เทคนิคการเพิ่มการมองเห็นและค้นพบผลงานวิจัยด้วยกลยุทธ์ SEO

การเผยแพร่ผลงานวิจัย ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการนำความรู้เผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ช่วยในการแก้ไขปัญหาและเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน ซึ่งมีการนำเสนอในหลากหลายมีรูปแบบ ได้แก่ การนำเสนอในงานประชุมวิชาการ การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ การเผยแพร่ในรูปแบบของหนังสือหรือตำราทางวิชาการ การจัดนิทรรศการ การจัดสัมมนาวิชาการ และการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

การเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านสื่อออนไลน์และเพิ่มการมองเห็นด้วยกลยุทธ์ SEO

การเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารหรือการประชุมวิชาการ อาจยังทำให้สร้างการรับรู้ในผลงานวิจัยได้เฉพาะกลุ่ม ซึ่งนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาและส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Line OA เป็นต้น เพื่อให้สามารถเผยแพร่ผลงานวิจัย บทความวิจัยที่มีคุณค่าและมีประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น รวมถึงผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าถึงงานวิจัยได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทุกที่และทุกเวลาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้วิจัย หน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาให้ได้รับการยอมรับในทางวิชาการ

กลยุทธ์ SEO (Search Engine Optimization)

กระบวนการที่ทำให้เว็บไซต์สามารถถูกค้นพบได้ในอันดับต้น ๆ ในการค้นหาผ่านระบบ Search Engine เช่น Google, Yahoo, Bing เป็นต้น ซึ่งมีหลากหลายวิธี ได้แก่ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงเนื้อหา และเพิ่มลิงค์ที่มีประสิทธิภาพมายังเว็บไซต์ ซึ่งกระบวนการ SEO แบ่งออกเป็น 2 กระบวนการ คือ 1) กระบวนการ Off-Page SEO เป็นการทำให้อันดับเว็บไซต์อยู่ในลำดับที่ดีขึ้น ด้วยการนำปัจจัยภายนอกมาปรับใช้ เช่น การทำ Backlinks เชื่อมกลับมายังเว็บไซต์, การโปรโมทเว็บไซต์ และการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นต้น 2) กระบวนการ On-Page SEO เป็นการปรับแต่งโครงสร้างต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์ และการพัฒนาเนื้อหาของเว็บไซต์ เพื่อให้ Google สามารถเข้าใจได้ง่ายว่าเป็นเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับเรื่องใด ช่วยเพิ่มโอกาสให้เว็บไซต์ถูกค้นพบและถูกจัดอันดับที่หน้าแรก Google มากขึ้น เช่น การปรับแต่ง Meta Tag, การเขียนเนื้อหาภายในเว็บไซต์และปรับแต่งโครงสร้างของเว็บไซต์ เป็นต้น

ข้อดีของการทำ SEO คือ

  1. เพิ่มจำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ได้มากขึ้น
  2. ไม่มีค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์
  3. เข้าถึงผู้ใช้บริการได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
  4. สร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร
  5. เว็บไซต์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

สำหรับการเขียนบทความวิจัยเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ สามารถนำกลยุทธ์ SEO มาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งถือเป็นกระบวนการ On-Page SEO ด้านการพัฒนาเนื้อหาให้มีคุณภาพ และให้สอดคล้องกับระบบอัลกอริทึมหรือระบบการจัดอันดับเว็บไซต์ของ Google โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดคำสำคัญของบทความ การตั้งชื่อเรื่อง การวางโครงสร้างบทความ การลำดับเนื้อหา เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้บทความวิจัยได้รับการมองเห็นมากขึ้นและติดอันดับหน้าแรก Google รวมถึงเพื่อให้สามารถเข้าถึงงานวิจัยได้สะดวกรวดเร็ว ทุกที่และทุกเวลาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยมีกลยุทธ์ดังนี้

  1. ชื่อเรื่อง

องค์ประกอบสำคัญอันดับแรกที่จะดึงดูดใจผู้อ่าน ควรตั้งชื่อเรื่องให้สั้น ใช้คำเฉพาะเจาะจง สื่อความหมายเฉพาะเรื่อง หรือตั้งชื่อเรื่องให้ตรงกับประเด็นของปัญหา ชื่อเรื่องต้องมีคำสำคัญ (Keywords) เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้นของผู้ใช้ผลงานวิจัย โดยนำกลยุทธ์ SEO (Search Engine Optimization) มาประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้บทความวิจัยถูกค้นพบและติดอันดับหน้าแรก Google หรือ Search Engine อื่นๆ

การกำหนดคำสำคัญในชื่อเรื่อง เพื่อวิเคราะห์คำที่คนนิยมใช้ค้นหาใน Google ซึ่งคำสำคัญที่ได้รับความนิยมและมีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บทความวิจัยถูกค้นพบและติดอันดับหน้าแรกได้ง่ายขึ้น การวิเคราะห์คำสำคัญสามารถใช้เครื่องมือ Google Trends (https://trends.google.com/trends/) เป็นเครื่องมือฟรีที่สามารถค้นหาคำสำคัญหรือเรื่องที่คนนิยมค้นหาใน Google ได้อย่าละเอียดแยกเป็นประเทศ ระยะเวลา และหมวดหมู่ได้ เพื่อเป็นตัวช่วยในการเลือกคำสำคัญที่คนนิยมใช้ค้นหามาเป็นแนวทางในการตั้งชื่อเรื่องให้มีความน่าสนใจและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

สำหรับการเขียนชื่อภาษาอังกฤษ ควรให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับชื่อภาษาไทย และต้องระวังการใช้คำศัพท์เฉพาะให้ถูกต้องตามบริบทของการนำมาใช้ในเชิงวิชาการด้วย

  1. ชื่อผู้วิจัย

ระบุชื่อเต็ม นามสกุลเต็ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งระบุหลักสูตร สาขาวิชา หน่วยงานหรือสถาบันที่สังกัด หมายเลขโทรศัพท์/โทรสาร และอีเมลที่สามารถติดต่อได้

  1. บทคัดย่อ

เป็นเนื้อหาสาระส่วนที่นำเสนอที่มาและวัตถุประสงค์การวิจัย วิธีการวิจัย และผลการวิจัยโดยสรุป เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวมงานวิจัยทั้งฉบับ โดยมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควรเขียนให้สั้น กะทัดรัด ถูกต้อง และสมบูรณ์ในตัวเองให้ผู้อ่านเข้าใจได้ โดยไม่ต้องอ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ ควรมีความยาวประมาณ 150-300 คำ และในบทคัดย่อควรกำหนดให้มีคำสำคัญ (Keywords) เพื่อประโยชน์ต่อการสืบค้นของผู้ใช้ผลงานวิจัย และเพื่อทำให้บทความวิจัยถูกค้นพบในติดอันดับหน้าแรก Google

  1. คำสำคัญ

ให้ระบุคำสำคัญ ซึ่งมักจะมาจากชื่อเรื่องและวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อนำไปใช้เป็นคำค้น โดยระบุทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษใส่ท้ายบทคัดย่อ ประมาณ 3-5 คำ

  1. บทนำ/ส่วนนำ

อธิบายถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย ที่นำไปสู่การศึกษาวิจัย มีการร้อยเรียงเนื้อหาอย่างเชื่อมโยง การเขียนควรให้ได้ข้อความที่สะท้อนถึงการลื่นไหลของความคิด แนวทางที่น่าสนใจ คือ เน้นการเขียน จาก สภาพปัญหาหรือสภาพปัจจุบัน เชื่อมโยงสู่อุดมการณ์ ทฤษฎี หรือหลักการนั้นๆ ส่งทอดสู่ประเด็นที่ต้องการศึกษา หรือคำถามวิจัย สิ่งสำคัญในการศึกษาจะต้องระบุแหล่งอ้างอิงหรือแหล่งที่มาของความรู้ที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้

  1. วัตถุประสงค์การวิจัย

เป็นการบอกจุดมุ่งหมายที่นักวิจัยต้องการค้นคว้าหาคำตอบตามปัญหาการวิจัย โดยเขียนในรูปประโยคบอกเล่า และอาจเขียนแยกเป็นข้อๆ ตามลำดับความสำคัญ

  1. สมมุติฐานการวิจัย (ถ้ามี)

เป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาการวิจัย ซึ่งได้จากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องหรือจากการสำรวจเบื้องต้น

  1. วิธีดำเนินการวิจัย

อธิบายขั้นตอนการวิจัยด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย โดยกล่าวถึงวิธีการวิจัยใน 3 ประเด็น 1) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา การกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างและวิธีการสุ่มตัวอย่าง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล 3) การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ เป็นการบอกแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนเทคนิคทางสถิติที่เลือกใช้ควรสอดคล้อง กับวัตถุประสงค์การวิจัย

  1. ผลการวิจัย

อธิบายถึงสิ่งที่ได้จากศึกษาหรือวิจัย ผลที่ได้จากวิเคราะห์ข้อมูล และการแสดงผลการทดสอบสมมติฐาน ซึ่งควรยึดวัตถุประสงค์ และสมมุติฐานของการวิจัยเป็นหลัก พร้อมกับนำเสนอหลักฐานข้อมูลอย่างเป็นระเบียบและเข้าใจง่าย เช่น ตาราง และแผนภูมิ

  1. สรุปผลและอภิปรายผล

เป็นการสรุปเนื้อหาในงานวิจัยทั้งหมด โดยไม่ควรซ้ำซ้อนกับผลการวิจัย และถอดความหมายจากผลการทดลองหรือข้อมูลที่ได้มาจากการวิเคราะห์ พร้อมกับอธิบายขยายความผลการวิจัยที่ได้ว่าสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับกรอบแนวคิดและสมมุติฐานการวิจัยหรือไม่อย่างไร

  1. ข้อเสนอแนะ

เป็นการเขียนข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย ประกอบด้วยข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้ในทางปฏิบัติหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะในการวิจัยต่อไป

  1. เอกสารอ้างอิง/ภาคผนวก

ส่วนอ้างอิง ประกอบด้วยบรรณานุกรมและเชิงอรรถ ด้านภาคผนวก ส่วนที่ผู้วิจัยนำเสนอสาระที่ผู้อ่านควรได้รับรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่นำเสนอในบทความ เช่น ตัวอย่างเครื่องมือวิจัย เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

รัชกร คงเจริญ. (2566). กลยุทธ์การพัฒนาบทความออนไลน์ให้สอดคล้องกับกระบวนการ SEO เพื่อให้ติดอันดับหน้าแรก Google: กรณีศึกษาการส่งเสริมการรับรู้สารสนเทศอัตลักษณ์ มสธ. PULINET Journal, ปีที่ 10 (1), หน้า 28-44. https://pulinet.oas.psu.ac.th/index.php/journal/article/view/549/420

พรชนก ทองลาด. (2561). การเขียนบทความวิจัยเพื่อเผยแพร่ผลงาน…ทำได้อย่างไร?. วารสารปัญญาภิวัฒน์, ปีที่ 10 ฉบับพิเศษ, หน้า 279-291.