บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.15 “ทอดกฐิน”

ช่วงออกพรรษาแบบนี้ประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยหรือในต่างประเทศจะยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานเลยก็คือ พิธีทอดกฐิน พิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ที่ก่อให้เกิดกิจกรรมสามัคคีและตำนานความเชื่อซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

เหตุแห่งการทอดกฐิน

สำหรับคำว่ากฐินนั้นมาจากคำบาลี มีความหมายว่าไม้สะดึง คือกรอบไม้ที่ใช้ขึงในการตัดเย็บผ้า ผ้ากฐินก็คือผ้าที่ตัดเย็บด้วยการใช้สะดึงไม้นั่นเองครับ  

ไม้สะดึง อุปกรณ์สำหรับขึงผ้าเพื่อปักหรือเย็บ
ขอบคุณภาพจาก www.needlenthread.com

การทอดกฐินนั้นเป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เหตุของการเกิดพิธีนี้ก็มีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาลนั้นเครื่องนุ่งห่มของพระภิกษุเป็นผ้าที่พระภิกษุจะต้องเที่ยวหาผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เช่นผ้าห่อศพเป็นต้น หรือผ้าที่ตกอยู่ที่พื้นดิน เปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่น เรียกว่าผ้าบังสุกุล พระก็ต้องพิจารณาผ้านั้น และนำผ้ามาซัก ตาก เย็บ ย้อม ทำเป็นจีวร เพราะในพระวินัยสมัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าจากคฤหัสถ์โดยตรง ผู้มีศรัทธาอยากจะถวายผ้าแด่พระภิกษุก็จะนำผ้าไปวางไปทิ้งไปพาดไว้ตามต้นไม้ ตามกองขยะตามศพ เพื่อให้ภิกษุได้ชักผ้านั้นไปทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ถึงวันออกพรรษาหนึ่งภิกษุชาวปาวาหรือปาฐา 30 รูปได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ภิกษุเหล่านั้นเปรอะเปื้อนและเก่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของพระภิกษุจึงมีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐินได้  
สำหรับสิ่งสำคัญในพิธีทอดกฐินนั้นจะประกอบไปด้วย เวลา ผ้า ทายก และผู้รับ  
เวลา คือ ต้องทำในเวลาที่กำหนดไว้คือตั้งแตวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงขึ้น 15ค่ำ เดือน 12 พ้นจากนี้ไปเรียกทอดกฐินไม่ได้
ทายก คือผู้ถวายกฐิน  คนถวายนั้นจะไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดชนชั้น หรือจะเป็นพระถวายกันเองก็ได้  
ผ้า ผ้ากฐินจะเป็นผ้าที่ยังไม่สำเร็จรูปเป็นสบงจีวรก็ได้ หรือจะเป็นผ้าสำเร็จรูปอย่างปัจจุบันที่มีขายก็ได้ซึ่งจะมี 1 ชิ้น 2 ชิ้น หรือครบ สามชิ้นอย่างผ้าไตรเลยก็ได้ ซึ่งผ้าที่ห้ามก็มีด้วยกันหลายอย่าง เช่น ผ้าที่ขโมยมา ผ้าที่ยืมมา ผ้าที่ภิกษุทำนิมิตและพูดเลียบเคียงไว้เป็นต้น  
ผู้รับ  คือ พระภิกษุ และพระภิกษุที่จะรับได้ต้องเป็นพระที่จำพรรษามาครบ 3 เดือนโดยไม่ขาดพรรษาเลย ทั้งจะต้องมีจำนวน 5 รูปขึ้นไป เพราะการรับกฐินจะต้องทำเป็นสังฆกรรม 

อีกหนึ่งข้อกำหนดของพิธีทอดกฐินคือ 1 วัด จะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น  จึงมีเหตุที่ทายกผู้มีจิตศรัทธาจะถวายวัดเดียวกัน ทำให้เกิดความยุ่งยากจึงมีประเพณีจองกฐินกัน ซึ่งก็จะต้องไปจองกันตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษาและกำหนดวันล่วงหน้ากับทางวัดไว้  

ประเภทของกฐิน

สำหรับกฐินนั้นมีด้วยกันหลายประเภทในหนังสือสังกัปพิธีกรรม ของ สุเมธ เมธาวิทยกุล ได้แบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ  
1 กฐินส่วนบุคคล เป็นกฐินเอกชนที่ทำกันเองภายในครอบครัว มีแต่เครือญาติพี่น้องเท่านั้นที่ทำกัน 

2. กฐินสามัคคี เป็นกฐินที่เรามักจะพบเห็นกันอย่างมากมายทั่วไป เป็นกฐินที่มีการรวมกลุ่มกันทำและมีการชักชวนต่อๆกันไป เป็นกิจกรรมที่ระดมกำลังในทุกๆด้านของ กฐินประเภทนี้จะมีการแห่และสมโภชที่ยิ่งใหญ่เอิกเกริกกว่าประเภทไหน ๆ 

3. กฐินหลวง เป็นกฐินที่พระมหากษัตริย์ทรงดำเนินการทุกอย่างและทอดถวาย ณ วัดหลวง 

4.กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระมหากษัตริย์พระราชทานผ้ากฐินอันเป็นของหลวงให้แก่ผู้แทนพระองค์ หรือหน่วยงาน องกรต่าง ๆ ที่ขอพระราชทานเพื่อทอดถวาย ณ วัดแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่วัดหลวง 

5. จุลกฐิน หมายถึงกฐินที่ทำด้วยความเร่งด่วน  เป็นกฐินที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันเดียว  กฐินนี้อาจจะเป็นกฐินหลวงหรือราษฎรก็ได้ หากทายกมีศรัทธาจนสืบทราบว่าจวนจะหมดเขตวันสุดท้ายของเทศกาลทอดกฐินแล้วแต่วัดนั้นยังไม่ได้มีคนจองกฐิน จึงจำเป็นต้องเร่งทำให้เสร็จสิ้นในวันนั้น ซึ่งจุลกฐินนี้จะต้องผลิตผ้ากฐินเองทุกขั้นตอนเป็นธรรมเนียมโบราณ ถึงจะมีผ้าขายก็ไม่นิยมซื้อมาถวายเพราะถือว่าผิดธรรมเนียมจะไม่ได้กุศลแรง 

ธงกฐิน

ธงกฐินแบบต่าง ๆ ในขบวนแห่กฐิน
ขอบคุณภาพจาก ธรรมะไทย

สำหรับสิ่งที่มากับเทศกาลทอดกฐินอีกอย่างหนึ่งก็คือ ธงกฐิน ซึ่งเราจะเห็นได้หลัก ๆ คือ ธงจระเข้ ธงนางเงือก ธงตะขาบ ธงเต่า ซึ่งมีตำนานเล่ากันถึงที่มาของการทำธงนี้ไว้หลายที่มาโดยเฉพาะ “ธงจระเข้

ความเชื่อที่ 1 เล่ากันว่าในสมัยก่อนการเดินทางมักจะเลือกเวลาตอนใกล้รุ่งในการเดินทาง สิ่งที่เป็นสัญญาณว่าใกล้เวลารุ่งเช้าคือ ดาวจระเข้ เมื่อดาวจระเข้โคจรขึ้นมา จึงถือเป็นฤกษ์ในการเดินทางไปทอดกฐิน ภายหลังจึงมีคนนำจระเข้วาดลงธงกฐินเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มดาวจระเข้

ความเชื่อที่ 2 มีนิทานโบราณว่า มีเศรษฐีผู้หนึ่งมั่งคั่งแต่ขี้เหนียว ไม่เคยทำบุญและมักนำทรัพย์สมบัติไปฝังซ่อนไว้ที่ใต้สะพาน เมื่อสิ้นใจตายลงก็ไปเกิดเป็นจระเข้ว่ายน้ำเวียนวนเฝ้าสมบัติที่ตนฝังไว้ ได้รับความทุกข์มาก จึงไปเข้าฝันให้ภรรยาขุดทรัพย์นั้นไปทำบุญถวายพระ ภรรยาจึงขุดเอาทรัพย์นั้นใส่เรือพายไปถวายวัด โดยมีจระเข้สามีว่ายน้ำตามไป แต่ไม่ทันถึงวัด จระเข้ก็หมดแรงว่ายเสียก่อนภรรยาจึงวาดรูปจระเข้ใส่ธงและนำไปวัดเป็นสัญลักษณ์แทนตัวของจระเข้สามีจึงเกิดเป็นธงจระเข้ในขบวนแห่กฐินในปัจจุบัน

ความเชื่อที่ 3 เล่าสืบต่อมาคล้ายเรื่องที่ 2 ว่าอุบาสกพายเรือไปทอดกฐินที่วัด จระเข้ทราบจึงว่ายน้ำตามไปหวังได้กุศลผลบุญครั้งนี้ด้วยแต่ว่ายไปไม่ไหวจึงได้ขอให้อุบาสกผู้นั้นวาดรูปจระเข้ลงในธงและนำไปยังวัดด้วยเพื่อแทนตัวจระเข้ที่มีศรัทธานับแต่นั้นจึงปรากฏธงจระเข้ในงานทอดกฐิน 

ความเชื่อที่ 4 ความเชื่อนี้ว่ากันว่า เป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อนที่คิดขึ้นมาเพื่อป้องกันอันตรายจากการเดินทางไปทอดกฐินทางน้ำ โดยเฉพาะอันตรายจากสัตว์น้ำตัวใหญ่อย่างจระเข้ จึงนำรูปธงจระเข้มาแขวนไว้เพื่อส่งสัญญาณว่าจะเดินทางไปทำบุญและทำให้จระเข้อ่อนโยนลงไม่ทำร้ายคนในเรือ

ปัจจุบันก็มีการให้ความหมายเชิงหลักธรรมว่าธงทั้งสี่แบบนี้แทนหลักธรรมอย่างไรบ้างซึ่งก็มีหลากหลายข้อมูลแตกต่างกันไป รวมทั้งก่อให้เกิดความเชื่อว่าถ้านำธงจรเข้ ธงนางเงือกกับมาบ้านจะก่อให้เกิดความสิริมงคลจนถึงมีการทำธงขึ้นเขียนอักขระเลขยันต์ให้เช่าบูชากันโดยเฉพาะก็มี  

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพิธีทอดกฐิน

นอกจากนี้ประเพณีการทอดกฐินยังก่อให้เกิด ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามขึ้นในสังคมไทยทั้งในระดับราชวงศ์และราษฏร เช่นเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่เราจะได้เห็นขบวนเรือพระที่นั่งที่สวยงามลอยเต็มแม่น้ำเจ้าพระยา  หรือเกิดการละเล่นของราษฏรที่น่าสนใจคือ
ประเพณีการบอกบุญ เพลงเจ้าขาว ของชาวมอญในชุมชนเกาะเกร็ด ที่เชื่อกันว่าเป็นประเพณีที่เก่าแก่มีมานานกว่า 200 ปี แต่เดิมนั้นคนมอญพึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็จะร้องเพลงบอกบุญกันเป็นภาษามอญและร้องไปแค่ในชุมชนมอญเท่านั้น ครั้งเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จบูรณะวัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร) พระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ ได้ตามเสด็จไปด้วยในครั้งนั้นได้ทราบประเพณีการร้องเพลงบอกบุญของชาวมอญเกาะเกร็ดก็ทรงนิพนธ์เพลงบอกบุญเป็นเพลงไทยเพื่อจะได้ใช้บอกบุญในชุมชนไทยได้ เพลงนี้จึงเรียกว่าเพลงเจ้าขาวตามพระนามของพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ 


พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัชรีวงษ์
ขอบคุณภาพจาก: https://th.wikipedia.org

ประเพณีนี้จะทำกันในตอนค่ำก่อนวันทอดกฐินชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันทั้งชายและหญิงลงเรือลำใหญ่ที่เรือจะมีภาชนะไว้สำหรับใส่ข้าวสารหรือของทำบุญต่าง ๆ ที่หัวเรือมีตะเกียง กลางเรือมีเครื่องดนตรีสำหรับประกอบเพลง พายเรือไปตามบ้านร้องเพลงบอกบุญโดยใช้เพลงพระนิพนธ์ของพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์เป็นแนวทางและปรับเปลี่ยนเนื้อร้องตามความเหมาะสม พอใครทำบุญมาก็ร้องเพลงเจ้าขาวอวยพร มีพ่อเพลงแม่เพลงลูกคู่อย่างเพลงพื้นบ้าน พอได้ของทำบุญเพียงพอก็ยุติการร้องเพลงบอกบุญ  

และนี่คือเรื่องราวของประเพณีการทอดกฐินสำหรับผมเองมองว่าการทอดกฐินในปัจจุบันเป็นกิจกรรมทางศาสนาอย่างหนึ่งที่สร้างความสามัคคีและเกิดกิจกรรมสานสัมพันธ์ต่อครอบครัว ชุมชนได้อีกทั้งยังทำให้เกิดความเชื่อที่กลายมาเป็นสีสันและความหลากหลายให้กับวัฒนธรรมและสังคมไทยได้เป็นอย่างดี แต่ข้อเสียคือเกิดช่องโหว่ที่ทำให้คนบางกลุ่มอาศัยความเชื่อความศรัทธาของประเพณีนี้มาสร้างผลประโยชน์แก่ตนเอง จึงควรเชื่ออย่างมีสติ และศรัทธาอย่างมีวิจารณญาณ 

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.15 “ทอดกฐิน”ผ่านช่องทาง SoundCloud

คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.15 “ทอดกฐิน”ผ่านช่องทาง Facebook


อ้างอิง


เกษม บุญศรี. (ม.ป.ป.). ประเพณีทอดกฐิน. กรุงเทพฯ : กองวัฒนธรรม กรมศาสนา.

วรรณะ. (2529). พระพุทธศาสนากับประเพณีไทย. กรุงเทพฯ : เอ็น พี บุ๊ค.

สุเมธ เมธาวิทยากุล. (2532). สังกัปพิธีกรรม. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2565). วิถีมอญในไทย. สืบค้น 10 ตุลาคม 2565 จาก https://library.stou.ac.th/wp-content/flipbook/978-616-16-2824-6

ศิลปวัฒนธรรม. (2564). ทำไม “การทอดกฐิน” ที่วัดถึงมี “ธงจระเข้”. สืบค้น 10 ตุลาคม 2565 จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_71295