บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.17 “การค้าต่างแดน”

ปี พ.ศ. 2565 นี้ประเทศไทยได้มีโอกาส เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation-APEC) ซึ่งเป็นการประชุมที่มีความสำคัญในระดับโลกที่มีเป้าหมายส่งเสริมการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก เพื่อเข้ากับบรรยากาศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบนี้ วันนี้รายการบรรณสารฯ ติดเล่า ขอนำเรื่องราวการค้าระหว่างประเทศในประวัติศาสตร์มาเล่าให้ฟัง ซึ่งวันนี้เราเลือกการค้าของสมัยธนบุรีกับอาณาจักรจีน ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากมาเล่าให้ทุกท่านฟังกัน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจและช่วงเวลาดังนี้

ความสำคัญของการค้าสำเภา

การค้าสำเภากับประเทศจีนตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นปัจจัยสำคัญที่ค้ำจุนเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งแก่อาณาจักรมาโดยตลอด จนมาถึงช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลายลง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทำการกู้บ้านกู้เมือง และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้น พระเจ้าตากสินมหาราชได้มีพระราชสาสน์เสนอขอสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ กับราชสำนักจีนทันที ซึ่งการที่พระองค์ดำเนินการเช่นนี้เพราะเหตุผลหลายประการ เช่น ประการที่หนึ่ง การร่วมมือกับจีนเพื่อสกัดกั้นการขยายแสนยานุภาพของพม่า ประการที่สอง เพื่อให้มหาอำนาจอย่างราชสำนักจีน รับรองทางการทูต เพื่อการครองราชสมบัติของพระองค์มีความชอบธรรม และอีกประการคือ เพื่อฟื้นฟูการค้าในระบบบรรณาการ(จิ้มก้อง)  ระหว่างสยามและจีนเพื่อประโยชน์ในการซื้อยุทธปัจจัยและค้าขายสินค้า แต่การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพระเจ้ากรุงธนบุรีกับกรุงจีนนั้นกลับไม่ได้ราบรื่นแต่ต้องใช้เวลานับ 10 ปีกว่าจีนจะยอมรับสถานะความสัมพันธ์กับกรุงธนบุรี

ระยะแรกจีนปฏิเสธความสัมพันธ์กรุงธนบุรี

ระยะนี้ถือเป็นความยากลำบากของพระเจ้าตากสินเป็นอย่างมากเพราะเกิดอุปสรรคมากมาย ทันทีที่พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงขับไล่ศัตรูจนพ้นแผ่นดิน และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้น พระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงขอตราตั้งจากจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งอาณาจักรจีนทันที แต่กลับถูกปฏิเสธและถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่า พระเจ้าตากสินนั้นมีสถานะเป็นขุนนางสยามบัดนี้ประเทศถูกตีแตก กษัตริย์หายสาบสูญ กลับบังอาจฉกฉวยโอกาส ตั้งตนเป็นใหญ่ หวังได้รับตราตั้งเพื่อให้ตนเองอยู่เหนือผู้อื่น ไม่สำนึกในพระคุณของเจ้านายเก่า อีกทั้งยังไม่ตามหารัชทายาท กอบกู้บ้านเมือง จึงเป็นการทำผิดคุณธรรม จริยธรรม และทำตนเกินศักดิ์ ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จีนปฏิเสธความสัมพันธ์กับกรุงธนบุรีเพราะ ทางจีนนั้นได้รับข้อมูลจากฝ่ายต่อต้านพระเจ้าตากสินมหาราช นั้นคือเจ้าเมืองพุทไธมาศ หรือฮาเตียน ซึ่งสนับสนุนเจ้าจุ้ย เจ้าศรีสังข์ ทายาทแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ล่มสลายไป ข้อมูลจากคนเหล่านี้เองที่มีส่วนทำให้จีนมีทีท่าต่อพระเจ้าตากสินมหาราชในเชิงลบ

พระบรมสาทิสลักษณ์เฉียนหลงหว่างตี้ “พระเจ้ากรุงปักกิ่ง” (ครองราชย์ พ.ศ. 2278-2339)
ขอบคุณภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Qianlong_Emperor

ระยะที่สองจีนยอมรับและรับรองสถานะพระเจ้าตากสินมหาราช

จีนมีการติดตามเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลาและเริ่มประจักษ์ว่า รัชทายาทแห่งกรุงศรีอยุธยา ตกต่ำอย่างที่สุดและสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีท่าทีที่เปลี่ยนไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของพระเจ้าตากและเจ้าเมืองพุทไธมาศ หลังจากที่พระเจ้าตากสินมหาราช ปราบเจ้าเมืองพุทไธมาศได้ บ้านเมืองเริ่มเป็นปึกแผ่น จีนเริ่มมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อพระเจ้าตากสินมหาราช อีกทั้งพระราโชบายด้านการเจริญสัมพันธไมตรีก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อกัน เช่นการจับเชลยส่งไปให้เมืองจีน หรือการมีพระราชสาส์นส่งไปขอซื้อยุทธปัจจัยและอาสาจะช่วยรบกับศัตรูของเมืองจีน เป็นต้น ซึ่งทางเมืองจีนได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษขายยุทธปัจจัยให้แก่กรุงธนบุรีทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งของต้องห้าม ความสัมพันธ์ธนบุรี และจีนก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จนในที่สุดจีนยอมรับสถานะความสัมพันธ์กับกรุงธนบุรี ซึ่งทางธนบุรีก็จัดคณะทูตและกองเรือไปจิ้มก้อง ถึง 11 ลำ เป็นเครื่องราชบรรณาการแก่จักรพรรดิเฉียนหลง มอบแด่ข้าหลวง มณฑลกวางตุ้ง มอบให้นายห้าง และสินค้าที่บรรทุกเรือไปขายยังเมืองจีนอีก รวมแล้วเป็นมูลค่ามหาศาล จักรพรรดิเฉียนหลงทรงรับสั่งว่า สิ่งของนอกบรรณาการให้รับไว้เฉพาะงาช้างและนอแรดนอกจากนั้นอนุญาตให้ขายที่กวางตุ้งได้สิ่งเหล่านั้นรวมของอับเฉาเรือให้ยกเว้นการเก็บภาษี และพระราชทานของตามธรรมเนียมและเพิ่มของรางวัลพิเศษตอบแทนให้กับทางกรุงธนบุรี อีกทั้งเมื่อกลับกรุงธนบุรีก็ได้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ กลับมาเพื่อใช้สำหรับก่อสร้าง ปรากฏว่า พระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษแผ่นดินได้เปลี่ยนจากกรุงธนบุรีเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ วัสดุที่ได้มาจึงนำมาสร้างเมืองใหม่

แม้การค้าในระบบบรรณาการหรือการจิ้มก้องนี้จะได้รับการยอมรับจากจีนในช่วงปลายรัชสมัยแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการค้าสำเภาเกิดขึ้น โดยการค้าสำเภามีอยู่โดยตลอด ส่วนใหญ่ทำโดยสำเภาจีน และชาวจีน ทั้งที่อยู่ในจีนและในกรุงธนบุรี นอกจากนี้ พระเจ้าตากทรงสนับสนุนชาวจีนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการค้าสำเภาด้วย เช่น จีนมั่วเสง ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นหลวงอภัยพาณิช นำสินค้าลงสำเภาไปขายที่จีนปีละ 15 ลำ และสำเภาส่วนตัวอีกปีละ 2 ลำ ซึ่งได้ผลกำไรปีละจำนวนมาก แต่การค้าในระบบบรรณาการ ซึ่งเป็นผลประโยชน์โดยตรงของกรุงธนบุรี เพราะเป็นโอกาสที่จะส่งสินค้าไปขายเมืองจีนโดยไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งยังอาจขอสิทธิ์ในการซื้อสินค้าที่ต้องการกลับโดยไม่ต้องเสียภาษีออกอีกด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น ในส่วนที่เป็นการค้าในระบบบรรณาการนี้ กรุงธนบุรีก็ขาดรายได้ไปบ้าง

ความสำเร็จในการค้าในระบบบรรณาการนี้ส่งผลประโยชน์ทั้งทางการทูตและการค้าให้กับยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-4 ซึ่งก็ทำให้เห็นได้ว่าการค้าระหว่างประเทศก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างประเทศอีกด้วย

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.17 “การค้าต่างแดน”ผ่านช่องทาง SoundCloud 

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.17 “การค้าต่างแดน”ผ่านช่องทาง Facebook

เรียบเรียงโดย 

โยธิน ครุธพันธ์ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ


อ้างอิง


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2560). มุมมองใหม่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี : ตากสินมหาราช. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ; มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ต้วน ลี เซิง. (2538). พลิกต้นตระกูลไทย : ประวัติศาสตร์ไทยในทัศนะของชาวจีน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : พิราบ.

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2561). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยธนบุรี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

ศิลปวัฒนธรรม. (2565). “พระเจ้าตาก” ทรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการค้าสำเภาจีน กำไรมากถึงร้อยละร้อย!. สืบค้น 10 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_45311