รายการ เสน่ห์ท้องถิ่น ตอน ระบำบ้านไกล ของสำนักบรรณสารสนเทศ โดย นายอาเขต แก้วสว่าง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการประกวดคลิปวิดีโอการจัดการความรู้ ระดับชาติ ครั้งที่ 1 ด้านการจัดการความรู้ด้านการอ่านและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ประเภทบุคลากร ที่จัดโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568
เพลงระบำบ้านไกล เป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานของชาวมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลงานบุญต่างๆ และเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญที่อาศัยอยู่บนเกาะเกร็ด เป็นการร้องเพลงในลักษณะที่เป็นการเล่าเรื่อง นักร้องมีทั้งฝ่ายชายและหญิง เป็นการร้องโต้ตอบที่มีลูกคู่รับ เป็นการด้นกลอนสด ที่ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบทางภาษา ไม่มีคำหยาบหรือคำสองแง่สามง่าม ระหว่างการเล่นไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ ลูกคู่จะใช้การตบมือให้จังหวะแทนเสียงดนตรี และขณะร้องผู้ร้องจะรำไปพร้อมกับขับร้องด้วย แต่ท่าที่รำไม่มีแบบแผนว่าจะต้องร่ายรำแบบใด เพียงแต่รำให้พอดูงาม
คำร้องขึ้นต้นด้วยคำว่า “เอ่อระเหยระบำ แขนอ่อนฟ้อนรำ โอ้ระบำของชาวบ้านไกล” และท่อนสุดท้ายขึ้นต้น “โอ้เจ้าเอ๋ย…”เมื่อร้องจบท่อนสุดท้าย ลูกคู่จะร้องรับด้วยคำร้อง “เอ่อระเหยระบำ แขนอ่อนฟ้อนรำ เขาก็รำสวยเอย สวยเอยสวยเอย สวยเอย เขาก็รำสวยเอย”
รายการ “เสน่ห์ท้องถิ่น” เป็น คลิปรายการสั้น ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักบรรณสารสนเทศ หาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่สารสนเทศที่เกี่ยวกับท้องถิ่นทั้งของจังหวัดนนทบุรี และท้องถิ่นอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกันทางวัฒนธรรม ตลอดจนเผยแพร่สารสนเทศและส่งเสริมการอ่านหนังสือด้านท้องถิ่นนนทบุรี ที่จัดทำโดยสำนักบรรณสารสนเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ของห้องสมุด 2 ช่องทาง ได้แก่ เฟสบุ๊ค และ ยูทูป ชื่อ ห้องสมุด มสธ. ภายใต้ Playlists เสน่ห์ท้องถิ่น ทุกวันที่ 24 ของทุกเดือน เวลา 19.00 น. รายการแรกเผยแพร่ในเดือน มีนาคม 2566 ตอน “ข้าวสงกรานต์…อาหารในพิธีกรรม” จนถึงปัจจุบัน มีรายการเผยแพร่รวมทั้งสิ้น 24 คลิป (มีนาคม 2568)
ที่ | ตอน | วันที่เผยแพร่ | ที่ | ตอน | วันที่เผยแพร่ |
1 | ข้าวสงกรานต์…อาหารในพิธีกรรม | 24 มีนาคม 2566 | 2 | กวาญฮะกา..ขนมกะละแม | 24 เมษายน 2566 |
3 | ค่ายญี่ปุ่นบางบัวทอง | 24 พฤษภาคม 2566 | 4 | วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ | 24 มิถุนายน 2566 |
5 | เพลงระบำบ้านไกล | 24 กรกฎาคม 2566 | 6 | วัดแคนอก ประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 | 24 สิงหาคม 2566 |
7 | การทำบุญกัลปพฤกษ์ | 24 กันยายน 2566 | 8 | การทำบุญทุกขตะทาน | 24 ตุลาคม 2566 |
9 | นอนทอดกายถวายเป็นบาทวิถีพระสงฆ์ | 24 พฤศจิกายน 2566 | 10 | กระยาสารท สัญลักษณ์ความกตัญญู | 24 ธันวาคม 2566 |
11 | ฟะเปิงตาว | 24 มกราคม 2567 | 12 | พิธีเผาฟืนผิงไฟถวายพระพุทธเจ้า | 24 กุมภาพันธ์ 2567 |
13 | ลูกหนู ดอกไม้ไฟแห่งศรัทธา | 24 มีนาคม 2567 | 14 | การทำบุญกลางหมู่บ้าน | 24 เมษายน 2567 |
15 | สลากภัตทุเรียน | 24 พฤษภาคม 2567 | 16 | สะบ้ามอญ | 24 มิถุนายน 2567 |
17 | ทำบุญข้าวมัน | 24 กรกฎาคม 2567 | 18 | การขับลำนำมอญร้องไห้ | 24 สิงหาคม 2567 |
19 | ตักบาตรน้ำผึ้ง | 24 กันยายน 2567 | 20 | ตักบาตรทางเรือ ปากเกร็ด | 24 ตุลาคม 2567 |
21 | กฐิน กิจของพระสงฆ์ | 24 พฤศจิกายน 2567 | 22 | คริสต์มาสบางบัวทอง | 24 ธันวาคม 2567 |
23 | อิฐ บ บ ท | 24 มกราคม 2568 | 24 | สนามบินน้ำ ตำนานการบินนนทบุรี | 24 กุมภาพันธ์ 2568 |
25 | วัดกู้ | 24 มีนาคม 2568 |
