นับเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้วครับที่ประเทศไทยของเราใช้ธงไตรรงค์ ธง 5 ริ้ว 3 สี เป็นธงสัญลักษณ์ประจำชาติไทย แต่กว่าจะมาเป็นธงไตรรงค์อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก วันนี้รายการบรรณสารติดเล่าของเราจึงขอนำเรื่องราวของประวัติความเป็นมาของธงชาติไทยมาเล่าในทุกท่านได้ฟังกันในวันนี้ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ธงสมัยอยุธยา
สำหรับธงนั้นมีปรากฏว่าใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี ดังปรากฏใสมันวรรณคดี ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง นั่นคือวรรณคดีเรื่อง กาพย์เห่เรือ วรรณคดีสมัยอยุธยา มีตอนหนึ่งกล่าวว่า
นาวาแน่นเปนขนัด
ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน
สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
(กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)
ก็มีการกล่าวถึงการใช้ธงในขบวนเรือพระที่นั่งของเจ้านายในสมัยอยุธยา หรือ ในการเดินเรือสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศก็มีการชักธงสีแดงล้วนขึ้นบนยอดเสาเรือเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
ธงในสมัยรัชกาลที่ 1
สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงกำหนดใช้ จักร อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระบรมราชวงศ์จักรีใส่ลงไว้ที่กลางธงสีแดงเพื่อใช้สำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง แต่เรือของราษฎรชาวสยามก็ยังคงใช้สีแดงล้วนอย่างเดิม
ธงในสมัยรัชกาลที่ 2
พอเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 รัชสมัยของพระองค์นั้นปรากฏช้างเผือกถึง 3 ช้าง คือ พระยาเศวตกุญชร ได้จากเมืองโพธิสัตว์ พระยาไอยรา ได้จากเมืองเชียงใหม่ และ พระเศวตรคชลักษณ์ ได้จากเมืองน่าน ซึ่งช้างเผือกนั้นถือเป็นสัตว์มงคล ยิ่งมีมากยิ่งแสดงถึงพระบุญญาธิการของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้นำรูปช้างเผือกมาใส่ไว้กลางจักรสีขาวที่ธงสีแดง ใช้สำหรับชักบนเรือหลวง แต่สำหรับเรือราษฎรยังคงใช้ธงแดงเช่นเดิมครับ
ธงในสมัยรัชกาลที่ 3
ในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ ธงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับธงชาติเกิดขึ้น คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดธรรมเนียมอย่างฝรั่งจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม อันเป็นที่ประทับในขณะนั้น และชักธงบริวารขึ้นเป็นเครื่องบูชาเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จไปทอดกฐิน ครั้นพอพระเจ้าอยู่หัวผ่านมาทอดพระเนตรเห็นธงของพระปิ่นเกล้าก็ตรัสถามกับผู้ตามเสด็จฯ ว่า
“นั่นท่านเจ้าฟ้าน้อยเอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตากทำไม”
ในหนังสือเรื่อง ความทรงจำ พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ได้ทรงวินิจฉัยเหตุการณ์ดังกล่าวว่าที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ตรัสเช่นนั้นไม่ใช่ไม่ทรงทราบว่าพระปิ่นเกล้าทรงทำความเคารพอย่างธรรมเนียมฝรั่ง แต่เป็นเพราะพระองค์ไม่โปรดฯ ในการทำเสาธง และชักธงเอาอย่างฝรั่งมากกว่า
ธงในสมัยรัชกาลที่ 4
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีการติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตกมากขึ้น มีสถานกงศุลเข้ามาตั้งในพระนครชักธงชาติของประเทศนั้น ๆ กันอยู่ อีกทั้งเรือของราษฎรสยามในตอนนั้นใช้ธงแดงเกลี้ยงซึ่งไปซ้ำกับประเทศอื่น ๆ ทำให้ยากต่อการจำแนกและสังเกต พระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการ ให้เรือราษฎรสยามใช้ธงเหมือนอย่างเรือหลวงนั่นคือช้างเผือกบนธงสีแดงแต่เอาจักรออก เนื่องจากเป็นของสูงอันเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ จึงกลายมาเป็นธงแดง ที่มีรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลาง ให้ใช้ในเรือของเหล่าราษฎรในขอบขัณฑสีมา สยามใช้ได้โดยทั่วกัน และโปรดให้ทำธงรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาบขึ้นเพื่อใช้ชักที่หน้าเรือหลวงทั้งหลายเพื่อให้แตกต่างจากเรือของราษฎรด้วย
ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับธงเกิดขึ้นคือ พระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสให้ทำเสาธงขึ้นทั้งวังหลวงและวังหน้า เพื่อจะชักธงขึ้นอย่างฝรั่ง โดยเสาธงวังหลวงโปรดให้ชักธงตรามงกุฎอันเป็นธงประจำพระองค์ขึ้น และเสาธงวังหน้า ให้ชักธงจุฑามณี อันเป็นธงประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้น (ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีพระเจ้าอยู่หัวสอง พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เดี๋ยวครั้งหน้าจะนำเรื่องของทั้งสองพระองค์มาเล่าให้ฟังครับ ติดไว้ก่อน)
การชักธงที่วังหลวงและวังหน้าของพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ทำให้ราษฎรทั้งหลายเข้าใจกันว่าเสาธงนี่คือเครื่องหมายแห่งพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัว พอชาวต่างชาติเข้ามาตั้งสถานกงศุลขึ้นในพระนครดังที่กล่าวมาตอนแรกก็มีการชักธงชาติตนขึ้นเสาตามธรรมเนียม ราษฎรที่ไม่รู้ธรรมเนียมฝรั่งก็ตกใจโจษจันเล่าลือกันว่า พวกกงศุลทำแข่งพระบารมีพระเจ้าอยู่หัว ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้เหล่าเจ้านายและขุนนางทำเสาธงขึ้นตามบ้านตามวังและชักธงช้างขึ้น พอราษฎรเห็นทำเสาธงกันมาก็หายตกใจและกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป
ธงในสมัยรัชกาลที่ 5
ล่วงเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ.110 ถือเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับแรกของประเทศ ต่อมามีการแก้ไขพระราชบัญญัติธงฉบับแรก เสียใหม่เรียกพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 118 และออกพระราชบัญญัติขึ้นใหม่อีกครั้ง คือ พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 โดยแต่ละฉบับจะมีการกำหนดรูปแบบธงที่ใช้ในเรือหลวงและเรือราษฎร รวมถึงธงที่ใช้ชักขึ้นในสถานที่ราชการต่าง ๆ
ธงรูปช้างเผือกทรงเครื่องบนพื้นแดงที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5
ขอบคุณภาพจาก พิพิธภัณฑ์รัฐสภา
ธงในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงปัจจุบัน
เมื่อล่วงเข้าสู่รัชการพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้งเสด็จฯ เมืองอุทัยธานี ครั้งนั้นเป็นฤดูน้ำหลากเมืองเหนือมีน้ำมากกว่าปกติ ซ้ำถูกฝนกระหน่ำทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนพืชผลเสียหาย จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปทรงตรวจตราข้อเท็จจริง ครั้นเสด็จถึงลำน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานีซึ่งไม่ใคร่มีใครผ่านเข้าไปถึง เนื่องจากแม่น้ำสะแกกรังตื้นเขินพอหน้าแล้งทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้สะดวก พระองค์ทรงเห็นเป็นโอกาสผ่านลำน้ำนี้เข้าไปเยื่อมราษฎเยี่ยมราษฎรเมืองอุทัยธานี ชาวเมืองอุทัยเมื่อทราบข่าวก็ตกแต่งบ้านเมือง ชาวบ้านใกล้ไกลล้วนหลั่งไหลมารับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวแน่นขนัด จมื่นอมรดรุณารักษ์ เขียนเล่าไว้ว่า สิ่งที่ทรงสังเกตเห็นและสะดุดพระทัยมาตลอดทางเสด็จฯ คือการใช้ผ้าทอสีแดงขาวห้อยแทนธงชาติสำหรับเสด็จ ไปทั่วทุกหนทุกแห่งจนถึงกับมีพระราชปรารภว่า “—การห้อยผ้าแดงผ้าขาวนี้ดูออกจะคล้ายกับว่าเมืองอุทัยธานีของเราเต็มไปด้วยประเพณีชาวจีนไปเสียแล้ว—“ แม้จะขัดต่อพระราชนิยมสักเพียงใด แต่ก็ทรงเข้าพระทัยในเจตนาอันดีและทรงซาบซึ้งถึงจิตใจที่เจริญด้วยวัฒนธรรมแห่งศิลปะความงามของเหล่าพสกนิกรที่พยายามสรรค์สร้างขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้พระองค์และผู้ตามเสด็จสะดุดตาสะดุดใจที่สุดคือเมื่อเสด็จผ่านบ้านหลังคามุงจากหลังหนึ่งบนยอดจั่วติดธงช้างขนาดเล็กแต่มองเด่นชัด ช้างที่ธงนั้นอยู่ในลักษณะช้างหงายเอาเท้าทั้งสี่ชี้ขึ้นฟ้า อันเป็นลักษณะที่ไม่มงคลนัก
หลังจากเสด็จฯ กลับจากเมืองอุทัยธานีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษากับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในพระราชสำนักถึงการที่จะแก้ไขธงไทยเสียใหม่ โดยทรงใช้หลักการสำคัญคือ คำนึงถึงเศรษฐกิจของราษฎรเป็นข้อแรก เพราะทรงตระหนักพระทัยว่า ธงช้างนั้นเป็นภาพพิมพ์ที่ต้องส่งมาจากต่างประเทศจึงมีราคาแพงราษฎรไม่สามารถจะซื้อหามาไว้ใช้ประจำบ้านได้ ข้อต่อไปคือต้องมีความหมายและความสง่างาม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจรวมใจผู้คนให้ยึดมั่นร่วมกัน
ครั้งแรกทรงทดลองใช้ผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงขาวสลับกันเป็น 5 ริ้ว วิธีทำก็ง่าย วิธีใช้ก็ง่าย เพราะจะใช้ด้านไหนก็ได้ไม่ต้องกลัวจะติดผิดทางเหมือนธงช้าง ทรงใช้ธงแดงขาว 5 ริ้วนี้ชักขึ้นที่สนามเสือป่าเป็นครั้งแรก แต่เมื่อทางพิจารณาดูแล้วไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะดูจืดชืดไม่งดงามจับตา จึงทรงคิดที่จะหาวิธีที่จะตกแต่งให้งดงามและได้ลักษณะสมพระราชประสงค์
ทรงรำลึกถึงสีน้ำเงินอันเป็นสีแห่งวันพระราชสมภพ ซึ่งทรงยึดถือเป็นสีประจำพระองค์อยู่แล้ว ทรงจัดวางรูปริ้วผ้าใหม่โดยนำริ้วสีน้ำเงินที่ใหญ่เป็น 2 เท่าของสีขาวและสีแดงไว้ตรงกลางขนาบด้วยสีขาวทั้งล่างและบน มีสีแดงอยู่ริม 2 ข้าง
และพระราชทานความหมายไว้ว่า สีแดงหมายถึงชาติซึ่งคนไทยทุกคนต้องรักษาไว้โดยแม้จะต้องสละเลือดและชีวิต
สีขาวคือศาสนาซึ่งบริสุทธิ์ดุจสีขาว ส่วนสีน้ำเงินหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นโปรดให้ทดลองนำขึ้นสู่เสา ดูสง่างาม และมีความหมายแสดงสัญลักษณ์ของชาติไว้อย่างครบถ้วนตามพระราชประสงค์ เป็นที่พอพระราชหฤทัย พระราชทานนามว่า ธงไตรรงค์ ประกาศเป็นธงประจำชาติไทยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2460 และกลายเป็นที่มาของธงไตรรงค์ที่ใช้ในปัจจุบันนี้ครับ
คลิกเพื่อฟังบรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST EP.14 “ธงชาติไทย” ผ่านช่องทาง SoundCloud
อ้างอิง
คณะกรรมการจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 100 ปี การประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย สำนักนายกรัฐมนตรี. (2560). 100 ปี ธงชาติไทย ร้อยดวงใจไทยทั้งชาติ 28 กันยายน พุทธศักราช 2560. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.
ศิลปวัฒนธรรม. (2564). มูลเหตุเปลี่ยนธงชาติไทย กับการห้อยผ้าแดงเมืองอุทัยธานี-ธงช้างที่สะเทือนพระราชหฤทัย. สืบค้น 27 กันยายน 2565 จากhttps://www.silpa-mag.com/featured/article_8256.
ศิลปวัฒนธรรม. (2564). ไทย “ชักธง” ขนบฝรั่งนี้ยืมมาตั้งแต่เมื่อใด แล้วธงช้างเผือกมาจากไหน?. สืบค้น 27 กันยายน 2565 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_24589.