“ท่านบำเพ็ญบารมีมามากแต่น้ำทักษิโณทกที่ตกชุ่มอยู่ในเกษาของข้าพเจ้านี้ก็มากกว่ามากประมาณไม่ได้”
วัดชมภูเวก นนทบุรี
วัดชมภูเวก ตั้งอยู่เลขที่ 173 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ราวรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือเก่าแก่กว่านั้น ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดชมภูเวกและวิถีชีวิตชุมชนท่าทราย มีเจดีย์มุเตา เจดีย์ที่เป็นเครื่องหมายความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของชาวมอญที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทยในอดีต
สิ่งที่น่าสนใจของวัดชมภูเวกแห่งนี้อยู่ที่พระอุโบสถหลังเก่า ด้วยลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนใช้ผนังรับน้ำหนักหลังคา หน้าบันก่ออิฐถือปูนประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น มีประตูทางเข้าออกด้านหน้าทางเดียว ซึ่งเป็นการก่อสร้างที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คนสมัยก่อนเรียกกันว่า แบบวิลันดา ด้วยความที่มีประตูทางเข้าออกทางเดียวจึงกลายเป็นลักษณะของโบสถ์มหาอุตม์ มีความเชื่อกันว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การเจริญภาวนา หรือมีอีกความเชื่อว่าโบสถ์มหาอุตม์เช่นนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ กระทำพิธีปลุกเสกเครื่องลางของขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก
จิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถหลังเก่าวัดชมภูเวก ถือว่าเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่าของชาติเลยก็ว่าได้ เป็นจิตรกรรมสกุลช่างนนทบุรีสมัยอยุธยาตอนกลาง เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวและยางไม้เทมเพอร่า เขียนเป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้าเรื่องราวทศชาติชาดก เรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรกและเทวดาบนสวรรค์
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพสำคัญที่โดนเด่นและงดงามเป็นอย่างมากคือ ภาพจิตรกรรมด้านหน้าพระประธานเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถที่เขียนเป็นรูปมารผจญ ในภาพเขียนรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับขัดสมาธิเหนือรัตนบัลลังก์ภายใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ เบื้องซ้ายพระพุทธเจ้ามีพญามารขี่ช้างยกกองทัพหวังสังหารพระองค์ เบื้องขวาเป็นรูปกองทัพพญามารถูกน้ำท่วมพ่ายแพ้ต่อพระบารมียกมือขึ้นอัญชลีบูชาพระพุทธเจ้า
ภาพที่มีลักษณะโดดเด่นที่สุด คือ ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่มีความอ้อนช้อยงดงาม แสดงถึงอัจฉริยภาพและฝีมือของจิตรกรผู้เขียน ความวิจิตรงดงามทางด้านสรีระพระแม่ธรณีที่จิตรกรถ่ายทอดออกมา ทั้ง อก เอว แข้ง ขา ข้อมือ นิ้วมือ นิ้วเท้า เข่า ศอก ศีรษะ มวยผม ทุกสัดส่วนอ่อนช้อยให้ความรู้สึกเหมือนภาพอันเป็นทิพย์ จะเรียกว่างามเหมือนเนรมิตผมเองก็คิดว่าไม่เกินไป ซึ่งภาพพระแม่ธรณีงามจนเป็นที่ยกย่องของจิตรกรกรมศิลปากรว่า เป็นแบบอย่าง แม่พระธรณีที่งามที่สุดในโลก ข้อมูลจากบันทึกของอาจารย์อาภรณ์ ณ สงขลา ผู้เชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ครั้งบูรณะโบราณสถานวัดชมภูเวก เมื่อ2521
ทำไมพระแม่ธรณีถึงต้องบีบมวยผม
เมื่อพูดถึงเรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผม หลายคนก็คงสงสัยว่าทำไมพระแม่ธรณีถึงต้องบีบมวยผม เรื่องราวของพระแม่ธรณีก็มีปรากฏใน ปฐมสมโพธิกถา พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในตอนที่พระยาวัสวดีมาราธิราช ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นที่ 6 ชั้นปรนิมมานรดี หรือที่เรารู้จักกันในนามของพญามาร ยกกองทัพขัดขวางการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์
ในขณะที่พระองค์กำลังจะบรรลุโพธิญาณเข้าสู่อรหันต์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงได้นำเอาบารมีที่สั่งสมมาในอดีตเข้าต่อสู้กับพญามารโดยอ้างพระแม่ธรณีเป็นพยาน นางพสุนธรีวนิดา จึงอุบัติขึ้นเป็นพยานในบารมีของพระโพธิสัตว์และกล่าวว่า “ท่านบำเพ็ญบารมีมามากแต่น้ำทักษิโณทกที่ตกชุ่มอยู่ในเกษาของข้าพเจ้านี้ก็มากกว่ามากประมาณไม่ได้” พระนางบิดมวยผมเพื่อแสดงให้เห็นถึงบารมีของพระโพธิสัตว์ น้ำนั้นก็หลั่งไหลท่วมดังมหาสมุทร พญามารทั้งหลายก็ไม่อาจจะทนอยู่ได้ และนี่ก็เป็นที่มาว่าทำไมพระแม่ธรณีจึงต้องบีบมวยผม
จากเรื่องราวของพระพุทธเจ้าชนะมารโดยมีพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นพยาน ในทางธรรมสะท้อนให้เห็นว่า การจะเอาชนะกิเลศหรือสิ่งชั่วร้ายในจิตใจของคนเราได้นั้น ต้องผ่านการฝึกฝนจิตใจบำเพ็ญเพียรสร้างคุณงามความดีเป็นอย่างดีเสียก่อน
วัดพม่าในจังหวัดลำปาง
หากคิดถึงจังหวัดลำปาง หลาย ๆ คนก็จะคิดถึงวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่หลาย ๆ คนยังไม่รู้ว่าที่จังหวัดลำปางของเรานี้ยังมีวัดที่สวยงามอีกมากมายหลายวัด และในวันนี้ก็อยากจะมาแนะนำ “วัดพม่าในจังหวัดลำปาง”
จังหวัดลำปางถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีวัดพม่าตั้งอยู่จำนวนหลายแห่ง แล้วทำไมเราถึงเรียกว่า “วัดพม่า” ที่เรียกว่าวัดพม่าเนื่องจากเป็นวัดที่สร้างโดยชาวพม่า มีรูปแบบทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม การประดิษฐ์ตกแต่ง รวมไปถึงพุทธลักษณะของพระพุทธรูปเป็นแบบพม่าทั้งสิ้น และในอดีตแม้แต่เจ้าอาวาสวัดตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในวัดก็เป็นชาวพม่า ที่เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทย ด้วยสาเหตุนี้เราจึงเรียกว่า “วัดพม่า”
ทำไมวัดพม่าถึงมาตั้งอยู่ในจังหวัดลำปางหลายแห่ง
การสร้างวัดพม่าในจังหวัดลำปางเริ่มต้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 มีการทำสัมปทานป่าไม้ระหว่างล้านนากับอังกฤษ ทำให้ที่ประเทศไทยเริ่มรู้จักการทำป่าไม้โดยเฉพาะไม้สักที่มีอย่างมากมายในจังหวัดลำปาง จังหวัดลำปางในช่วงนั้นจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ ถึงแม้ไทยจะเริ่มรู้จักการทำป่าไม้แล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความเชี่ยวชาญ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้ว่าจากบริษัทจากอังกฤษซึ่งมีความรู้ในการทำป่าไม้ และบริษัทอังกฤษได้นำช่างและแรงงานชาวพม่าเข้ามายังจังหวัดลำปาง นอกจากนี้ยังมีพวกคหบดีพ่อค้าเข้ามาพร้อมกับพวกอังกฤษเพื่อมาค้าขายด้วย
ซึ่งชาวพม่ามีความเชี่ยวชาญเรื่องการทำไม้เป็นอย่างมาก และความมีความเชื่อระหว่างชาวพม่ากับป่าไม้ ว่าต้องมีความเคารพต่อธรรมชาติ เมื่อมีการโค่นล้มต้นไม้แล้วต้องขอขมาต่อเจ้าป่าเจ้าเขา ซึ่งวิธีการหนึ่งก็คือการสร้างวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศล นอกจากนี้ชาวพม่ายังเป็นพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า การสร้างวัดจึงไม่ใช่เพียงเพื่อถวายความเคารพต่อป่าไม้ที่ตนตัดโค่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการถวายพุทธบูชาในทางศาสนาอีกทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ชาวพม่าที่เข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัดลำปางจึงได้ทำการสร้างวัดในแบบพม่าขึ้นมาจำนวนหลายแห่ง
วัดศรีชุม
วัดศรีชุม หรือชื่อภาษาพม่า คือ หญ่องไวง์จอง ซึ่งแปลว่า ต้นโพธิ์ สาเหตุที่ชาวพม่าเรียกเช่นนี้เนื่องจากในอดีตบริเวณที่ตั้งวัดมีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่จำนวนมาก จึงตั้งชื่อวัดตามลักษณะตามกายภาพที่เห็นเพื่อง่ายต่อการจดจำค่ะ ความพิเศษของวัดศรีชุมอีกอย่างก็คือเป็นวัดพม่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากทั้งหมด 31 วัดที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยค่ะ นอกจากนี้วัดศรีชุมยังมีองค์ประกอบต่างๆ ในบริเวณวัดที่มีสถาปัตยกรรมพม่าที่มีสภาพสมบูรณ์พร้อมที่สุด โดยประกอบด้วย จอง อุโบสถ ซุ้มประตูโขง กุฏิ และ พระธาตุเจดีย์
วัดศรีชุม สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2433 โดยคหบดีชาวพม่าชื่อจองตะก่าอูโย โดยครั้งแรกได้สร้างจองวิหารด้วยไม้สักขนาดใหญ่ แต่เมื่อเวลาได้ล่วงเลยมา วิหารจองไม้สักได้ทรุดโทรมลง ปี พ.ศ. 2444 คหบดีชาวพม่าชื่ออูหม่องยี ซึ่งเป็นบุตรเขย ได้สร้างวิหารใหม่ โดยในครั้งนี้ได้สร้างเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นที่ 2 เป็นอาคารไม้ มีกรอบซุ้มประตูประดับด้วยงานแกะสลักและฉลุไม้
ด้านนอกอาคารในส่วนบนประดับสายพวงมาลัยรูปปั้นไว้รอบ ชั้นหลังคาซ้อนกันหลายชั้น แต่ละชั้นลดหลั่นกันถึง 7 ชั้น ขึ้นไปหาเรือนยอด ชั้นบนสุดประดับด้วยฉัตรทองคำ ตรงส่วนนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของวัดพม่าเลยนะคะ ในการทำหลังคาซ้อนกันหลายชั้น ตัวพระวิหารมีมุขบันไดทางขึ้น 2 ทาง
ทั้ง 2 มุขมีลวดลายแกะสลักลงรักปิดทองเป็นภาพตุ๊กตาพม่าสลับบนลายเครือเถา หน้าบันไดเป็นลายดอกไม้ ประดับกระจกสี ส่วนบนเพดานวิหารแต่ละช่องประดับด้วยตุ๊กตาและแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ และเทวดา ซึ่งได้รับการยกย่องว่างดงามประณีตวิจิตรมาก
นอกจากรูปแบบการก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่าแล้ว พระประธานที่ประดิษฐานไว้ตรงวิหารนี้ ก็เป็นพระพุทธรูปพม่าปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ พระนลาฏต่ำ พระพักตร์แบน พระขนงโก่ง พระนาสิกเป็นสัน พระโอษฐ์อมยิ้ม พระหนุกลม พระกรรณยาวและโค้งเล็กน้อยจรดพระอังสา พระเกศามีเม็ดพระศกละเอียด ไรพระศกเป็นแถบกว้าง ห่มจีวรแบบคลุม พระประธานวัดพม่าในลำปางส่วนใหญ่แกะสลักจากไม้สักทั้งต้นและปิดทอง แต่ใช่ว่าพระพุทธรูปพม่าจะต้องแกะสลักจากไม้เท่านั้นบางองค์ก็สลักจากหินอ่อน ถ้าเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่มากก็ใช้วิธีสร้างแบบก่ออิฐถือปูนเช่นเดียวกับพระพุทธรูปไทย
ในส่วนของพระอุโบสถของวัดนั้นมีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้น ทางเข้าสู่พระอุโบสถทำเป็นซุ้มประตู ก่ออิฐถือปูนหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ลักษณะของพระอุโบสถมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมและมีจตุรมุขหลังคาซ้อนกัน 7 ชั้น ส่วนยอดประดับฉัตรทอง เชิงชายของหลังคาแต่ละชั้นตกแต่งด้วยลวดลายฉลุโลหะ ในส่วนของมุขทั้ง 4 ก็ทำหลังคาซ้อนกัน 5 ชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปแบบพม่า
สำหรับพระธาตุเจดีย์ก็เป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐถือปูนแบบพม่า รอบคอระฆังมีลวดลายปูนปั้นภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2449 ซึ่งความแตกต่างของเจดีย์พม่ากับเจดีย์ของไทยคือเจดีย์พม่าจะไม่มีบัลลังก์ ทำให้ลักษณะส่วนบนตั้งแต่องค์ระฆังไปจนถึงยอดฉัตรเป็นแบบเรียวสูง และยาวกว่าเจดีย์แบบไทย
จะเห็นได้ว่าวัดพม่ามีความวิจิตรงดงามของสถาปัตยกรรมซึ่งควรค่าแก่การมาเยี่ยมชมเป็นอย่างมาก และนอกจากวัดศรีชุมแล้ว จ.ลำปางก็ยังมี วัดศรีรองเมือง ซึ่งหากใครเคยดูละครเรื่อง รากนครา แล้วเห็นฉากบ้านเมืองของเจ้าแม้นเมืองซึ่งเป็นนางเอกของเรื่อง ฉากนั้นก็มาถ่ายทำกันที่วัดศรีรองเมืองเนี้ยแหละค่ะ และก็ยังมีวัดพระแก้วดอนเต้า วัดไชยมงคล (จองคา) วัดม่อนจำศีล ซึ่งทุกวัดที่กล่าวมาก็ล้วนเป็นวัดพม่าที่มีสถาปัตยกรรมแบบพม่าที่สวยงามทั้งสิ้นค่ะ ดิฉันจะบอกว่ามาเที่ยว จ.ลำปางคุ้มมากค่ะ นอกจากได้ไหว้พระวัดพระธาตุ เที่ยวชมบรรยากาศของจ.ลำปางแล้ว ถ้าไปเที่ยววัดพม่าก็เหมือนเราได้เที่ยวประเทศพม่ากันเลยทีเดียว ก็ขอเชิญชวนให้ทุกท่านมาเที่ยวจังหวัดลำปางกันเยอะๆ นะคะ
ห้องสมุดศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. ลำปาง เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 8.30 – 16.30 น. ให้บริการยืม-คืน บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า บริการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศ บริการการอ่าน เป็นต้น โดยให้บริการประชาชนทุกคนเลยนะคะ และสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของ มสธ. สามารถสมัครเป็นสมาชิกห้องสมุดได้ฟรีไม่มีค่าธรรมเนียมค่ะ ในส่วนของประชาชนทั่วไปหากต้องการยืมหนังสือก็สามารถสอบถามสมัครเป็นสมาชิกสมทบของห้องสมุดได้ค่ะ
สุดท้ายนี้ก็ขอเชิญชวนทุกท่านแวะมาเที่ยวชมจังหวัดลำปางกันเยอะนะคะ และเที่ยวเสร็จแล้วหากใครสนใจศึกษาต่อกับ มสธ. ก็แวะมาเที่ยวหาเราได้ที่ ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. ลำปาง ค่ะเรายินดีต้อนรับทุกท่านค่ะ
เรียบเรียงโดย:
รุ่งอรุณ คำเป๊กเครือ บรรณารักษ์ ชำนาญการ ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. ลำปาง
โยธิน ครุธพันธ์ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ
ข้อมูลอ้างอิง
- วัดชมภูเวก. (2550). ประวัติวัดชมภูเวก โบราณสถาน. นนทบุรี: ผู้แต่ง.
- พิศาล บุญผูก, และ วีระโชติ ปั้นทอง. (2562). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก. นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
- ส.พลายน้อย. (2555). อมนุษยนิยาย (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: ยิบซี.
- กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2541). ลำปางนครเขลางค์แห่งลุ่มน้ำวัง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.
- มนัสพี เดชะ. (2565,25 มีนาคม). วัดศรีชุมลำปาง. Facebook. จาก https://bit.ly/3yFExCU.
- ศิลปวัฒนธรรม. (2564). ม่านครองเมืองเที่ยวชมศิลปพม่าแห่งนครลำปาง. สืบค้น 21 มิถุนายน 2565 จาก https://www.silpa-mag.com/art/article_35351.