STOU Read it Now! ขอแนะนำหนังสือดี ๆ ของห้องสมุด มสธ. เกี่ยวกับการปรับตัวของเกษตรกรไทย แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมทำให้อาชีพเกษตรกรเป็นไปอย่างยั่งยืน กับเคล็ดลับและประสบการณ์การปรับตัวที่สำเร็จของเกษตรกรไทยในหนังสือชื่อเรื่อง การพัฒนาธุรกิจและสะสมทุนในชนบท (เพื่อความยั่งยืน) เนื้อหาของหนังสือได้นำเสนอตัวอย่างกิจการที่พลิกผันอาชีพของ “ชาวนา/ชาวสวน” ให้มาเป็น “เถ้าแก่” โดยได้ถอดแบบกระบวนการพัฒนาคุณสมบัติของผู้ประกอบการจาก 9 กรณีศึกษาที่เป็นเกษตรกรชนบทในพื้นที่ห่างไกลแต่สามารถริเริ่มกิจการที่มีความแตกต่างจากคนอื่น ๆ ในชุมชนจนสามารถพัฒนาสินค้าและบริการได้
การศึกษาการพัฒนาธุรกิจและสะสมทุนในชนบท (เพื่อความยั่งยืน) มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาธุรกิจในชนบทเพื่อให้เกิดความกินดีอยู่ดีที่ยั่งยืน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อย ปรับปรุงสภาพที่ดิน รูปแบบการผลิตการให้บริการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขจัดปัญหาความยากจนในชนบทซึ่งยังคงมีอยู่ในประเทศไทย ช่วยเพิ่มรายได้ในชุมชนชนบทเพราะพื้นที่ชนบทถือเป็นศูนย์กลางของภาคเกษตรกรรมและความมั่นคงด้านอาหาร สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อที่ 2 ซึ่งมุ่งหมายที่จะขจัดความหิวโหย สร้างหลักประกันการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการและเพียงพอตลอดทั้งปี
กระบวนการพัฒนากิจการตามผลการศึกษาการพัฒนาธุรกิจและสะสมทุนในชนบท (เพื่อความยั่งยืน) ที่พลิกผันอาชีพของ “ชาวนา/ชาวสวน” ให้เป็น “เถ้าแก่” ผลการศึกษาพบว่ากิจการที่จะเติบโต และเป็นไปอย่างยั่งยืนได้มีคำแนะนำเชิงปฏิบัติสรุปได้ ดังนี้ 1) กิจการที่เติบโตและยั่งยืนต้องเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีคุณค่าที่จะส่งมอบให้ผู้บริโภคชัดเจนไม่จำเป็นต้อง “เอาใจ” ผู้บริโภคจนสูญเสียเอกลักษณ์ของตนเอง แต่เรียนรู้ทำความเข้าใจทั้งในส่วนของตลาดและส่วนของผู้บริโภค ปรับแต่งสินค้า ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมในขอบเขตที่ไม่ขัดกับค่านิยม และวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการ 2 ) ผู้ประกอบการต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ รอจังหวะและโอกาสที่สำคัญที่ธุรกิจจะขยายตัวได้อย่างเหมาะสม เช่น กระแสการบริโภคสินค้าอินทรีย์ กระแสการแต่งกายที่เน้นความเป็นเอกลักษณ์ 3) ผู้ประกอบการต้องสะสมทุนความรู้และประสบการณ์ในพืชชนิดชนิดหนึ่งอย่างลึกซึ้ง มากกว่าการเปลี่ยนชนิดผักผลไม้ไปตามกระแสในระยะยาวการมีความรู้อย่างลึกซึ้งในพืชชนิดใดชนิดหนึ่งจะทำให้สามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น เพราะมีความเฉพาะตัวที่เสริมลงไป และสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ดี สร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้ามากขึ้นและเป็นยุคแห่งข่าวสารข้อมูล ข้อมูลเชิงลึกจากผู้ผลิตเป็นการสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังมากกว่าการสื่อสารการตลาดผ่านสื่อโฆษณา
หากสนใจศึกษาแนวคิดจากตัวอย่างกิจการที่พลิกผันอาชีพของ “ชาวนา/ชาวสวน” ให้เป็น “เถ้าแก่” เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางออกแบบการจัดการกิจการเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน สามารถอ่านเนื้อหาหนังสือทั้งเล่ม ได้ที่นี่