สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกับเรือนจำกลางบางขวาง กรมราชทัณฑ์ จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการใน โครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ช่วยบรรณารักษ์และซ่อมหนังสือ ห้องสมุดพร้อมปัญญา เรือนจำกลางบางขวาง ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 3 – 7 มีนาคม 2568 ณ ห้องสมุดพร้อมปัญญา เรือนจำกลางบางขวาง
การอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นให้ผู้ต้องขังมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะใน การจัดการงานเทคนิคห้องสมุด การซ่อมและเย็บเล่มหนังสือ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านบรรณารักษ์ สนับสนุนการให้บริการห้องสมุด และช่วยเหลืองานด้านการจัดการทรัพยากรสารสนเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานห้องสมุดเรือนจำ พ.ศ. 2565 ส่งเสริมให้ห้องสมุดพร้อมปัญญาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
พิธีเปิดการฝึกอบรมได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยรักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์กฤติกา จิวาลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศ และคณะ เข้าร่วมงาน โดยมีตัวแทนผู้บริหารเรือนจำกลางบางขวาง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และผู้เข้าร่วมฝึกอบรมร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยกรรมการสภามหาวิทยาลัยรักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)

ภายหลังพิธีเปิด คณะผู้บริหารและผู้แทนจากทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก สะท้อนถึงความร่วมมือในการส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องขัง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ

การฝึกอบรมครั้งนี้ครอบคลุมเนื้อหาสำคัญ อาทิ
- มาตรฐานห้องสมุดเรือนจำ/ทัณฑสถาน พ.ศ. 2565 เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับแนวทางที่กำหนด
- งานเทคนิคห้องสมุดเบื้องต้น ซึ่งครอบคลุมการจัดการทรัพยากรสารสนเทศทั้งหมดของห้องสมุด
- เครื่องมือช่วยค้นคว้าและการทำรายการทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงข้อมูล
- การกำหนดหัวเรื่องแทนเนื้อหาทรัพยากรสารสนเทศ และ การจัดหมวดหมู่ตามระบบทศนิยมดิวอี้ เพื่อให้การจัดเก็บและค้นหาหนังสือมีความเป็นระเบียบ
- การกำหนดและเรียงเลขเรียก เครื่องมือช่วยกำหนดเลขหมู่ระบบทศนิยมดิวอี้ และกำหนดเลขหนังสือ
- การซ่อมและเย็บเล่มหนังสือ เพื่อยืดอายุการใช้งานของทรัพยากรสารสนเทศ








โดย วิทยากรจากสำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.)
การจัดอบรมครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมเชิงบูรณาการที่จะช่วยให้ประชาคม/บุคคลสามารถพัฒนาให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน ร่วมทั้งการสนับสนุนให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาคน (People) เป็นการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมโดยให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหยในทุกมิติ และ การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ (Partnership) ในระดับสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชนและสังคม
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและกรมราชทัณฑ์ ในการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการคืนสู่สังคมและเสริมสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป