การศึกษาในต่างประเทศของพระองค์เป็นอย่างไร ทำไมถึงทรงได้รับการขนานนามว่า “สุภาพบุรุษอีตัน” นักเรียนชาวสยามคนแรกของวิทยาลัยชายล้วนที่ดีที่สุดในโลก และจริงหรือไม่ ? ที่โรงเรียนแห่งนี้มีความคล้ายกับโรงเรียนฮอกวอร์ดในภาพยนตร์แฮรี่ พอตเตอร์
ในเดือนพฤศจิกายน มีวันสำคัญของชาติ คือ วันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นแบบอย่างการเรียนรู้ตลอดชีวิต
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาได้ 6 พรรษา ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม หรือที่เรียกว่า “คะเด็ดสกูล” ซึ่งต่อมาในปัจจุบัน คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้พอสมควร และผ่านพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ได้รับการเฉลิมพระยศเป็น “กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา” แล้ว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 12 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2449 โดยเสด็จฯ ไปประทับที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 4 เดือน ทรงศึกษาวิชา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และภาษาละติน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการศึกษา จากนั้นได้เสด็จไปยังประเทศอังกฤษ โดยประทับอยู่กับครอบครัวของนายเบลล์ (Mr. C.W. Bell) เป็นเวลากว่า 1 ปี ซึ่งในยุคสมัยนั้นนิยมส่งนักเรียนไทยไปพำนักอยู่กับครอบครัวชาวอังกฤษ เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับการใช้ภาษา วิถีชีวิต และมีความรู้พอที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนได้
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2450 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ทรงสอบเข้าศึกษาในวิทยาลัยอีตัน โรงเรียนประจำระดับมัธยม ซึ่งเป็นที่นิยมของ “ผู้มีตระกูล” ถือเป็นโรงเรียนชายล้วนที่ดีที่สุดในโลกที่มีชื่อเสียงเก่าแก่แห่งหนึ่งของอังกฤษ
วิทยาลัยอีตัน (Eton College ) โรงเรียนชายล้วนที่ดีที่สุดในโลก
วิทยาลัยอีตันก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1440 โดยกษัตริย์เฮนรี่ที่ 6 แห่งอังกฤษ นับถึงปัจจุบันก่อตั้งมาแล้วเกือบ 600 ปี โรงเรียนตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังวินด์เซอร์ที่ประทับของพระราชวงศ์อังกฤษ อีตันเป็นโรงเรียนหลวงของอังกฤษที่ไม่ใช่ของรัฐบาลแต่เป็นเอกชน ที่ได้รับการยอมรับจากประมุขและกลุ่มคนชั้นสูงทั่วโลก ภาพบรรยากาศในโรงเรียนมีความคล้ายคลึงโรงเรียนฮอกวอตในภาพยนตร์เรื่องแฮรรี่พอตเตอร์ ทั้งเครื่องแบบนักเรียนที่เป็นเอกลักษณ์ บรรยากาศการนั่งรับประทานอาหารร่วมกันในโถงใหญ่ และที่สำคัญนักเรียนทุกคนจะอยู่ร่วมกันใน “บ้าน” ซึ่งปัจจุบันมีถึง 25 บ้านในโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อให้ได้เรียนรู้ ปรับตัว และใช้เวลาอยู่ด้วย โดยจะมีครูผู้ดูแลความเรียบร้อยอยู่ประจำแต่ละบ้านด้วย จุดเด่นของวิทยาลัยอีตัน คือ เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ คู่กับให้การศึกษาแบบรอบด้านทั้งกีฬา ดนตรี และการละคร ซึ่งนอกจากการเรียนการสอนที่มีคุณภาพแล้ว ที่นี้่ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของมารยาท ทั้งด้านบุคลิกภาพ การเข้าสังคม และความเป็นสุภาพบุรุษ ทำให้นักเรียนอีตันได้รับการขนานนามว่า “นักเรียนที่ดูดีที่สุด” คือ เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความรู้รอบตัว และมีบุคลิกภาพดี
ศิษย์เก่าของโรงเรียนอีตันแห่งนี้ ล้วนเป็นบุคคลสำคัญ และบุคคลมีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ และเจ้าชายแฮรี่แห่งเวลส์ ของราชวงศ์อังกฤษ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ 18 คน ทอม ฮิดเดิลสตัน (Tom Hiddleston) นักแสดงชื่อดังชาวอังกฤษ และ เอ็ดดี้ เรดเมย์น (Eddie Redmayne) นักแสดงชาวอังกฤษผู้โด่งดัง สำหรับประเทศไทย นอกจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นศิษย์เก่าอีตันแล้ว ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย คือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ หลายชายคุณอภิสิทธิ์
รัชกาลที่ 7 นักเรียนชาวสยามคนแรกของวิทยาลัยอีตัน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงศึกษา ณ วิทยาลัยอีตัน พระองค์ทรงเข้าเรียนที่วิทยาลัยแห่งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2451 ทรงเป็นนักเรียนประจำบ้านที่มีนายแฮร์ (Mr. J.H.M. Hare) เป็นครูผู้ดูแล วิชาที่ทรงเรียน ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส ละติน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน และดนตรี (ไวโอลิน) โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เป็นวิชาที่ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ทรงมีพื้นฐานภาษาฝรั่งเศสดีอยู่แล้ว จึงเป็นวิชาที่ทรงทำคะแนนได้ดีมาก และทรงศึกษาวิชาการควบคู่ไปกับทำกิจกรรมทั้งกีฬา ดนตรี ทรงหัดว่ายน้ำและโปรดการเล่นกรรเชียงเรือ ทรงเป็นนายท้ายเรือในทีม “Novice Eights” ในการแข่งขันของนักเรียนรุ่นเยาว์ รวมถึงกีฬาอื่นๆ ทั้งคริกเก็ต (Cricket) และสควอช ซึ่งเป็นกีฬาที่ทรงรับสั่งว่า “เล่นเดี๋ยวเดียวก็ได้เหงื่อ”
ชีวิตนักเรียนใน “public school” ของอังกฤษ ในยุคสมัยนั้น เด็กเล็กจะต้องรับใช้รุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้า เพื่อฝึกหัดให้รู้จักปกครองเป็นลำดับชั้นที่มีวินัยเคร่งครัด รู้จักปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น และการส่งเสริมให้เล่นกีฬาเป็นทีม เพื่อให้รู้จักการเล่นตามกติกา “รู้แพ้ รู้ชนะ” เป็นส่วนสำคัญในการปลูกฝังพื้นฐานการอยู่ร่วมกันในสังคมแบบประชาธิปไตย และแม้พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายจากสยาม แต่ที่นี่ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกันกับนักเรียนคนอื่น ๆ กล่าวได้ว่าในระยะเวลาที่เรียนในวิทยาลัยอีตันนับเป็นเวลาสำคัญของการหล่อหลอมเจ้าฟ้าชายจากสยาม ซึ่งทรงครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีในเวลาต่อมา
แม้ทรงจบการศึกษาแล้ว ยังคงมีสายสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับวิทยาลัยอีตันอย่างเด่นชัดในฐานะศิษย์เก่า เมื่อ พ.ศ. 2471 พระราชทานพระราชทรัพย์ 2,๐๐๐ ปอนด์ ในการปรับปรุงพื้นที่ของวิทยาลัย และจัดสรรพื้นที่บริเวณหนึ่งให้เป็นอนุสรณ์ถวายพระเกียรติยศ ชื่อว่า King of Siam’s Garden หรือ สวนแห่งกษัตริย์สยาม
ทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารวุลลิช
หลังจากทรงจบการศึกษาที่วิทยาลัยอีตันแล้ว เมื่อพระชนมพรรษาได้ 18 พรรษา ทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยวุลลิช (Royal Military Academy, Woolwich) ประเทศอังกฤษ ในแผนกทหารปืนใหญ่ม้า ทรงเป็นนักศึกษาหมายเลขทะเบียน 8663 วิชาที่พระองค์ทรงศึกษา ได้แก่ ปืนใหญ่ ช่างกลศึก การฝึกทหารราบ ภาษาฝรั่งเศส กายกรรม กฎหมายทหาร ขี่ม้า พงศาวดารและอุบายทหาร แผนกปกครองทหาร สุขาภิบาล เลข ไฟฟ้า กลศึกช่างและทำแผนที่ เครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งทรงเอาพระทัยใส่การศึกษาอย่างดี ทำให้ผลการศึกษาเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก ทรงศึกษาที่วุลลิซเป็นเวลา 2 ปี ทรงสำเร็จการศึกษา ใน พ.ศ. 2456 และได้เสด็จเข้าประจำการในกรมทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษ ณ เมืองอัลเดอร์ชอต (Aldershot) ดำรงพระยศนายร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพอังกฤษ สังกัด “แอล” เบตเตอรี โรยัล เฮ้าส์ อาติเลอรี (“L” Battery Royal House Artillery) ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเหมือนกับทหารอังกฤษ จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2457 ต้องเสด็จกลับประเทศไทย เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นในยุโรป ทำให้แผนการศึกษาต่อวิชาการทหารชั้นสูงที่ทรงวางไว้ต้องหยุดชะงักลง
ทรงศึกษาวิชาเสนาธิการทหารฝรั่งเศส
ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 – 2467 หลังจากทรงผนวช และทรงอภิเษกสมรสแล้ว พระองค์ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารชั้นสูงตามแผนเดิมอีกครั้ง ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเอโคล เดอแกร์ (the Ecole de Guerre) ซึ่งเป็นสถาบันทางการทหารที่เก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2419 การศึกษาในครั้งนี้ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยช่วง 14 เดือนก่อนการเข้าเรียน พระองค์ได้เสด็จประจำการในกองทหารเหล่าต่าง ๆ ของกองทัพฝรั่งเศส เพื่อเพิ่มพูนความรู้วิชาการทหารก่อนเข้าศึกษาในหลักสูตรทหารเสนาธิการ ทรงเป็นนักเรียนในรุ่นที่ 44 รุ่นเดียวกับชาร์เดอ โกล อดีตประธานาธบดีของเศล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนายทหารไทยพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร ผลการเรียนของพระองค์ ถือว่าอยู่ในระดับดีถึงดีมาก และทำคะแนนได้ดีที่สุดในวิชาการ ”วางแผนกลยุทธ์” โดยอาจารย์ผู้ถวายการสอนได้ความเห็นดังนี้ “ทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความรู้ดี ความคิดสุขุมและเปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังผลการเรียน…ถือได้ว่าเป็นชาวสยามที่ปรับตัวได้ดี”
เสด็จนิวัตสยาม
เมื่อสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัตสยามใน พ.ศ.2467 ทรงกลับเข้าปฏิบัติราชการในตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบก พระยศพันเอก ทรงรับผิดชอบวางแผนนโยบายการจัดการทหารบก อำนวยการศึกษาแก่ทหารในระดับต่างๆ เช่น ผลิตตำรา และแผนที่ทหาร ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 และผู้บังคับการพิเศษกรมทหารบกปืนใหญ่ที่ 2 ตามลำดับ เป็นตำแหน่งสูงสุดก่อนขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468
เรียบเรียงโดย
รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ
รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่
Facebook: https://fb.watch/olQjHs4NYM
YouTube: https://youtu.be/fTsdIAbgmCk
Spotify: https://spotify.link/Om7KJG5uWDb
SoundCloud: https://on.soundcloud.com/qnrrA