โลกปัจจุบันกำลังเคลื่อนสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร และประเทศไทยก็เคลื่อนตามการเปลี่ยนแปลงนั้น โดยประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่สัดส่วนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่ขับเคลื่อนให้กลุ่มคนสองวัยที่มีมุมมองความคิดเห็นต่างกันจนกลายเป็นช่องว่าง หรือที่เรามักได้ยินคุ้นหูว่า “ช่องว่างระหว่างวัย” อาจนำไปสู่การปฎิบัติกีดกันคนบางกลุ่มวัยหรือเรียกว่า “วยาคติ” หมายถึง อคติจากความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ที่คิดและปฏิบัติกับกลุ่มคนต่างวัย จนกลายเป็นสำนวนที่ว่า “ไดโนเสาร์ เต่าล้านปี VS ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม”
กะเทาะเปลือกแนวคิดและแนวปฏิบัติ ” การเรียนรู้ ร่วมกันระหว่างวัย : ผู้สูงอายุ และ เด็กหรือเยาวชน” แต่งโดย ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล ผู้เขียนได้ศึกษา และวิจัยเพื่อลดปัญหาการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนสองวัยที่มีความคิดและการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยการนำเสนอการเรียนรู้ระหว่างวัย ผู้สูงอายุ และเด็กหรือเยาวชน เนื้อหาของหนังสือ ประกอบไปด้วย ปฐมบทว่าด้วย วยาคติ ; การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัย คืออะไร ; เมื่อการพร่ำสอนจริยธรรมหน้าห้องเรียนไม่ได้ผลอีกต่อไป ; ขับเคลื่อนสังคมด้วยมุมมองคนต่างวัย ; ปัจฉิมบท: ก้าวต่อไปของการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ และเด็กหรือเยาวชน และผู้เขียนยังนำเสนอโมเดล 5 A’s ซึ่งเป็นองค์กระกอบพื้นฐานสำหรับการอยู่ร่วมกันระหว่างวัย ดังนี้
1. สร้างความคุ้นเคยกับผู้เข้าร่วม (Acquainted)
2. อย่าปล่อยให้มีใครที่รู้สึกโดดเดี่ยว (Avoid isolation)
3. หลีกเลี่ยงการเหมารวม (Avoid stereotype)
4. เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมมีอำนาจในการตัดสินใจ (Afford power)
5. ศิลปะและดนตรี (Arts and Music)
โดยหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคนทุกกล่มเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน การทำงาน การศึกษา รวมถึงสถาบันการศึกษาต้องเตรียมรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ และเด็กหรือเยาวชน
หากสนใจหนังสือ ตรวจสอบสถานะ และยืมได้ที่ห้องสมุด มสธ. ค่ะ