตที่อาจได้รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว] เริ่มบังคับให้อาคารสูงเกิน 15 เมตร (ประมาณ 5 ชั้นขึ้นไป) ใน 10 จังหวัดเสี่ยงแผ่นดินไหว เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ฯลฯ ต้องออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว เพราะอยู่ใกล้รอยเลื่อนมีพลัง
กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ขยายพื้นที่เพิ่มพื้นที่บังคับใช้มาถึง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร แม้จะไม่ได้อยู่ใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหวและรอยเลื่อนมีพลัง แต่พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะธรณีวิทยาที่รองรับด้วยดินเหนียวกรุงเทพ ซึ่งสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้ 2-3 เท่าจากระดับปกติ ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยบนตึกสูงสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้มากกว่าปกติ
กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 ฉบับใหม่ถูกอัปเดตล่าสุดและประกาศใช้ปลายปี 2564 ได้แบ่งโซนความเสี่ยงใหม่เป็น 3 ระดับ โซน 1 เสี่ยงน้อย โซน 2 ปานกลาง โซน 3 เสี่ยงสูง โดยขยายพื้นที่ควบคุมให้ครอบคลุมกว่า 40 จังหวัด ควบคุมอาคารหลากหลายประเภท ไม่ใช่แค่ตึกสูง เช่น อาคารสาธารณะ บ้านจัดสรรในพื้นที่เสี่ยง หรือสถานที่คนแออัด ปัจจุบันหากจะสร้างอาคารใหม่ ต้องยึดตามกฎหมายปี 2564 เป็นหลัก ซึ่งเข้มงวดและครอบคลุมที่สุด

ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคารและโครงสร้างพื้นฐานโดยทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยนำโดยอธิการบดี วิศวกร และผู้เกี่ยวข้อง เข้าประเมินความปลอดภัยของพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย ผลการตรวจสอบของอาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ. พบว่า อาคารและพื้นที่ต่าง ๆ ไม่มีความเสียหายที่อาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานหรือมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ อ้างอิงจาก ประกาศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เรื่อง การเฝ้าระวังจากสถานการณ์แผ่นดินไหว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.วีระชาติ วิเวกวิน นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี
เอกสารอ้างอิง
- สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์. (2567, 10 ตุลาคม). กฏหมายควบคุมอาคาร. https://asa.or.th/laws-and-regulations/cba/
- ส่องมาตรฐานก่อสร้าง ตึกสูงในกรุงเทพฯ รับแผ่นดินไหวได้แค่ไหน. (2568, 28 มีนาคม). ฐานเศรษฐกิจ. https://www.thansettakij.com/general-news/623373
- กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564. (2564, 4 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138 ตอนที่ 16 ก. หน้า 3-18.